จากการตรวจสอบบันทึกการประชุม คณะอนุกรรมาธิการแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และธุรกิจคนต่างด้าว ในคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา ที่เตรียมเสนอ ตั้งศูนย์ตรวจสอบและเฝ้าระวังนอมินี หรือ NWVC (เอ็นดับเบิลยูวีซี)
ในที่ประชุม มีการพิจารณาความคืบหน้าแนวทางวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีคนต่างด้าวได้เข้ามาถือครองหรือครอบครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในลักษณะของการค้าที่ดินจำนวนมาก โดยอาศัยช่องทางการเป็นตัวแทนหรือนอมินี ตามที่เคยเสนอไปแล้ว
ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการครั้งนี้ ได้มีการเชิญผู้แทนจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, กรมที่ดิน และ บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหา
กรณีที่บุคคลต่างด้าวเข้ามาถือครองหรือครอบครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในลักษณะของการค้าที่ดินจำนวนมาก โดยอาศัยช่องทางการเป็นตัวแทนหรือ “นอมินี”
จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่า ข้อมูล ณ ในปี พ.ศ.2568 มีบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอยู่ทั้งสิ้น 926,950 บริษัท โดยในจำนวนนี้ มีบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติ 127,522 บริษัท และบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 49 จำนวน 18,288 บริษัท
ทั้งนี้ มีบริษัทที่มีรายการทรัพย์สินประเภทที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ปรากฏอยู่ในงบการเงิน จำนวน 9,102 บริษัท ทาง คณะอนุกรรมาธิการฯจะมีการประสานและนำส่งข้อมูลของบริษัท ที่คาดว่า มีความเสี่ยงต่อการเป็น “นอมินี” ให้ “กรมที่ดิน” ตรวจสอบเพิ่มเติม

ชงตั้งศูนย์ตรวจสอบและเฝ้าระวังนอมินี NWVC
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีความเห็นพ้องต้องกันว่า “การป้องกัน” ย่อมเป็นแนวทางที่ดีกว่า “การแก้ไขปัญหาในภายหลัง” จึงมีข้อเสนอให้จัด ตั้งศูนย์ตรวจสอบและเฝ้าระวังนอมินี หรือ นอมินี แอนด์ วอชท์ลิสต์ แวริฟิเคชั่น เซ็นเตอร์ หรือ NWVC (เอ็นดับเบิลยูวีซี)
เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับ “นอมินี” โดยเฉพาะ ซึ่งมีรูปแบบการดำเนินงานคล้ายกับ “เครดิตบูโร” โดยหลังจากนี้คณะอนุกรรมาธิการฯ เห็นควรเชิญผู้แทนจากกรมการปกครองเข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมพิจารณา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อไป
“ปปง.” เพิ่มความผิดมูลฐาน ฮั้วประมูลงานรัฐ 1 พันล้าน
ขณะเดียวกันเมื่อตรวจร่างกฎหมายพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีการกำหนดความผิดมูลฐานใหม่เข้ามา ที่น่าสนใจคือ เตรียมใช้กฎหมายฟอกเงินกับคดีฮั้วประมูล โครงการรัฐ 1 พันล้านบาทขึ้นไป
ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการกำหนดบทนิยามคำว่า “ความผิดมูลฐาน” ให้ชัดเจนขึ้น และมีการกำหนดความผิดมูลฐานใหม่เข้ามา ที่น่าสนใจ คือ ในข้อ…
22. เป็นเครือช่ายอาชญากรรม โดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดเงินได้พึงประเมินหรือรายได้ เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีอากร เฉพาะที่มีจำนวนภาษีที่หลีกเลี่ยงตั้งแต่ 10 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป หรือจำนวนภาษีที่ขอคืนตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อปีภาษีขึ้นไป
23. ความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การแพร่ขยายอาวุธ ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายฯ
24. ความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่ได้กระทำในลักษณะเป็นเครือข่ายอาชญากรรม และเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย
25. ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกหรือฉ้อโกง หรือประทุษร้ายต่อทรัพย์ หรือกระทำโดยทุจริต ซึ่งกระทำโดยกรรมการ ผู้จัดการ พนักงาน ตัวแทน หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงาน หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานของนิติบุคคล หรือจัดการกองทรัสต์
26. ความผิดเกี่ยวกับการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ตามกฎหมายว่าด้วยการห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ซึ่งผู้กระทำได้ทวงถามหนี้ในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรงหรือกระทำการอื่นใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้
หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด โดยการแสดงหรือการใช้ข้อความ เครื่องหมายสัญลักษณ์ หรือเครื่องแบบที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นการกระทำของศาล
เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการทวงถามหนี้ และได้กระทำในลักษณะเป็นเครือข่ายอาชญากรรม
27. ความผิดเกี่ยวกับการร่วมกันหรือสมยอมในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ข่มขืนใจผู้อื่นให้จำยอม ใช้อุบายหลอกลอกลวง หรือกระทำการโดยวิธีการอื่นใด เป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือให้มีการเสนอราคาโดยหลงผิดหรือกระทำการใดๆ เพื่อกีดกันการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงาน ทั้งนี้ เฉพาะคดีที่มีวงเงินหรือมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาท
โดยขณะนี้ขั้นตอนร่างกฎหมาย ปปง.ฉบับใหม่ อยู่ในวาระการพิจารณาของสภาฯ
……………..
รายงานพิเศษ : ฟำคำราม