วันอังคาร, มกราคม 7, 2025
หน้าแรกEXCLUSIVE‘กูรู’ชี้7ผลกระทบต่อกิจการพลังงานไทย เมื่อนโยบายอเมริกาเปลี่ยนสู่ยุคทรัมป์2
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘กูรู’ชี้7ผลกระทบต่อกิจการพลังงานไทย เมื่อนโยบายอเมริกาเปลี่ยนสู่ยุคทรัมป์2

“กูรูพลังงาน” ประเมิน 7 ผลกระทบกิจการพลังงานของไทยในยุค “ทรัมป์ 2” ชี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะถูกผลักดันเป็นแนวทางลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ย้ำไทยต้องมีกุศโลบายแยบยล หาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอเมริกา

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย ให้มุมมองกับ นโยบายประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald J Trump) วัย 78 ปี ที่จะมีพิธีสาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม 2568 โดยดร.คุรุจิต บอกว่า เป็นการกลับมาที่ยิ่งใหญ่มากและจะถือเป็นการครองตำแหน่งครั้งสุดท้ายของเขา เพราะตามรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาบุคคลใดจะเป็นประธานาธิบดีรวมเวลาเกิน 8 ปีไม่ได้

โดย ดร.คุรุจิต ระบุว่า นโยบายพลังงานของทรัมป์แตกต่างจากของไบเดนเป็นอย่างมาก ในช่วงเวลา 4 ปีจากนี้ไป (พ.ศ.2568-2571) รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน ราคาพลังงาน และการสร้างความเข้มแข็งและสร้างงานในประเทศให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมรถยนต์เครื่องสันดาปภายในของอเมริกาเป็นหลัก มากกว่าการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและปัญหาภาวะโลกร้อนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยอเมริกาจะผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้นเพื่อเพิ่ม Supply และทำให้ราคาเชื้อเพลิงและไฟฟ้าถูกลง และจะปลดเปลื้องพันธนาการด้านกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคหรือที่เพิ่มต้นทุนในการพัฒนาและใช้พลังงานจากฟอสซิล

ดังนั้นเมื่อผลิตปิโตรเลียมได้มากขึ้น อเมริกาจะนำเข้าน้ำมันน้อยลง จนถึงไม่นำเข้าเลย จะส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ) มากขึ้น ราคาพลังงานในตลาดโลกจึงคงจะทรงตัว ไม่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน และหากนายทรัมป์ผลักดันให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนจบลงได้อย่างสันติ เงื่อนไขการบอยคอต หรือแซงก์ชันการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียสู่ยุโรปอาจได้รับการผ่อนปรน น้ำมันดิบของรัสเซียอาจออกสู่ตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น คาดว่าจะทำให้มี Supply เติมเข้ามาอีก จนมีผลให้ราคาน้ำมันดิบ และ LNG ที่อาจอ่อนตัวลงในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้

ในด้านการส่งเสริมพลังงานทางเลือก อเมริกาน่าจะเลือกส่งเสริมเฉพาะสิ่งที่สามารถนำนวัตกรรมอเมริกันมาใช้ กับสิ่งที่ก่อให้เกิดงานในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และ พลังงานจากแสงอาทิตย์ ขณะที่พลังงานลมและพลังงานจากไฮโดรเจน อาจถูกลดการให้เงินอุดหนุน หรือลดการส่งเสริมลงจากการงดให้เครดิตด้านภาษี 

ดร.คุรุจิต เล่าว่า นายทรัมป์ได้กล่าวไว้หลายๆ ครั้ง ในทุกๆ แห่งที่เขาไปหาเสียงเลือกตั้ง ตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาว่า ต้องการให้สหรัฐอเมริกากลับมาพึ่งพาตนเองได้ในทางพลังงานอีกครั้ง (America must be Energy-Independent again) นายทรัมป์จึงเห็นว่า จำเป็นที่ อเมริกาต้องเพิ่มการขุดเจาะแสวงหาและพัฒนาแหล่งผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น (Drill, Baby, Drill)

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การปลดเปลื้องกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเชื้อเพลิงฟอสซิล มีการอนุญาตการอัดความดันเข้าสู่ชั้นหินอุ้มปิโตรเลียม (fracking) อนุมัติใบอนุญาตสำรวจปิโตรเลียมในทะเล และในพื้นที่สงวนของรัฐบาลกลาง อนุมัติการวางท่อขนส่งน้ำมันข้ามประเทศ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่ม supply อันจะทำให้คนอเมริกันสามารถซื้อเชื้อเพลิงในราคาที่ลดลงจากปัจจุบัน รวมถึงอนุญาตโครงการส่งออก LNG ที่รัฐบาลของไบเดนระงับเอาไว้ด้วย

“นายทรัมป์หาเสียงไว้ว่า จะลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงโดยการเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมในประเทศ และเสนอแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อยุติความล่าช้าในการขอใบอนุญาต และให้สิทธิแก่เอกชนมาทำการสำรวจขุดเจาะในพื้นที่สงวนของรัฐบาลกลาง โดยจะแก้ไขข้อบัญญัติในด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในการผลิตพลังงาน การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน และเขายังให้คำมั่นที่จะยกเลิกข้อจำกัดในการส่งออกก๊าซธรรมชาติของอเมริกาด้วย”ดร.คุรุจิต ระบุ

ส่วน ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles : EV) นายทรัมป์ สัญญาว่า จะยกเลิกกฎควบคุมไอเสียจากรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ออกใหม่ของหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) ซึ่งภายใต้กฎหมาย Inflation Reduction Act ของไบเดน ต้องการกำหนดมาตรฐานไอเสียให้ลดลงจนแทบปล่อยไม่ได้เลย เพื่อที่จะทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าขายได้มากขึ้น จนมีสัดส่วนมากถึง 2 ใน 3 ของรถยนต์ใหม่ที่ขายในสหรัฐอเมริกาภายในปี พ.ศ.2575 (2032) ตามที่เขาได้ระบุไว้ว่า “ในวันแรกของการทำงาน ผมจะยกเลิกคำสั่งด้านยานยนต์ไฟฟ้าของไบเดน และจะยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ฆ่าล้างอาชีพทุกฉบับที่บดขยี้คนงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ในอเมริกา” ดร.คุรุจิต อ้างถึงคำกล่าวของ ‘ทรัมป์’

นั่นหมายถึงว่า นายทรัมป์ต้องการให้ EV เป็นทางเลือกของผู้บริโภคโดยสมัครใจ และไม่ต้องการเห็นอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ICE ที่มีการจ้างงานคนจำนวนมากต้องล่มสลาย นอกจากนี้มีแนวโน้มที่ทรัมป์จะขึ้นภาษีนำเข้ารถ EV จากจีนให้สูงขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้เพื่อให้นโยบายของเขาเดินหน้าได้ นายทรัมป์ได้ตั้งคนมาทำงานสนับสนุนนโยบายเป็นที่เรียบร้อย โดยมุ่งเน้นใครทำงานให้เขาได้ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม ดร.คุรุจิตชี้เป้าไปที่การแต่งตั้ง นายลี เซลดิน (Lee Zeldin) อดีต ส.ส.พรรครีพับลิกันจากรัฐนิวยอร์ก ให้เป็น ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์กร Environmental Protection Agency : EPA) ซึ่งจะถูกมอบหมายให้รื้อ-ปลดอุปสรรคกฎหรือระเบียบต่างๆ ของรัฐบาลกลาง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในการผลิตและใช้พลังงาน/เชื้อเพลิงจากฟอสซิล รวมถึงผ่อนปรนมาตรฐานปล่อยไอเสียจากรถยนต์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engine : ICE)

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ

ส่วน รัฐมนตรีพลังงาน นายคริส ไรท์ ซีอีโอของบริษัท ลิเบอร์ตี เอ็นเนอร์จี ผู้ให้บริการด้านบ่อน้ำมันเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ซึ่งบริษัทนี้ให้บริการแยกหินด้วยแรงดันน้ำให้กับอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซฯโดยนายไรท์จะเข้าร่วมงานในฐานะหนึ่งในสมาชิกของสภาพลังงานแห่งชาติ เป็นโครงสร้างที่จะมีการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะดูแลการใช้พลังงานของสหรัฐอเมริกา โฟกัสไปที่การอำนวยความสะดวกในการลงทุนของภาคเอกชนมากกว่าที่จะให้ความสำคัญเรื่องการกำกับดูแลที่ไม่จำเป็น โดยมุ่งเน้นเป้านวัตกรรมเป็นสำคัญ

ส่วน นายดั๊ก เบอร์กัม (Douglas Burgum) ผู้ว่าการรัฐจาก North Dakota ซึ่งเป็นนักธุรกิจและสนับสนุนนโยบายเพิ่มการสำรวจและผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ยืดอายุโรงไฟฟ้าถ่านหิน และพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหมและประธานสภาพลังงานแห่งชาติที่จะมีบทบาทใหม่ในการบริหารแผนงานของคณะทำงาน เพื่อดูแลกฎเกณฑ์ด้านสภาพอากาศ ยกเลิกเงินสนับสนุนพลังงานสะอาด และส่งเสริมการผลิตน้ำมันและก๊าซฯทั่วประเทศ

เมื่อยักษ์ใหญหนุนฟอสซิลแบบนี้ ดร.คุรุจิต บอกว่า เวทีการประชุม COP/UNFCC ต่อจากนี้คงจะไม่มีความร่วมมือเด่นๆ หรือการแสดงเจตนารมณ์ใดๆ ที่เข้มข้นหรือท้าทายออกมาให้เห็น

“เมื่อสหรัฐคือประเทศที่ปล่อยก๊าซ CO2 มากเป็นอันดับสองของโลกถึง 15% แต่เมื่อสองประเทศที่ยิ่งใหญ่อย่างสหรัฐและจีนจะไม่คุยหรือร่วมมือกัน ความหวังในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส ก็คงจะเคว้งคว้างไปอย่างน้อยอีก 4 ปี” ดร.คุรุจิต กล่าว

มาถึง ผลกระทบต่อไทยในยุคของนายทรัมป์จะมีทั้งทางบวกและลบ ดร.คุรุจิต ประเมินว่า จะมีผลใน 7 เรื่อง ดังนี 1.ราคาน้ำมัน และ 2.ราคา LNG ที่เรานำเข้า น่าจะทรงตัวหรือถูกลง 3.ธุรกิจสำรวจ/ผลิตปิโตรเลียมทั่วโลกจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง 4.แนวคิดเรื่อง ESG หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Environmental, Social, Governance) ต่อบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของ Asset/Fund Managers อาจเพลาลง อันเนื่องจากพรรครีพับลิกันต่อต้านเรื่องแบบนี้

5.โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งแบบไซส์ใหญ่ หรือ PWR หรือไซส์เล็ก หรือ SMR จะเป็นทางเลือกที่อเมริกาจะนำเสนอในเวทีโลกเพื่อแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก มากขึ้นกว่าเดินตามแนวยุโรปที่ต้องการพลังงานสีเขียวเท่านั้น 6.รถ EV จีนจะขายอเมริกายากขึ้น จีนก็อาจหันมาดัมพ์ตลาดในไทย 7.โลกจะแบ่งขั้วมากขึ้น Trade Barriers และ Trade Sanctions จะมีมากขึ้น

“ดังนั้น ไทยต้องมีกุศโลบายที่แยบยลในการหาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอเมริกา” ดร.คุรุจิต กล่าวย้ำ

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img