วันพุธ, เมษายน 16, 2025
หน้าแรกEXCLUSIVEคดี‘พิรงรอง vs ทรู’สะท้อนจุดจบ‘สื่อหลัก’ สู่‘คอนเทนต์ออนไลน์’ฟรีสไตล์แบบไทยๆ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

คดี‘พิรงรอง vs ทรู’สะท้อนจุดจบ‘สื่อหลัก’ สู่‘คอนเทนต์ออนไลน์’ฟรีสไตล์แบบไทยๆ

กรณี ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาคดีที่ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เป็นโจทก์ ฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นจำเลย ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีจำเลยออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์

จนทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่า “โจทก์” เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่างๆ ที่บริษัทส่งไปออกอากาศ ส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งให้บริษัทฯได้รับความเสียหาย

คดีนี้มีผู้บริโภคร้องเรียนมาที่สำนักงาน กสทช. ในปี 2566 หลังจากพบว่า บนแพลตฟอร์มของแอปพลิเคชัน “ทรู ไอดี” มีการโฆษณาแทรกในช่องรายการทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.

ต่อมาคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ได้พิจารณาและเสนอความเห็นในเรื่องดังกล่าว และ สำนักงาน กสทช. ได้ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การออกอากาศบนแพลตฟอร์ม “ทรู ไอดี” เป็นการออกอากาศผ่าน OTT นั้นยังไม่มีข้อกฎหมายที่จะต้องขออนุญาตจาก กสทช.และการกระทำของ “จำเลย” ที่มีการเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ กสทช.ออกหนังสือเป็นทางการ และมีคำพูดในทำนองว่า “ตลบหลัง” และ “การล้มยักษ์” นั้น ทำให้มีหลักฐานชัดเจนว่า “จำเลย” มีเจตนากลั่นแกล้งให้ “โจทก์” ได้รับความเสียหาย การต่อสู้ของ “จำเลย” เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานน้ำหนักให้หักล้าง “พยานโจทก์” ได้

พิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี

ให้ประกัน “พิรงรอง” 1.2 เเสน-ห้ามออกนอกประเทศ

ต่อมา ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ และศาลพิจารณาเเล้ว อนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ ตีราคา 120,000 บาท โดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

ย้อนที่มาที่ไป ปมขัดแย้ง “ทรู-ดร.พิรงรอง”

เราไปย้อนรายละเอียด ข้อพิพาทจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ระหว่าง บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กับ กสทช. กรณี กฎ Must Carry ที่ซ่อนเงื่อนปมความขัดแย้งการปฏิบัติหน้าที่เป็นการส่วนตัว ของ “ดร.พิรงรอง” อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในคณะกรรมการ กสทช.

1.แอป “ทรู ไอดี” เป็นแอปพลิเคชั่นของผู้ประกอบการ “ทรู” ให้บริการด้านคอนเทนต์ไทย-ต่างประเทศ ความบันเทิงต่างๆ รวมถึงช่องทางการชำระเงิน

2.ทรูถูกประชาชนร้องเรียนว่านำสัญญาณ “การถ่ายทอด” จากช่องดิจิทัลไปถ่ายทอดลงในแพลตฟอร์ม “ทรู ไอดี” แล้วมีการแทรกโฆษณาสินค้าของบริษัท

3.คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ กสทช. ที่ “ดร.พิรงรอง” เป็นประธาน จึงออกหนังสือแจ้งเตือนผู้รับใบอนุญาตอื่นๆ 127 ราย

4.ย้ำให้ผู้ประกอบการ ปฏิบัติตามหลัก Must Carry โดยเคร่งครัด เป็นไปตามการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค มิเช่นนั้นอาจถูกระงับใบอนุญาต

5.“ดร.พิรงรอง” ชี้แจงครั้งนั้นว่า “ทรู ไอดี” ยังมิได้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการประเภท IPTV ที่ต้องทำตามกฎ Must Carry อย่างเคร่งครัด คือนำพาสัญญาณของช่องรายการทีวีดิจิทัล โดยไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ

6.ภายหลังมีการออกหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการอีกรายที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกัน จึงไม่ได้เลือกปฏิบัติกับ “ทรู ดิจิทัลฯ”

7.จากนั้น “ทรู” ฟ้อง “ดร.พิรงรอง” ว่าทำให้บริษัทได้รับความเสียหายต่อศาลอาญาทุจริต ต่อมา ในวันที่ 14 มี.ค.67 ศาลรับฟ้องว่าคดีมีมูล

8.สาระสำคัญ ที่โจทย์ฟ้องจำเลย คือเรื่องออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับใบอนุญาตรายอื่น 127 ราย มีข้อความทำนองให้เข้าใจว่าโจทก์ทำผิดกฎหมาย

9.ทั้งที่การให้บริการภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ OTT เป็นการให้บริการที่ กสทช. ยังไม่มีการประกาศหรือกำหนดกฎเกณฑ์ใดๆ

10.พฤติการณ์จำเลยส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย ศาลฯจึงให้ประทับฟ้องไว้ จนกระทั่งมีคำตัดสินออกมาในวันนี้ (6ก.พ.)

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต

“Must Carry – OTT” กับอำนาจหน้าที่ “กสทช.”

มีสองจุดในเรื่องราวนี้ ที่ต้องขยายความเพิ่มเติม คือ

1.“กฎ Must Cary” หรือ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ซึ่งประกาศใช้ในปี 2555

ผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต ทั้งเคเบิล ดาวเทียม โครงข่ายไอพีทางสายและไร้สาย ต้องให้สมาชิกได้รับบริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไป โดยตรงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำซ้ำ ดัดแปลง ผังรายการและเนื้อหารายการ

2.ผู้ให้บริการ OTT หรือ Over-the-Top เป็นวิธีการสตรีมเนื้อหาผ่านอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ใดก็ได้ รวมทั้ง เฟซบุ๊ก ยูทูบ

ปัจจุบัน กสทช. มีแผนจัดทำประกาศ กสทช. เรื่อง การให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่จะครอบคลุมถึงการกำกับดูแล OTT โดยจะเน้นการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่โครงการดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงตั้งแต่เดือน ต.ค.2566

ตามกฎหมายปัจจุบันกำหนดให้ กสทช. ดูแลกิจการที่เป็นการแพร่ภาพและกระจายเสียงแบบดั้งเดิม

แต่ OTT เป็นการนำเสนอคอนเทนต์แบบการเลือกดูเฉพาะเจาะจงตามอัลกอริทึม จึงต้องผ่านกระบวนการปรับปรุงกฎหมายในรัฐสภาต่อไป

สำหรับคดีที่เกิดขึ้นนี้ มีหลายคำถามเกิดขึ้นในสังคมว่า หากผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ จะสามารถร้องเรียนไปได้ที่หน่วยงานรัฐอีกหรือไม่ และ คอนเทนต์ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่โตเร็วตามกระแสโลกาภิวัฒน์ จะกำกับควบคุมดูแลกันอย่างไร ในการผลิตคอนเทนต์ออกมา

รวมทั้ง สื่อกระแสหลัก เช่น สื่อทีวี ในอนาคต อาจถึงจุดจบเร็วขึ้นอีกหรือไม่ เพราะ คอนเทนต์ออนไลน์ ที่ยังไม่มีการกำกับดูแล ย่อมสร้างกระแส ตรงจุดโดนใจ “ผู้ชม” ที่กลายสถานะเป็น “เอฟซี-FC” ในยุคปัจจุบัน ได้มากกว่า

แน่นอนว่า คดีฟ้องร้องระหว่าง “เอกชน” กับ “นักวิชาการ” ในครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับวงการสื่อในประเทศไทย

แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนกรณีที่เกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ พลวัตในการเปลี่ยนแปลงในแวดวงสื่อ ที่อาจถึงจุดหมายปลายทางในไม่ช้านี้

และบุคลากรในอุตสาหกรรมนี้อีกหลายพันชีวิต จะต้องหาเส้นทางใหม่ เส้นทางสำรอง เพื่อต่อสู้ดิ้นรนกันต่อไป

……………………

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img