วันพุธ, เมษายน 2, 2025
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEตึกสตง.ถล่ม พิสูจน์“จีน”กินรวบประเทศ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ตึกสตง.ถล่ม พิสูจน์“จีน”กินรวบประเทศ

จากการตรวจสอบ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ประเทศไทย จำกัด บริษัทลูกเอกชนจากจีน ที่รับผิดชอบ งานก่อสร้างตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหวในกรุงเทพฯ

“ไชน่าเรลเวย์ฯ” จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท วัตถุประสงค์ : ก่อสร้างอาคาร ทางรถไฟ รถไฟฟ้าใต้ดิน ตั้งอยู่ที่ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ

กรรมการ 2 คน ได้แก่ 1.นายชวนหลิง จาง 2.นายโสภณ มีชัย

เมื่อตรวจสอบผู้ถือหุ้น พบชื่อ ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป คัมปะนี (ที่รับเหมาสร้างทางรถไฟความเร็วสูง) ถือหุ้นใหญ่สุด 49%

โสภณ มีชัย ถือ 40.8%

ประจวบ ศิริเขตร ถือ 10.2%

มานัส ศรีอนันท์ ถือ 3 หุ้น

เมื่อตรวจสอบประวัติ “โสภณ มีชัย” พบว่าเป็นกรรมการบริษัท อีก 3 แห่ง คือ

ไซเบอร์ เทเลคอม จำกัด / ร้านขายปลีกคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์

ไฮห่าน จำกัด / ขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใช้ในครัวเรือน

เอที แคปปิตอล โซลูชั่น จำกัด / เสร็จการชำระบัญชีไปแล้ว

จากการดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทของ “โสภณ มีชัย” เลยถูกตั้งคำถามว่า ตัวเขาเป็นกรรมการ บริษัทขายคอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เหตุใดถึงจับพลัดจับผลู มีชื่อเป็นกรรมการบริษัทรับเหมางานระดับ 2 พันล้านได้

ขณะที่ตั้งของบริษัทไชน่าเรลเวย์ฯ ยังพบว่า เป็นที่ตั้งบริษัทเอกชนอื่นๆ รวม 9 แห่ง ตั้งอยู่เลขที่ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยก 11 แขวงบางมด เขตทุ่งครุ

สำหรับบริษัททั้ง 9 แห่ง ที่ใช้ที่อยู่จดทะเบียนดังกล่าว มีบริษัทที่น่าสนใจในแง่รายได้ และสินทรัพย์ คือ

-บริษัท ไชน่า เรลเวย์ ที่แจ้งมี “สินทรัพย์” รวมกว่า 2,800 ล้านบาท

-บริษัท เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แจ้งรายได้รวมปี 2566 กว่า 302 ล้านบาท

-บริษัท วีล มาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด แจ้งรายได้รวมปี 2566 กว่า 336 ล้านบาท

สำหรับผู้ถือหุ้นคนไทย อีก 2 ราย คือ “มานัส ศรีอนันท์” และ “ประจวบ ศิริเขตร” พบว่าเป็นกรรมการบริษัทดังนี้

“มานัส ศรีอนันท์” พบเป็นกรรมการบริษัท คือ

-บริษัท เอสทีพี อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต(ประเทศไทย) จำกัด

ปี 60 ชื่อจัดตั้ง ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด

ปี 61 เปลี่ยนชื่อเป็น เอสทีพี อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต(ประเทศไทย) จำกัด (เลขทะเบียนบริษัท คนละบริษัทกับไชน่าเรลเวย์ที่เป็นข่าว)

-บริษัท เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

-บริษัท สยาม ไบโอเมดิคอล ไซเอนซ์ จำกัด

-บริษัท วีล มาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (300 ล้าน)

-บริษัท สันติภาพ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด

-บี เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (เสร็จการชำระบัญชี)

-สแตร์ ลาเบล อินเตอร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด

“ประจวบ ศิริเขตร” พบเป็นกรรมการบริษัทฯ คือ

-วีล มาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด

-สันติภาพ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด

-สันติภาพ อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต จำกัด

ย้อนเหตุสลด “พล.อ.” ยิงตัวตาย ที่ตั้ง “ไชน่า เรลเวย์”

ย้อนไปวันที่ 4 มีนาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ราษฎร์บูรณะ รับแจ้งมีเหตุผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิง ในบริษัทนำเข้าและส่งออกยางรถยนต์ เลขที่ 493 ซอยพุทธบูชา 44 แยกย่อยซอยที่ 11 ถนนพุทธบูชา แขวงบางมด เขตทุ่งครุ

จุดเกิดเหตุอยู่ภายในห้องประชุมชั้นที่ 2 พบคนเจ็บเป็น อดีตทหารยศพลเอก อายุ 66 ปี อยู่ในสภาพนั่งพิงพนักเก้าอี้ มีบาดแผลถูกยิงด้วยอาวุธปืน บริเวณหน้าอกเหนือราวนมด้านซ้าย 1 นัด ทะลุหลัง เจ้าหน้าที่ปั๊มหัวใจช่วยเหลือ แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตเอาไว้ได้

สำหรับ “ผู้เสียชีวิต” เป็นที่ปรึกษาคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม และ เป็นที่ปรึกษาบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง คาดสาเหตุในครั้งนั้น อาจมาจากความเครียดส่วนตัว เลยก่อเหตุดังกล่าวขึ้นมา

นี่คือเบื้องหน้า-เบื้องหลัง ที่ยังคงต้องเกาะติด สำหรับบริษัทเอกชนจากจีน ไชน่า เรลเวย์ ที่ร่วมก่อสร้างตึก สตง. จนเกิดเหตุพังทลายของโครงสร้างลงมา

“ไชน่า เรลเวย์” สร้างตึก สตง. สู่รถไฟความเร็วสูง

เมื่อตรวจสอบรายงานประจำปี บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ITD พบในปี 2564 มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ระบุไว้ คือ

บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมลงทุนใน กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้บริการงานก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินใหม่ โดย ITD มีสัดส่วนการร่วมทุนร้อยละ 51 ใน “กิจการร่วมค้าฯ”

ส่วนรายงานประจำปี 2566 พบการเปลี่ยนเเปลงสำคัญ ที่ระบุไว้คือ

มีการร่วมลงทุนในกิจการร่วมค้า บริษัท อิตาเลียนไทย จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป คัมปะนี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการงานก่อสร้างงานโยธา พัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า

อย่างที่บอกไปว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้สร้างตึก สตง. โครงสร้างบริษัทฯ มีผู้ถือหุ้นจากจีน 49% นั่นคือ “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เทน เอนจิเนียริ่ง กรุ๊ป คัมปะนี” เจ้านี้คือกลุ่มบริษัทที่ได้ งานสร้างรถไฟความเร็วสูง

สัดส่วนผู้ถือหุ้นคนไทยอีก 51% เราตรวจสอบพบโครงสร้างผู้ถือหุ้น ตั้งแต่ปี 2563 มีรายละเอียด ที่น่าสนใจดังนี้

ปี 2563

-ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 49

-มานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้นสัดส่วน ร้อยละ 30.60

-ประจวบ ศิริเขตร ถือหุ้นสัดส่วน ร้อยละ 10.20

-โสภณ มีชัย ถือหุ้นสัดส่วน ร้อยละ 10.20

ปี 2564-ปัจจุบัน

-ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 49

-โสภณ มีชัย ถือหุ้นสัดส่วน ร้อยละ 40.80

-ประจวบ ศิริเขตร ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 10.20

-มานัส ศรีอนันท์ ลดสัดส่วนเหลือ 3 หุ้น เท่านั้น

พูดง่ายๆ คือ ก่อนหน้านี้ โครงการบริษัทจีน ที่รับก่อสร้างตึก สตง. ในช่วงก่อตั้ง มีคนไทยรายแรก คือ “มานัส ศรีอนันท์” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ต่อมาจึงสลับเป็น “โสภณ มีชัย” ที่เราพบว่าเขามีประวัติเป็นกรรมการบริษัทเกี่ยวกับการขายคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มาจนถึงปัจจุบัน นั่นเอง

“ไชน่า เรลเวย์” บ.โครงสร้างพื้นฐาน ยักษ์ใหญ่จีน

สำหรับ บริษัท China Railway Group Limited หรือ “ซีอาร์อีซี” ก่อตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ.1950 (75 ปี) มีสำนักงานใหญ่ในกรุงปักกิ่ง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับดูแลทรัพย์สินของรัฐภายใต้สภาแห่งรัฐ

“ซีอาร์อีซี” เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจหลากหลายด้าน มากว่า 70 ปี เช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การสำรวจและออกแบบ การติดตั้ง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนทางการเงิน และอื่น ๆ ถือเป็นหนึ่งในบริษัทก่อสร้างครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในจีนและเอเชีย

ที่ผ่านมา “ซีอาร์อีซี” ได้มีบทบาทสำคัญในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟที่สำคัญในประเทศจีน โดยสร้างทางรถไฟรวมระยะทาง 7 หมื่นกว่ากิโลเมตร คิดเป็นมากกว่า 2 ใน 3 ของระยะทางรถไฟทั้งหมดของจีน รวมทั้งรถไฟฟ้าระยะทาง 5 หมื่นกว่ากิโลเมตร คิดเป็น 95% ของเส้นทางรถไฟไฟฟ้าทั้งหมด

ผงะ “บริษัทเหล็กจีน” ไม่ผ่าน “สมอ.” สร้างตึก สตง.

ล่าสุด ประเด็น “ตึก สตง.ถล่ม” ดูจะซับซ้อนขึ้นด้วยเรื่อยๆ เมื่อชุด “สุดซอย” ของ “รัฐมนตรีขิง-เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” รมว.อุตสาหกรรม

ตรวจสอบพบว่า เหล็กเส้นที่ใช้ก่อสร้างอาคาร สตง. ที่พังถล่ม มีแบรนด์เหล็กก่อสร้าง 2 ประเภท มาจากบริษัทเหล็ก สัญชาติจีน ที่ไม่ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.)

และโรงงานถูกสั่งปิดไปเมื่อปลายปี 2567 จากเหตุไฟไหม้โรงงานที่ระยอง และมีผู้เสียชีวิต

เมื่อตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม บริษัทเหล็กสัญชาติจีนในพื้นที่ระยองแห่งนี้ จดทะเบียนด้วยทุน 1,500 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2554 พบมีชื่อชาวจีน และชาวลาวเป็นกรรมการบริษัท

ที่น่าสนใจ คือผู้ถือหุ้น 12 คน เป็นคนไทย 3 คน และคนจีนถึง 9 คน

ในบรรดากรรมการที่เป็นคนจีน 2 คน ยังเป็นกรรมการบริษัทฯอย่างน้อย 7 แห่ง ส่วนใหญ่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเหล็ก นำเข้าบุหรี่และสุรา

นี่จึงอาจเป็นหนึ่ง…ในการประกอบธุรกิจแบบชาวจีน ที่มีทั้งบริษัททัวร์ ผับ ร้านอาหาร อสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงการประมูลงานก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่เรียกได้ว่า “กินรวบ”

ถึงตอนนี้ หากภาครัฐยังไม่ตื่นตัว ไม่ดูแลอาชีพสงวนคนไทย หรือปกป้องสิทธิประโยชน์ของคนไทยเป็นที่ตั้ง!!!

“อนาคต” ลูก-หลานไทย คงต้องบอกว่า ลำบากแน่ๆ

……………..

รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img