กลายเป็นกระแสใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อมีการจุดประเด็นคดี “คุณแตงโม-นิดา” อดีตดาราสาวชื่อดังที่ประสบอุบัติเหตุ พลัดตกเรือ แล้วจมน้ำเสียชีวิต ในสภาพที่มีบาดแผลปริศนา เป็นแผลบาดขนาดใหญ่ที่ต้นขาด้านขวา
คดีนี้มีผู้ต้องหารวม 6 คน โดย 2 จาก 6 คน ให้การรับสารภาพไปแล้ว นั่นคือ “ปอ” เจ้าของเรือ และ “โรเบิร์ต” คนขับเรือ จนทำให้เกิดอุบัติเหตุ ศาลมีคำพิพากษาลงโทษ แต่ให้รอลงอาญาไว้ก่อน
ส่วน “แซน-กระติก” และพวกอีก 2 คน ให้การปฏิเสธ และขอต่อสู้ในคดีร่วมกันประมาท โดยคาดว่า คำพิพากษาในคดีนี้ จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 2568 หรืออีกราวๆ 2-3 เดือนข้างหน้านี้
ล่าสุดคดีนี้ มีการหยิบยกประเด็นคำพิพากษาศาลแพ่ง ในคดี “หมิ่นประมาท” ระหว่าง ชุดตำรวจที่ทำคดี กับ อินฟลูเอนเซอร์ท่านหนึ่ง พร้อมนำถ้อยคำในคำพิพากษามาขยายความ ในทำนองว่า คดีนี้ศาลท่านเชื่อว่า “แตงโม” ไม่ได้นั่งปัสสาวะท้ายเรือและบาดแผลที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากใบพัดเรือ
มีการเรียกร้องให้อัยการสูงสุด “รื้อฟื้นคดี” พร้อมนำพยานหลักฐานใหม่ บางส่วนจากคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาท มารื้อฟื้นคดี และแก้คำฟ้องใหม่ กับผู้อยู่บนเรือทั้งหมด ไม่ใช่ดำเนินคดีในฐาน “ร่วมกันประมาท” แต่ให้ดำเนินคดีในข้อหา “ร่วมกันฆ่าอำพราง”
หากพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น นั่นคือ ในปัจจุบัน มีความพยายามนำ “คำพิพากษาในคดีหนึ่ง” มาขยายความเชื่อมโยงกับ “คดีที่กำลังมีคำพิพากษา” เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2568
ต้องบอกว่า แนวทางกฎหมาย บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ในการพิพากษาคดีอาญาหาได้มีบทบัญญัติของกฎหมาย ให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในคดีอื่นดังเช่นที่บัญญัติไว้
แม้พยานหลักฐานของจำเลย จะเป็นชุดเดียวกันกับจำเลยเคยอ้างและนำสืบในคดีอาญาก่อนมาแล้วก็ตาม เพราะใน “คดีอาญา” ศาลจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง
และจะไม่พิพากษาลงโทษ จนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5677/2555
นอกจากนี้ คดีอาญามิได้มีบทกฎหมายใด บัญญัติบังคับให้ศาลที่พิพากษาคดีต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลในคดีอาญาอีกเรื่องหนึ่งได้ชี้ขาดไว้มาเป็นหลักในการวินิจฉัย แม้คดีทั้งสองนั้นจะมีมูลกรณีเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกัน ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2320/2523
นี่คือ “หลักการ” ในการพิจารณาคดีของศาลที่เป็นแนวทางปฏิบัติกันมา ไม่สามารถนำคำพิพากษาคดีหนึ่ง เพื่อมาเชื่อมโยงการพิจารณาอีกคดีหนึ่งได้
ดังนั้น ปรากฎการณ์ผ่านสื่อที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ อาจมองได้เหมือนกัน ว่านี่อาจเป็น “ทฤษฎีสมคมคิด” ที่มีจุดประสงค์แอบแฝง อาทิ การพรางเป้าเรื่องหนึ่ง เพื่อเป้าหมายใหญ่กว่าเรื่องหนึ่ง หรือเบี่ยงเบนประเด็นอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
เพราะ “นักกฎหมาย” ตลอดจน “นักวิชาการ” ทั้งหลาย ย่อมทราบดีถึงผลแห่งคำพิพากษาคดีหนึ่ง ย่อมไม่มีผลกับ “อีกคดีหนึ่ง”
แต่กลับมีความพยายาม ที่จะทำให้การเสียชีวิตของ “ดาราสาว” ท่านนี้ กลายเป็นเรื่องเดียวกันขึ้นมา
ขณะที่ “ทฤษฎีสมคมคิด” ตามที่เอ่ยไว้ข้างต้น ก็มีปล่อยมาเป็นระยะ อาทิ
- ดีลลับ ที่พาดาราสาวไปหาคนใหญ่คนโตในบ้านเมือง แลกกับการพา “คนแดนไกล” กลับบ้าน ในช่วงวันเกิดเหตุ วันที่ 24 ก.พ.2565
- เชื่อว่ามีการฆาตกรรมดาราสาว หลังจากพาไปสถานที่ลับแห่งหนึ่งบนบก แล้วตกลงกันไม่ได้ เลยมีการฆ่าปิดปาก แล้วโยนศพลงน้ำ
นี่คือ ข่าวลือ ข่าวปล่อย ตามทฤษฎีสมคมคิด ที่เคยออกมา
แต่มาถึงวันนี้ มีความพยายามดังกล่าวกลับมาอีกครั้ง ท่ามกลางกระแสข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ได้แก่
1.การสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐ เอื้อประโยชน์ให้กับชายชั้น 14 นักโทษเทวดา ที่ไม่เคยต้องโทษในเรือนจำแม้แต่วันเดียว
2.การปลุกม็อบ ยกเลิกเอ็มโอยู 44 พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่าง ไทย-กัมพูชา
3.ความพยายามในการร้องศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องชายชั้น 14 และนโยบายแจกเงินหมื่นของรัฐบาล เป็นต้น
เมื่อถึงวันนี้ การอาศัยข่าวการเสียชีวิตของ “ดาราสาว” ในการยึดพื้นที่สื่อ โดยคนกลุ่มหนึ่ง ที่มีความขัดแย้งฝังลึกกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อหวังผลบางอย่างที่จะตามมา
จึงคงไม่เกินเลยไปมากนัก ที่จะบอกว่า “คุณแตงโม” ต้องตายแล้วตายอีกผ่านหน้าจอสื่อ เพื่อสังเวยประโยชน์ จุดประสงค์บางอย่าง ให้กับคนบางกลุ่มนั่นเอง
……….
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม