เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร มีการสรุปหลักการของ “ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” ที่มีหลักการ 20 ข้อใหญ่ เพื่อใช้ปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และบัญชีม้า
1.กำหนดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา ความหมายของสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ให้บริการ และผู้ใช้บริการ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ตลอดจนกำหนดความหมายของระบบคอมพิวเตอร์และการสื่อสารทางเทคโนโลยี ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์และสินทรัพย์ดิจิทัล
2.กำหนดให้มีบัญชีที่ถูกกำหนด เพื่อให้สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจและผู้ให้บริการมีความชัดเจนในการดำเนินการกับบัญชีที่ถูกกำหนดดังกล่าว และให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หน่วยงานที่มีอำนาจ พนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้
3.กำหนดให้สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ให้บริการ มีหน้าที่เปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกำหนดให้หน่วยงานที่มีอำนาจ สั่งให้สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ให้บริการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เปิดเผยข้อมูลหรือส่งข้อมูล มายังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
4.กำหนดให้มีแนวทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือพยานหลักฐานโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
5.กำหนดมาตรการในกรณีที่สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ให้บริการ พบเหตุอันควรสงสัย หรือได้รับแจ้งจากผู้เสียหายสามารถปฏิเสธ ระงับ หรือยุติการทำธุรกรรมกับบัญชีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
และกรณีที่ถือว่าเป็นบัญชีที่ถูกกำหนด การเพิกถอนบัญชีที่ถูกกำหนด การโอนเงินจากบัญชีที่ถูกกำหนด กลับคืนไปยังบัญชีของผู้เสียหาย
6.กำหนดแนวทางในการรับคำร้องทุกข์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการดำเนินคดี ให้กับผู้เสียหายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน รวมทั้งแนวทางการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาลที่มีอำนาจ
7.กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบาย และแนวทางที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
และให้มีสำนักงานตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อทำหน้าที่ในการคืนเงิน หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้กับผู้เสียหาย
8.กำหนดกระบวนงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจจสอบธุรกรรมทางการเงินหรือทรัพย์สินเพื่อคุ้มครองสิทธิ คืนเงิน หรือทรัพย์สินให้กับผู้เสียหาย ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการคุ้มครองสิทธิ และการคืนเงิน หรือทรัพย์สินให้ผู้เสียหาย
9.กำหนดบทลงโทษสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ให้บริการ กรณีฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
10.กำหนดบทลงโทษบุคคลที่ใช้ เปิดใช้ หรือยินยอมให้ใช้บัญชีของตน รวมถึงการนำรูปภาพ สัญลักษณ์ อัตลักษณ์ ข้อมูลชีวมิติของบุคคลอื่น หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ข้อมูลของตน เพื่อนำไปใช้ในการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
11.กำหนดห้ามมิให้บุคคลให้บริการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และห้ามบุคคลเป็นธุระจัดหา โฆษณา ไขข่าวเพื่อให้มีการซื้อ ขาย หรือให้ยืมบัญชีของบุคคลอื่นเพื่อใช้ในการกระทำผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
12.กำหนดบทลงโทษกรณีบุคคลที่ถือบัญชีของตน จงใจให้ข้อมูลอันเป็นเท็จต่อสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ให้บริการโดยรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
13.กำหนดบทลงโทษกรณีบุคคลใช้ เปิดใช้ ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน บัญชีของตนหรือบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัล โดยมิได้กระทำผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมาย เพื่อกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
14.กำหนดบทลงโทษกรณีบุคคลเป็นธุระจัดหา โฆษณา ไขข่าว เพื่อให้มีการซื้อ ขายหรือแลกเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์ที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้
15.กำหนดให้เพิ่มบทลงโทษเจ้าพนักงานของหน่วยงานที่มีอำนาจ หรือข้าราชการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือหน้าที่ในการยุติธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
16.กำหนดบทลงโทษพนักงานของสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ให้บริการช่วยเหลือ สนับสนุน หรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
17.กำหนดบทลงโทษบุคคล นิติบุคคลที่กระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกำหนดให้การกระทำที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ต้องรับโทษในราชอาณาจักร
18.กำหนดให้มีคณะกรรมการเปรียบเทียบ และความผิดตามบทมาตรา ที่เปรียบเทียบได้ตามพระราชบัญญัตินี้
19.กำหนดแนวทางในการนำกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาบังคับใช้ตามพระราชบัญญัตินี้
20.กำหนดให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มีหน่วยงานเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
นี่คือหลักการคร่าวๆ ในร่างกฎหมาย ที่จะนำมาใช้ปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เว็บพนัน บัญชีม้า ซิมผี และการฟอกเงินผ่านเหรียญคริปโต ที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการ
และที่เห็นค่อนข้างเด่นชัด คือประเด็นเรื่อง บทลงโทษกรณีสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งโอเปอเรเตอร์ ค่ายมือถือ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ต้องระวางโทษปรับไม่ต่ำกว่า 500,000 บาทแต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท
และปรับอีกไม่ต่ำกว่าวันละ 5,000 บาท แต่ไม่เกินวันละ 20,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และถ้าเกิดความเสียหายแก่เจ้าของเงินที่แท้จริง ต้องชดใช้เงินตามจำนวนที่เสียหายคืนแก่เจ้าของเงินที่แท้จริงด้วย
พูดง่ายๆ ว่ากฎหมายฉบับนี้ นอกจากกำหนดแนวทางปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในรูปแบบคณะกรรมการ ที่สถาบันการเงิน ค่ายมือถือต่างๆ ต้องให้ความร่วมมือตามจำเป็นแล้ว ยังต้องรับผิดชอบ หากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงเงินจากบัญชีลูกค้าไปด้วยนั่นเอง
…………..
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม