วันพุธ, เมษายน 2, 2025
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVE“แผ่นดินไหว”บทเรียนภัยพิบัติใกล้ตัว “ไทย”ต้องเรียนรู้!!!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“แผ่นดินไหว”บทเรียนภัยพิบัติใกล้ตัว “ไทย”ต้องเรียนรู้!!!

ปัญหาผลกระทบที่ตามมาจาก เหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา ที่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ที่ อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มพังราบลงมา มีผู้เสียชีวิต และติดภายในอีกจำนวนมาก ถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องถอดบทเรียน ในการเผชิญภัยพิบัติในอนาคต ที่อาจเกิดขึ้นอีกและอาจสรุปบทเรียนที่เกิดขึ้นได้ดังนี้

1.การแจ้งเตือนเหตุ

ปัญหาเรื่อง ระบบเตือนภัย และแจ้งเตือนภัยพิบัติ ถือว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบ “ล้มเหลวสิ้นเชิง” มีการอนุมัติงบประมาณไปแล้วกว่า 1,600 ล้านบาท แต่ระบบแจ้งเตือนกลับออกมาแบบนี้

  • แผ่นดินไหว เวลา 13.20 น.
  • การแจ้งเตือนเหตุภัยพิบัติเป็นอำนาจหน้าที่ของ ปภ. หรือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตามกฎหมาย
  • กระบวนการทำงาน ปภ.จะเป็นผู้กำหนดข้อความ และส่งให้ กสทช.ประสานผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อส่งข้อความสั้น หรือ SMS
  • ข้อความยิ่งส่งมาช้า หรือส่งหลายครั้ง จะทำให้การส่ง SMS ถึงประชาชนยิ่งล่าช้า เพราะส่งได้ครั้งละไม่เกิน 2 แสนเลขหมาย
  • แต่โทรศัพท์มือถือของคนไทยมีมากถึง 100 ล้านเลขหมาย

ขณะที่ ปภ.ส่งข้อความ SMS 4 ครั้ง

ครั้งแรก เวลา 14.30 น. หรือ หลังแผ่นดินไหวนานกว่า 1 ชั่วโมง

ครั้งที่ 2 และ 3 เวลา 16.00 น. จำนวน 2 ข้อความ (นับเป็น 2 ครั้ง)

ครั้งที่ 4 เวลา 16.30 น. เป็นข้อความสุดท้าย

หากจำกันได้ มีการเรียกร้องระบบ Cell Broadcast กันมานานหลายปี ตั้งแต่เหตุกราดยิงห้างดังแถวปทุมวัน เหตุโคลนถล่มเชียงราย ที่ผ่านมา ดีอี และ กสทช. สนับสนุนงบประมาณไปแล้วกว่า 1,600 ล้านบาท

ส่วนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นเอกชน พร้อมหมดแล้ว รอแค่ ปภ.เท่านั้น ที่ต้องดำเนินการให้ระบบเชื่อมต่อกัน แต่ถึงปัจจุบัน ยังไม่คืบหน้าและความชัดเจนใดๆ

2.การสร้างพื้นที่ปลอดภัยของฝ่ายความมั่นคง

ถือเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว เพราะสถานการณ์โลก ทั้งภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาภัยพิบัติ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแผ่นดินไหว และโรคอุบัติใหม่ อย่างเช่น โควิด มีโอกาสเกิดได้ทุกเมื่อ

ถือเป็นความเสี่ยงด้านความมั่นคง และมีแนวโน้มเกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ประชาชนคือผู้ได้รับผลกระทบ ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมพร้อมพื้นที่ปลอดภัย อพยพหรือช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นอีก

3.การตรวจสอบความแข็งแรงมั่นคงอาคารสูง

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว พบว่า ตึกสูงหลายแห่งเกิดรอยร้าวและผนังปูนเกิดความเสียหายหลายแห่ง จึงเป็นหน้าที่ของสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย รวมถึงกรุงเทพมหานคร

ที่ต้องเร่งสั่งการให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เข้าตรวจสอบตึกสูง อาคารเก่าหลายชั้น ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความมั่นคง ปลอดภัยของอาคาร ซึ่งจะเป็นการป้องกันไม่ให้มีเหตุการณ์ที่ต้องเกิดความสูญเสียซ้ำอีก

เพราะหลังจากนี้ ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว เชื่อเหลือเกินว่า จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยอีกต่อไป

4.การเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบภัยพิบัติ

แน่นอนว่า หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว การจราจรทั่งกรุงฯกลายเป็นอัมพาต ทางด่วนต่างๆ หยุดการให้บริการ สิ่งเหล่านี้จึงต้องมีการถอดบทเรียน ว่าหากเกิดภัยพิบัติขึ้น หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ทั้ง กทม.-ปภ. รวมทั้งตำรวจ จะมีมาตรการบริหารจัดการอย่างไร

โดยสิ่งที่พบในวันที่ 28 มีนาคม ไล่เรียงได้ อาทิ

  • คนอพยพขับรถหนีจากจุดเสี่ยง แต่ไปทางไหน ก็เจอแต่รถติดขัด หน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะ ตร.ต้องมีแผนรองรับมือ
  • ตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวช่วง 13.20 น. ประชาชนส่วนใหญ่ กว่าจะเดินทางถึงที่หมายใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 ชม.
  • รถไฟฟ้า รถใต้ดิน รถขนส่งมวลชนกรุงเทพ หยุดให้บริการ ประชาชนเดินทางลำบาก
  • ห้างร้านปิดให้บริการ ทำให้ประชาชนที่ตกค้าง ไม่มีห้องน้ำที่จะใช้งาน
  • มีการโก่งราคาค่าโดยสาร ทั้งแท็กซี่ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ขนส่งและตำรวจ จะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับผู้กระทำผิด

5.การตรวจสอบหาต้นตอความเสียหาย

ยังมีความคลุมเครือ ในการสืบสวนหาสาเหตุ ที่อาคาร สตง.ถล่มลงมา เพราะแม้ว่าจะเกิดจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว แต่กฎหมายควบคุมการออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี 2540 จะมาบอกว่าว่า โครงสร้างยังไม่เสร็จ จึงไม่น่าจะใช่ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง

สำหรับอาคารแห่งนี้ เป็นการก่อสร้างด้วยงบกว่า 2 พันล้านบาท โดยบริษัทที่ชนะการประมูล เป็นรูปแบบกิจการร่วมค้า ระหว่างผู้รับเหมาไทยกับจีน ที่ต้องร่วมกับรับผิดชอบเหตุอาคารถล่มที่เกิดขึ้น โดยทราบว่าเอกชน มีการประกันภัยไว้ครอบคลุมความเสียหาย

การสอบสวนขณะนี้ จึงเน้นไปที่ผู้ออกแบบและผู้คุมงานและผู้ก่อสร้าง ซึ่งผู้ก่อสร้างจะเป็นบริษัท ต้องไปดูว่าสัดส่วนเท่าไหร่ เพราะในสัญญาระบุว่า เป็นบริษัทร่วมค้า ระหว่างไทยกับจีน จึงต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน

6.การรับมือข่าวลือ-ข่าวปลอม

แน่นอนว่า ข่าวสารที่หลั่งไหลในโซเชียลมีเดียช่วงเกิดเหตุแผ่นดินไหว มีทั้ง ข่าวจริงและข่าวปลอม ปะปนกันไป ด้วยข้อมูลที่หลั่งไหลอย่างมหาศาล จึงทำให้ยากต่อการตรวจสอบ ว่าข่าวใดเป็นข่าวจริง ข่าวใดเป็นข่าวปลอม

ยกตัวอย่างเช่น มีการปล่อยข่าวในโซเชียลมีเดียว่า สะพานภูมิพลเกิดสลิงขาดในช่วงเหตุแผ่นดินไหว หรือ ถนนพระราม 2 เกิดทรุดตัวซ้ำขึ้นมาอีกเป็นต้น ทั้ง 2 ข่าวล้วนเป็น ข่าวปลอม ที่ปล่อยออกมา บางส่วนอาจต้องการสร้างความวุ่นวายหรือตื่นตระหนก

ดังนั้น ภาครัฐ หน่วยงานที่รับผิดชอบ จึงต้องมีมาตรการตรวจสอบข่าวปลอมในช่วงภัยพิบัติ และมีทีมสื่อสารข้อมูลออกไป เพื่อไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อข่าวสารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนขึ้นมาอีก

……………….

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img