หลังตำรวจไทยอนุมัติหมายจับกุม นายสมหวัง บำรุงกิจ หรือ นายลี รัตนรัศมี อายุ 42 ปี ชาวกัมพูชา ฐานเป็น “ผู้จ้างวาน” จ่าเอ็ม ให้ไปสังหาร “ลิม คิมยา” อดีตฝ่ายค้านกัมพูชย
นับเป็นผู้ต้องหารายที่สาม ต่อจากจ่าเอ็ม มือสังหาร นายพิชญ์ คิมสะริน มือชี้เป้าชาวกัมพูชา
ล่าสุดทีมข่าว ได้เบาะแสสำคัญ ว่า ตัวนายสมหวัง หรือนายลี น่าจะเคยทำงานบริษัทรักษาความปลอดภัย อยู่ที่ชลบุรี เมื่อช่วง 9-10 ปีก่อน
สำหรับนายสมหวัง บำรุงกิจ หรือนายลี รัตนรัศมี พบเบาะแสที่นำไปสู่การออกหมายจับ เนื่องจากพบว่ามีการโอนเงินจากจ้างวาน จากนายสมหวัง หรือนายลี ไปยังบัญชีจ่าเอ็ม 6 หมื่นบาท
ต่อมา ตรวจสอบพบว่านายสมหวัง หรือนายลี เพิ่งเดินทางเข้าประเทศไทย วันที่ 6 ม.ค. หรือ 1 วันก่อนก่อเหตุ และเดินทางออกนอกประเทศไทย เช้าวันที่ 8 ม.ค. หรือ 1 วันหลังจากจ่าเอ็มก่อเหตุ
มีเส้นทางการเงิน ที่พบว่านายสมหวังโอนเงินให้จ่าเอ็ม 30,000 บาท ในวันที่ 7 มกราคม เพื่อไปไถ่ถอนปืน และหลังจ่าเอ็มก่อเหตุ เพียง 5 นาที นายสมหวังหรือลี โอนเงินให้ 30,000 บาท เป็นค่าเดินทางหลบหนี
ก่อนหน้านี้ สื่อกัมพูชา รายงานว่า นายสมหวัง หรือนายลี อยู่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกัมพูชา ฝ่ายเดียวกับนายลิม คิมยา ผู้ตาย
ต่อมา นายสมหวัง ได้กลับข้างไปอยู่ฝั่งสนับสนุน จนกระทั่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากอดีตนายกฮุนเซ็น เป็นที่ปรึกษา เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567
ปัจจุบัน นายสมหวัง หรือนายลี ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับแรงงานกัมพูชา ส่งออกไปยังต่างประเทศ ทั้งไทย มาเลเซีย และญี่ปุ่น
ทีมข่าวแกะรอยจากเบาะแส ที่นายลี ใช้ชื่อไทยว่า “สมหวัง บำรุงกิจ” พบว่าในเฟซบุ๊กส่วนตัว มีการโพสต์ภาพเด็กเล็ก และป้ายโลโก้ บริษัทรักษาความปลอดภัยแห่งหนึ่ง เราขอใช้ชื่อย่อว่า พี.ซี.เอส.
ต้องบอกก่อนว่า ปัจจุบันนี้ บริษัท พี.ซี.เอส. ล้มละลายไปแล้ว ดังนั้น ชื่อที่ไปพ้องกับบริษัทรักษาความปลอดภัยดังระดับโลก ไม่เกี่ยวข้องกัน
อย่างที่บอกว่า ผู้ต้องหาที่เป็นผู้จ้างวานคนนี้ มีชื่อเป็นชาวกัมพูชา ทีมข่าวเลยตรวจสอบจากบัญชีเทเลแกรม จนพบชื่อที่ตรงกัน
จากนั้นได้เสิร์ชชื่อดังกล่าวในเฟซบุ๊ก จนพบภาพบุคคลต้องสงสัยตรงกัน เป็นเฟซบุ๊กเก่า ที่หยุดความเคลื่อนไหวไปตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2559
เมื่อเปรียบเทียบภาพที่ได้จากเฟซบุ๊กที่พบ กับภาพปัจจุบันของนายลี ผู้ต้องสงสัยรายนี้ พบว่าเป็นบุคคลที่ใบหน้าตรงกัน / โดยพบว่าภาพนายลีจากเฟซบุ๊กเก่า มีการสวมใส่เสื้อบริษัท รปภ. ชื่อว่า พี.ซี.เอส. มีความเคลื่อนไหวทำงานอยู่ในไทย ช่วงปี 2558-2559
ทีมข่าวตรวจสอบฐานข้อมูลบริษัท พี.ซี.เอส. จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าบริษัท รปภ.ดังกล่าว จดทะเบียนตั้งแต่ปี 2551 ตั้งอยู่ที่พัทยา โดยคนไทย ที่ชื่อว่า “นายยะ” จากนั้น แจ้งล้มละลายไปในปี 2563
นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลว่านายยะ ยังเป็นเจ้าของบริษัท รปภ.อีกแห่ง ชื่อขึ้นต้นด้วยตัว ดี อยู่ที่พัทยาเหมือนกัน บริษัทนี้ จดทะเบียนปี 57 และเลิกกิจการไปในปี 2563 เช่นเดียวกับบริษัทแรก
ทีมข่าวโทรสอบถามนายยะ เพื่อจะได้ตรวจสอบข้อมูลนายสมหวัง หรือนายลี ที่น่าจะเคยเป็นลูกจ้างในบริษัทของเขา แต่นายยะ ไม่ยินยอมที่จะให้ข้อมูลใดๆ บอกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นมันนานมาแล้ว ไม่อยากไปเกี่ยวข้องด้วย แล้วตัดสายทีมข่าวทิ้งไป
สำหรับบริษัท รปภ.ดังกล่าว พบว่าปัจจุบัน มีการเปลี่ยนเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และจดทะเบียนในชื่อบริษัทอื่นๆ ด้วยเลขทะเบียนบ้านเดียวกัน รวม 4 แห่ง
จากการสอบถามคุณลุงขับรถจักรยานยนต์ที่อยู่ในละแวกดังกล่าว เล่าว่าแต่เดิม บริษัท รปภ.แห่งนี้ เป็นบริษัทใหญ่ มีลูกจ้าง 100-200 คน / ต่อมาในช่วงโควิด ประสบปัญหาหนัก ทราบว่าเลิกกิจการไป ส่วนนายสมหวัง หรือนายลี ผู้ต้องหาคดีจ้างวานฆ่า จำไม่ได้ว่าเคยเห็นหน้าหรือไม่
แต่เมื่อลุงขับวินเห็นรูป “คุณยะ” เจ้าของบริษัท รปภ. ปรากฎว่า ลุงวิน ยืนยันว่าเป็นคนเดียวกัน เพราะเป็นคนอัธยาศัยดี เลยจำได้แม่น
ดังนั้น ถึงตอนนี้ เรายืนยันข้อมูลได้ดังนี้ คือ
- บริษัท รปภ. ชื่อ พี.ซี.เอส. ในพัทยา มีอยู่จริง ปิดกิจการไปในปี 2563
- นายยะ คนไทย เป็นเจ้าของบริษัทดังกล่าว
- นายสมหวัง หรือนายลี ผู้ต้องหาคดีจ้างวานจ่าเอ็ม สังหารฝ่ายค้าน เคยทำงานที่บริษัทดังกล่าว
- จ่าเอ็ม มารู้จักนายสมหวัง หรือนายลี ผ่านใคร รู้จักได้อย่างไร
- เหตุใด นายสมหวังหรือลี ถึงใช้เวลาเพียง 8-9 ปี เข้าถึงผู้นำระดับสูงของกัมพูชา จากลูกจ้างบริษัทยาม เป็นที่ปรึกษาอดีตนายกฯ ได้
- นายสมหวัง หรือนายลี ถือเป็นคนของทางการกัมพูชาอยู่หรือไม่
ดังนั้้น ถึงตอนนี้ เชื่อว่าตำรวจฝ่ายสืบสวนนครบาล น่าจะมีข้อมูลพอสมควรอยู่ในมือ และคาดว่าในไม่ช้านี้ น่าจะมีการเรียกผู้เกี่ยวข้องกับนายสมหวัง หรือนายลี มาสอบปากคำเพิ่มเติม เพื่อขยายผลจับผู้เกี่ยวข้องกับคดีลอบสังหาร คดีนี้
และคงไม่ตัดตอน ว่าเป็นความแค้นส่วนตัวเพียงเท่านั้น แม้ว่านายสมหวังหรือลี จะเคยอยู่ฝ่ายเดียวกับนายลิม คิมยา อดีตฝ่ายค้านกัมพูชาก็ตาม
………..
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม