โครงสร้างของบริษัทไชน่าเรลเวย์ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจจีน ก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในประเทศ และต่างประเทศสำหรับในประเทศไทย มีบริษัทย่อยที่ดำเนินการ คือ ไชน่าเรลเวย์นัมเบอร์เท็น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จำกัด เป็นกิจการร่วมค้ากับ บริษัทอิตาเลียนไทย ในนาม ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ชนะประมูลการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง งานสัญญาที่ 3-1 งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า
คดีที่เป็นข้อพิพาทนี้ เกิดจากมีกิจการร่วมค้า ทุนก่อสร้างที่เป็นรัฐวิสาหกิจจากมาเลเซีย มาร่วมประมูล และเสนอราคาที่ 9,330 ล้าน ต่ำกว่าไชน่าเรลเวย์ ที่เสนอราคาไว้ 9,349 ล้านบาท หรือ ราวๆ 19 ล้านบาทเศษ

ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์เท็น เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป จึงยื่นฟ้องบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่จากมาเลเซียรายนี้ จนสุดท้าย ศาลปกครองสูงสุด ตัดสินให้พวกเขาชนะคดี
และคดีนี้เอง สะเทือนไปถึงกรมบัญชีกลาง ที่กำหนดคุณสมบัติ “กิจการร่วมค้า” ที่เข้าร่วมประมูลงานรถไฟความเร็วสูงในไทยด้วย โดยศาลปกครองสูงสุด พิพากษาไว้ว่า
1. มีการวินิจฉัยโดยมิชอบ เพื่อพิจารณาคุณสมบัติทุนก่อสร้างจากมาเลเซีย เฉพาะราย
2. มีการยกเว้นหรือผ่อนผัน การไม่ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติการประมูลงานภาครัฐ เป็นการเฉพาะราย
3. ทุนจากมาเลเซีย มาประมูลงานในนามกิจการร่วมค้า แต่อ้างว่าติดขัดในการกรอกเอกสารในระบบ เลยยื่นงานในนามบริษัท จึงขาดคุณสมบัติ
4. เอกสารรับรองว่าเคยก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มาเลเซีย ยื่นมาไม่สมบูรณ์ เพราะไม่ได้รับรองโดยเจ้าของโครงการ ผ่อนผันไม่ได้
ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์เท็น เอ็นจิเนียริ่งกรุ๊ป ต่อสู้ในประเด็นเหล่านี้ จนในที่สุด ศาลปกครองพิพากษายืนให้พวกเขา เป็นผู้ชนะการประมูล แม้ว่าครั้งนั้น จะไม่ได้เป็นผู้เสนอราคา “ต่ำสุด” ก็ตามที เพราะครั้งนั้นทุนก่อสร้างรัฐวิสาหกิจของมาเลเซีย ถูกพิพากษาว่า “ขาดคุณสมบัติ”

ย้อนความร่วมมือรถไฟความเร็วสูง ไทย – จีน
สำหรับรายละเอียดการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทย วารสารวิทย์ไมตรีไทยจีน โดยกระทรวงอุดมศึกษา ฉบับประจำเดือนสิงหาคม 2564 ได้ทำรายละเอียดไว้อย่างน่าสนใจ
โดยโครงการรถไฟจีน-ไทย เป็นโครงการหลักของจีนและไทยในการร่วมกันสร้างตามแนวโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และดำเนินการความร่วมมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของการถไฟสายเอเชีย

มีความยาวเส้นทางทั้งหมด 845 กิโลเมตร โดยความยาวของเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา ในระยะแรกของโครงการ คือ 253.2 กิโลเมตร โดยบริษัทฝ่ายไทย จะดำเนินการก่อสร้างทางวิศวกรรมโยธา
ส่วนฝ่ายจีน โดยบริษัทการรถไฟแห่งชาติจีน ในเครือของบริษัท ไขน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้นำในการดำเนินการในส่วนของของลู่วิ่ง ระบบไฟฟ้า และรถรางไฟฟ้า
วันที่ 4 กันยายน 25607 ระหว่างการประชุมสุดยอดเซียะเหมิน BRICS ที่มีประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมกันเป็นสักขีพยาน การลงนามระหว่าง บริษัทไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ในสัญญาจ้างออกแบบวิศวกรรมโยธาระยะแรก (เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) และสัญญาจ้างเป็นที่ปรึกษา
“ไชน่า” เหลี่ยมทุกดอก จด SME รับสิทธิ “แต้มต่อ” 3%
ถึงตอนนี้ รายละเอียดข้อมูลของไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์เท็น ประเทศไทย จำกัด หลั่งไหลออกมามาก เรียกว่า “น้ำลดตอผุด” จากเหตุการณ์ อาคาร สตง.ถล่มลงมา
โดยตรวจสอบแนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดพัสดุ และวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน ฉบับที่ 2 พ.ศ.2563 โดยกรมบัญชีกลาง

ต้องบอกว่า “เหลี่ยมทุกดอก แล้วบอกเพื่อนกัน” จริงๆสำหรับทุนจีน เพราะระเบียบที่ว่านี้ ออกมาเพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย ให้ได้รับงาน ส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดย่อม อยู่รอดได้
ในข้อ 1.3.5 บอกว่า หากจะมีการจัดซื้อจัดจ้างโดยหน่วยงานรัฐ ในจังหวัดใดก็ตาม ต้องตรวจสอบรายชื่อเอสเอ็มอีในพื้นที่ก่อน หากมีรายชื่อเอสเอ็มอี ไม่น้อยกว่า 3 ราย ให้จัดจ้างจัดจ้างเอสเอ็มอีเหล่านั้น โดยวิธีคัดเลือกก่อน
แต่ถ้าในจังหวัดมีน้อยกว่า 3 ราย เช่นมี 2 ราย ก็ให้ไปเชิญจังหวัดใกล้เคียง อีก 1 ราย มาร่วมการจัดซื้อจัดจ้างที่จะเกิดขึ้น กำหนดเอาไว้ง่ายๆ คือ ต้องมีไม่ต่ำกว่า 3 ราย
แต่สิทธิประโยชน์นี้ ทุนจีนคงไม่สน เพราะเขาเล่นใหญ่ คว้างานประมูลระดับ 100 ล้านขึ้นไป ดังนั้น ท่านผู้ชมดูข้อมูลถัดไป
ในข้อ 2.4 เป็นหัวข้อ การให้ “แต้มต่อ” กับบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
ยกตัวอย่างคือ มีผู้เสนอราคาที่เป็นบุคคลต่างชาติ หรือเอกชนจากต่างชาติ เข้าเสนอราคาแข่งขันกับผู้เสนอราคา ซึ่งเป็นบุคคล หรือเอกชนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
หากผู้เสนอราคาซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทย หรือนิติบุคคลไทย เสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดของผู้เสนอราคาจากบริษัทต่างชาติ ไม่เกินร้อยละ 3 ให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อหรือจัดจ้างจากผู้เสนอราคาซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลไทย
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทต่างชาติ เสนอราคาประมูลต่ำสุดที่ 5 ล้านบาท แต่เอกชนไทย เสนอราคาแพงกว่าเล็กน้อย เช่น 5 ล้าน 1 แสนบาท ก็คิดเป็นสัดส่วน แพงกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เอกชนไทยจึงกลายเป็นผู้ชนะการประกวดราคา เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ สิทธิ ทั้ง 2 ข้อ ของผู้เสนอราคาที่เป็น “กิจการร่วมค้า” มีการกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า
– ผู้เข้าร่วมค้าทุกราย จะต้องเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
– ผู้เข้าร่วมค้าทุกราย จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือนิติบุคคล ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย
นี่คือเหตุผล ที่ส่วนหนึ่ง ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์เท็น ประเทศไทย จำกัด ดัมพ์ราคาตัดคู่แข่งได้ ด้วยการจดทะเบียนเป็นเอสเอ็มอี และมีความจำเป็น ที่ต้องหานอมินีคนไทย มาสวมในบริษัทนั่นเอง
แต่ต้องให้ความเป็นธรรมก่อน เพราะนี่อาจเป็นสิทธิ วิธีบริหารจัดการภาษี ที่ไชน่าเรลเวย์ นัมเบอร์เท็น ประเทศไทย จำกัด ไม่เคยจ่ายภาษีให้ประเทศไทย แม้แต่บาทเดียว เพราะต้องแจ้งขาดทุนตัวแดง ในการดำรงสิทธิ์เอสเอ็มอี (ส่วนบริษัทลูกอื่นๆ จ่ายรวมๆ 8 ล้าน ตามเมื่อวานนี้)
ถึงตอนนี้ ต้องรอฟังทางฝั่งเอกชนจากจีนเจ้านี้ ออกมาชี้แจง เพราะปัจจุบันยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ กับเอกชนทุนจีนรายนี้ด้วยเช่นกัน.
……………..
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม