วันจันทร์, มีนาคม 31, 2025
หน้าแรกEXCLUSIVEเคลื่อนไหวรณรงค์ยกเลิก“เอ็มโอยู 44” อย่านำ“อธิปไตยชาติ”มาเสี่ยง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เคลื่อนไหวรณรงค์ยกเลิก“เอ็มโอยู 44” อย่านำ“อธิปไตยชาติ”มาเสี่ยง

มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจ โดยหยิบยกเรื่องปัญหาระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน คือ กัมพูชา นำมา รณรงค์ให้รัฐบาลยกเลิก “บันทึกความเข้าใจ พ.ศ.2544” หรือที่เรียกว่า “เอ็มโอยู 44” (MOU 44)

เหตุใดถึงต้อง รณรงค์ยกเลิก “เอ็มโอยู 44” ในช่วงจังหวะเวลานี้ หรือถ้ายกเลิกแล้ว ไทยมีกลไกใด ที่จะมาใช้แทน “เอ็มโอยู 44” จึงถือเป็นเรื่องที่ประชาชน จำเป็นต้องรู้เท่าทันเป็นอย่างยิ่ง

“อังกูล กุลวานิช” รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมหน่วยงานความมั่นคง ให้ข้อมูลกับ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ทำให้เห็นความสำคัญ และความจำเป็นของ “เอ็มโอยู 44” ที่ประเทศไทย จำเป็นต้องมีไว้ต่อรอง รับมือเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองระหว่างประเทศ กับเพื่อนบ้าน อย่างสำคัญยิ่ง

ประเด็นแรก คำว่า “MOU 2544” ชื่อเต็มคือ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องของการแบ่งเขตไหล่ทวีป การอ้างสิทธิในไหล่ทวีปที่ทับซ้อนกันระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา

ส่วนคำว่า “พื้นที่ทับช้อน” เป็นอีกคำหนึ่งที่มักจะใช้คุ้นหูหรือได้ยินคุ้นหู ขอเรียนอีกครั้งหนึ่งว่า “ไม่มีคำว่าพื้นที่ทับซ้อน” อยากให้ปรับความเข้าใจในเรื่องของการใช้ถ้อยคำ คือ พื้นที่ในเรื่องของการสิทธิในไหล่ทวีปที่ทับช้อนกันหรือเหลื่อมล้ำกัน

คำว่า “ทับซ้อน” หรือ “เหลื่อมล้ำ” มาจากคำว่า Overlapping และจะเหลื่อมล้ำกันได้อย่างไร จึงเป็นที่มาที่ไป แต่จริงๆ แล้วไทยกับกัมพูชามีการเจรจาหารือกันในเรื่องของการแบ่งเขตทางทะเล

คำใหม่ ใช้คำว่า “แบ่งเขตทางทะเล” เมื่อ พ.ศ.2533 ได้พยายามโน้มน้าว พยายามหารือกัมพูชามาโดยตลอดเพื่อให้มีการเจรจาแบ่งเขตทางทะเลกับไทย

ส่วนสาเหตุที่ต้องเจรจาเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล เพราะเมื่อใดที่ประเทศ 2 ประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ชิดติดกัน หรือศัพท์ทางกฎหมายเรียกว่า “ประชิดติดกัน” เป็นเพื่อนบ้านกัน ถ้ามีความชัดเจนในเรื่องลักษณะที่มีบ้านติดกัน แต่ยังไม่มีรั้วที่ชัดเจน

ฉันใดฉันนั้น ไทย-กัมพูชา…เช่นเดียวกัน การแบ่งเขตทางทะเลที่ชัดเจนจะนำไปสู่เรื่องการอ้างความเป็นเจ้าของ อะไรที่ร่วมกันในการใช้ประโยชน์ รวมไปถึงเขตทางทะเลเช่นกัน

แต่ ฝ่ายกัมพูชา เอง กลับไม่อยากจะเจรจา หารือในเรื่องของการแบ่งเขตทางทะเล มุ่งเน้นเพียงอย่างเดียว คือ อยากจะคุยเรื่องของผลประโยชน์ ในขณะที่ยังไม่มีความชัดเจนหรือจะมีประเด็นใดเป็นตัวกำหนดได้ว่า “สิ่งนี้” ควรจะเป็นของใคร ซึ่งจะเห็นว่าแบ่งกันไม่ได้

ต่อมา พ.ศ.2515 กัมพูชามีพระราชกฤษฎีกาประกาศเรื่องเขตไหล่ทวีป ขณะที่ในความคิดเห็นของไทย มองว่าบนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างและประกาศออกมานั้น เชื่อว่าไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

ในพ.ศ.2516 ประเทศไทยได้มีการประกาศเขตไหล่ทวีปของไทยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ประกาศบนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เชื่อว่าถูกต้อง แต่ทางกัมพูชาบอกว่า ของเราไม่ถูกต้อง และไทยก็ยืนยันว่า ของกัมพูชาไม่ถูกต้อง

เมื่อต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิไหล่ทวีป กัมพูชาอ้างอย่างหนึ่ง-ไทยอ้างอย่างหนึ่ง ไม่ยอมรับกันทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นพอมีการอ้างสิทธิไม่ตรงกัน ความเห็นไม่ตรงกัน จะทำอย่างไร จึงต้องมีการเจรจาหารือ

จึงเป็นที่มาของการทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการอ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อน ระหว่างไทยกับกัมพูชา เป็นที่มาของ บันทึกความเข้าใจ พ.ศ.2544 หรือ “เอ็มโอยู 44” โดยบันทึกความเข้าใจดังกล่าว เป็นเพียงกรอบการเจรจาและกลไกการเจรจา

ขีดเส้นใต้ไว้อีกบรรทัดคือ บันทึกความเข้าใจ พ.ศ.2544 มิได้เป็นการยอมรับเส้นอ้างสิทธิไหล่ทวีปของกัมพูชา และกัมพูชามิได้ยอมรับเส้นอ้างสิทธิไหล่ทวีปของไทย และเส้นอ้างสิทธิไหล่ทวีป “มิใช่เส้นเขตแดนทางทะเล” อย่างที่ทุกคนเข้าใจ หรือทุกคนนำไปพูดกัน

หากไม่มี “เอ็มโอยู 44” กัมพูชาอาจจะบอกว่า ไม่มีความจำเป็น ต้องพูดคุยหารือ แต่เมื่อมีการออกพระราชกฤษฎีกา ประกาศใช้บันทึกนี้ จึงเป็นกรอบที่อย่างน้อย ทำให้ “กัมพูชาและไทย” ยังต้องมาพูดคุย หารือกันกันบนพื้นฐานของหลัก “กฎหมายระหว่างประเทศ”

การพูดคุยหารือกันบนกลไก ที่บันทึกความเข้าใจ พ.ศ.2544 กำหนดให้มีขึ้น คือ คณะกรรมการร่วมทางเทคนิค หรือ Joint Technical Committee หรือ JTC

ในการแต่งตั้ง คณะรัฐมนตรีต้องให้ความเห็นชอบ และทุกครั้งเวลาคณะทำงานกรรมการเทคนิคร่วม จะไปเจรจาหารือกับฝ่ายกัมพูชา ต้องขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติก่อน

และทุกครั้งเวลากลับมาจากการพูดคุยหารืออะไรกับอีกฝ่ายได้หรือไม่ได้ ตกลงหรือไม่ตกลง ต้องมารายงานคณะรัฐมนตรีทราบ และบันทึกความเข้าใจ พ.ศ.2544 เป็นเพียง Agreement to Negotiate ไม่ได้เป็นความตกลงที่ไปยอมรับอะไรทั้งสิ้น

ส่วน ประเด็นที่สอง แผนผังแนบท้ายที่มีเส้นไปรับมาได้อย่างไร มีแผนผังเป็นแผนที่เท่ากับรับเส้นของกัมพูชาแล้วใช่หรือไม่

แผนผังเป็นเพียงแค่การแจ้งระบุให้ทราบว่าสิ่งที่อ้าง เป็นเพียงแค่การประกอบในการนำไปเจรจรจาหารือ มิได้เป็นการยอมรับเส้นดังกล่าวเป็นเส้นเขตทางทะเล มิได้เป็นการยอมรับว่าเส้นดังกล่าวเป็นเส้นไหล่ทวีปที่ไทยยอมรับ ไทยไม่ได้ยอมรับ กัมพูชาไม่ได้ยอมรับเช่นกัน

เรื่องนี้มีมาตั้งแต่ 50 กว่าปีแล้ว ที่ไทยกับกัมพูชาพยายามคุยกันซึ่งยังไม่จบ อยู่ในขั้นตอนเจรจาหารือกัน ดังนั้น “เอ็มโอยู 44” เป็นเพียงเครื่องมือประการหนึ่ง

สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจ พ.ศ.2544 เป็นเพียงแค่กรอบการเจรจา เป็นกลไกการเจรจา ยังไม่ได้ตกลงอะไรกัน เป็น Agreement to Negotiate เป็นกลไกบอกว่าต้องมาคุยกัน จะคุยกันว่าอย่างไรประเด็นผลยังไม่ออกมา

ต้องพูดคุยทั้งเรื่อง 1.เขตทางทะเล และ 2.เรื่องพื้นที่ที่จะไปพัฒนาร่วม ไปพร้อมกัน

ไม่ได้คุยเรื่องแบ่งผลประโยชน์ แต่ใช้คำว่า พูดคุยเรื่องพื้นที่ ที่จะพัฒนาร่วมกันอย่างไร เพราะจะไม่สามารถกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมได้ ถ้าไม่มีการพูดคุยเรื่องเขตทางทะเลที่ชัดเจน

ดังนั้น MOU พ.ศ.2544 หรือ บันทึกความเข้าใจ พ.ศ.2544 ทั้ง 2 เรื่องจะต้องเจรจาหารือไปพร้อมกัน โดยมิอาจแบ่งแยกได้ ทั้งเส้นเขตทางทะเล เส้นไหล่ทวีป ไม่ว่าทางกัมพูชาจะขีดเส้นอย่างไร ไทยต้องพยายามทำให้สิ่งที่กัมพูชากล่าวอ้างหมดน้ำหนักไป ด้วยการเจรจา ใช้หลักกฎหมายระหว่างประเทศ

ประเด็นที่สาม เมื่อดำเนินการแล้ว ต่อไปหลักการสำคัญที่คณะกรรมการเทคนิคร่วมหรือการเจรจาหารือภายใต้บันทึกความเข้าใจ พ.ศ.2544 จะต้องทำคือ เมื่อมีการเจรจาหารือบนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

1.ประชาชนต้องยอมรับได้ด้วย

2.รัฐสภาต้องผ่านความเห็นชอบ

3.การเจรจาหารือต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้มี 3 ปัจจัยหลักสำคัญ ที่เป็นข้าราชการประจำหรือผู้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกลไกการทำงานนี้ แน่นอนว่า ทุกคนมีความรักชาติ มีการเคารพอธิปไตยของชาติ การดำเนินการอยู่บบนพื้นฐานตรงนี้พยายามอย่างเต็มที่

ในการรักษาอธิปไตยของชาติและผลประโยชน์แห่งชาติ ขณะนี้ยังไม่มีการตกลงอะไรทั้งนั้น เพราะยังเป็นพื้นที่ ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ ยังไม่มีความชัดเจน

การจะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หรือสำรวจ ก็คงไม่มีใครยอม ดังนั้นถึงต้องเจรจาหารือกัน ถึงต้องมีการพูดคุยกัน การใช้ประโยชน์ได้ของ “เอ็มโอยู 44” จึงเป็นเพียงแค่กลไกหนึ่ง

ขณะที่ “ธีรภัทร จุนทการ” ผู้อำนวยการกองความมั่นคงกิจการชายแดนและประเทศรอบบ้าน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้นำเสนอข้อมูลต่อที่ประชุม

สรุปสาระสำคัญได้ว่า ในส่วนเรื่องของ “เอ็มโอยู 44” คือ เป็นช่องทางที่จะเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกับทางกัมพูชา ทุกอย่างจะเป็นกระบวนการ ที่จะเอื้อแล้วสนับสนุนให้เปิดช่องทางในการพูดคุยกัน และนำไปสู่เรื่องการพูดคุยกัน

สอดคล้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และความต้องการของประชาชน สุดท้ายต้องได้รับการเห็นชอบจากทางรัฐสภาด้วย ในการที่จะไปดำเนินการต่อไป

ในส่วนของ MOU พ.ศ.2544 ตอนนี้ ทางภาคราชการมองว่าเป็นประโยชน์ เป็นเครื่องมือ อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงสงวนท่าทีไว้ เพราะว่าเรามีกฎหมายของเราที่ประกาศออกไปตั้งแต่ พ.ศ.2516

เพราะฉะนั้น ตรงส่วนนี้ จะเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่ในเรื่องของการพดคุยกัน บนพื้นฐานของหลักกฎหมาย หลักวิชาการ หลักทางเทคนิคที่ถูกต้อง เพราะจะต้องมี JTC หรือคณะกรรมการพัฒนาเทคนิค ที่จะต้องตรวจสอบว่าเป็นไปตามหลักกฎหมาย

สอดคล้องตามหลักวิทยาการที่จะมีการแบ่งปันแล้ว สอดคล้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ถึงแม้ว่ากฎหมายระหว่างประเทศจะพัฒนาขึ้นมา ตั้งแต่เป็นอนุสัญญาเจนีวา

มาถึงเป็นปัจจุบันนี้เป็น United Nations Convention on the Law Of the Sea : UNCLOS จะมีหลักการคิด หลักการทำ ที่เป็นความยุติธรรมในระดับระหว่างประเทศ

ดังนั้น ทุกอย่างต้องอยู่ในกระบวนการที่กำลังจะต้องมีการเจรจากัน และจะเป็นเครื่องมืออย่างดี ยังไม่เห็นโอกาสหรือว่าช่องทางอื่นหรือว่ากลไกอื่น ที่จะดีไปกว่านี้

ขณะที่ “รองศาสตราจารย์ พวงทอง ภวัครพันธุ์” ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการ ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกวันนี้จะเห็นเส้นเขตแดนทางทะเลบนแผนที่ ที่ปรากฏอยู่ในอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก ทั้งเส้นที่บอกว่า ไทยอ้างเส้นนี้ กัมพูชาอ้างเส้นนี้ เส้นอันนั้น

ดังนั้้น ข้อมูลที่ปรากฏในแผนที่ที่เผยแพร่ออกมาใช้ได้หรือไม่ เป็นเส้นจากการเข้าใจว่ามาจากการที่ฝ่ายไทยเองกำหนดไว้ใน พ.ศ.2516 ฝ่ายกัมพูชา พ.ศ.2515 โดยทั้ง 2 เส้นนี้ ที่ต่างฝ่ายต่างกำหนดเป็นที่สิ้นสุดแล้วหรือยัง

ถ้าทั้ง 2 เส้นไม่เป็นที่สิ้นสุด โดยฝ่ายไทยเองยังคิดว่าต้องเปลี่ยนของตัวเองด้วย ต่อให้มีการตกลง มีการเจรจาที่จะมีการปักปันเขตแดนทางทะเลเป็นที่เรียบร้อย ยังเกิดพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนในบริเวณไหล่ทวีปอยู่ใช่หรือไม่

ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ จะส่งผลกระทบต่อการแบ่งพื้นที่แบ่งผลประโยชน์ทางทะเลหรือไม่ ต่อให้ 2 ฝ่ายจับมือกัน จะมีการปักปันเส้นเขตทางทะเลจะเกิดขึ้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนอยู่ดี

จะต้องจบลง โดยอาจจะต้องมาแบ่งกันในลักษณะเดียวกัน กับที่เกิดขึ้นระหว่างความร่วมมือระหว่างไทยกับมาเลเซียหรือไม่อย่างไร

“อังกูร กุลวานิช ” รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า ตั้งแต่มีบันทึกความเข้าใจ พ.ศ.2544 หรือ “เอ็มโอยู 44” มีประชุมอย่างเป็นทางการของ JTC รวม 2 ครั้ง ใน พ.ศ.2544 และ พ.ศ.2545 หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน ไม่มีการเจรจาหารือกัน

ปัจจัยหนึ่งคือ บรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา มีขึ้น-มีลงมาโดยตลอด โดยประเด็นเรื่องเขาพระวิหารเป็นประเด็นหนึ่ง ที่มีเหตุในการเผาสถานเอกอัครราชทูตด้วย

เมื่อบรรยากาศความสัมพันธ์ไม่ดี ทำให้การเจรจาไปไม่ได้ โดยเฉพาะการเจรจาอย่างเป็นทางการ คำว่า “เจรจาอย่างเป็นทางการ” จะประกอบด้วยอะไร คือต้องมีประธาน JTC เจรจากัน

บางครั้งไปเจรจาที่กัมพูชา บางครั้งกัมพูชามาเจรจาที่ไทย ภายใต้กลไกคณะกรรมการเทคนิคร่วม JTC จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการเทคนิคร่วม หรือ Sub-JTC เป็นคณะทำงานที่เป็นระดับอธิบดี รองอธิบดี ยังมีการพูดคุยหารือในเรื่องของเทคนิค เพราะต้องสานสัมพันธ์

แม้กระทั่งจะมีปัญหาอื่นแต่ต้องแยกประเด็น แต่การเจรจาจริง ๆ นั้น มีแค่ 2 ครั้ง และมีอีกครั้งตอนบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ภายใต้รัฐบาลชุดที่แล้วของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดย “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นประธานคณะกรรมการเทคนิคร่วม หรือ JTC ได้มีการพบปะกับประธาน JTC กัมพูชาที่ประเทศไทย แต่ไม่ถือว่าเป็นการหารืออย่างเป็นทางการ เพราะกัมพูชาเอง ยังอยู่ระหว่างการจัดตั้งองค์ประกอบคณะทำงาน JTC

ประเด็นที่สอง ตอบคำถามเรื่อง JTC

สืบเนื่องจากว่าทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล มีการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีจึงต้องตั้งคณะกรรมการ JTC นี้ใหม่ทุกครั้งหรือไม่ ด้วยในคณะกรรมการ JTC จะประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง จะทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการ JTC

ส่วนรองประธาน JTC คณะกรรมการ JTC จะเป็นข้าราชการประจำหรือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากหน่วยงานต่างๆ โดยคณะกรรมการเทคนิคร่วม JTC ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

แต่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของ สลค.ยังไม่ได้เอาเข้าสู่วาระการพิจารณา มีรองนายกรัฐมนตรีฝ้ายความมั่นคง เป็นประธานโดยตำแหน่ง ที่ผ่านมาเป็นเช่นนี้ สำหรับฝ่ายกัมพูชา ก็มีการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบเช่นกัน

โดยหลังจากนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบสำหรับคณะกรรมการ JTC แล้วจะแจ้งให้ฝ่ายกัมพูชาทราบ ส่วนฝ่ายกัมพูชาจะแจ้งให้ไทยทราบเช่นกัน

หลังจากนั้นถึงเป็นขั้นตอนการที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะทาบทามการเจรจาหารือกัน ผ่านช่องทางทางการทูตว่า สะดวกที่จะมาเจรจาหารือกันเมื่อไร ที่ไหน แต่ฝ่ายไทยพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัดการเจรจาหารือใ นทันทีที่คณะรัฐนตรีได้ให้ความเห็นชอบองค์ประกอบคณะกรรมการ JTC

ขณะเดียวกัน สื่อในทางกัมพูชาเองมีความพยายามเช่นกัน ที่จะหยิบยกประเด็นเกาะกูดให้เป็นประเด็นทางการเมืองภายใน ขณะที่ท่าทีของกัมพูชา ตอนที่นายกรัฐมนตรีแพทองทาร ไปเยือนกัมพูชา และสอบถามสมเด็จ ฮุน มาเนต ยังยืนยันว่าจะใช้กลไกในการเจรจาโดยใช้ “เอ็มโอยู 44”

โดยหลังจากนี้ ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของคณะทำงานร่วมเทคนิคเจรจาหารือกันไป ขณะที่ สมช.ให้ความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า การพูดคุยกับทางกัมพูชาไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายทุกอย่างอยู่บนผลประโยชน์

โดยเฉพาะทางกัมพูชามีเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนด้วย เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่ทำจะไปส่งผลกระทบในเรื่องของการพูดคุย กันทางเวทีระหว่างประเทศ

นี่คือความเป็นไป และความสำคัญของ “เอ็มโอยู 44” ที่จะใช้ในการต่อรองผลประโยชน์ทางทะเล ระหว่าง “ไทย” และ “กัมพูชา” ในอนาคต ซึ่งหากมีการนัดเจรจาพูดคุยอย่างเป็นทางการได้ จะถือเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 22 ปี จากครั้งสุดท้ายในปี 2545

สำหรับการรณรงค์ให้ยกเลิก “เอ็มโอยู 44” ในขณะนี้ โดยกลุ่มคนบางกลุ่ม จึงต้องตั้งคำถามว่า มีการตั้งธงยึดผลประโยชน์ของชาติ อธิปไตย เป็นที่ตั้ง หรือมีเกมการเมืองอื่นแอบแฝงอยู่ด้วยหรือไม่ และมีแนวทางใด ที่จะใช้ต่อรองกับทางกัมพูชา หากยกเลิก “เอ็มโอยู 44” ไปแล้ว

อ่านรายละเอียด : บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศสภาผู้แทนราษฎร

…………………

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img