เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร มีการหารือพิจารณาแนวทางการพัฒนางานด้าน “นิติทันตวิทยา” หรือ การตรวจสอบตัวบุคคลจากประวัติทำฟัน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านกระบวนการยุติธรรม
มีการหารือร่วมกับ ผู้แทนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์, ผู้แทนทันตแพทยสภา, คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิสชา พิทยพัฒน์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ผู้แทนสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลตามมาตรฐานสากล ประกอบด้วย
1.การตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ
2.การตรวจสารพันธุกรรม
3.การตรวจนิติทันตวิทยา
ปัจจุบันประเทศไทยใช้วิธีการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ และการตรวจสารพันธุกรรม เป็นหลัก เนื่องจากสภาพปัญหาการตรวจทางนิติทันตวิทยาในงานนิติวิทยาศาสตร์มีข้อจำกัด ดังนี้
1.แนวทางการปฏิบัติงานด้านนิติทันตวิทยายังไม่มีความชัดเจน
2.จำนวนผู้เชียวชาญด้านนิติทันตวิทยาในประเทศไทย ยังมีจำนวนไม่เพียงพอ และยังขาดการฝึกอบรมให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานดังกล่าว
3.ขาดการรวบรวมข้อมูลประวัติการรักษาฟันก่อนการเสียชีวิต พบว่าสถานพยาบาลหรือคลินิกทันตกรรมแต่ละแห่ง มีระบบการจัดเก็บข้อมูลทางทันตกรรมที่มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะสถานพยาบาลเอกชน
4.ขาดผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการปฏิบัติงานด้านนิติทันตวิทยาในงานนิติวิทยาศาสตร์
5.ไม่มีหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนให้กับทันตแพทย์ผู้ปฏิบัติงานด้านนิติทันตวิทยา

ผู้แทนจากคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนางานด้านนิติทันตวิทยาร่วมกันว่า
การตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วยวิธีการทางนิติทันตวิทยา ควรมี ระบบ “ฐานข้อมูลกลาง” ในการ จัดเก็บข้อมูลทางทันตกรรม ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลการรักษาทางทันตกรรมของประชาชนได้อย่างครอบคลุม ทั้งในส่วนของสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน
รวมทั้งให้สถานพยาบาลทุกแห่ง จัดเก็บและรักษาข้อมูลทางทันตกรรมไว้อย่างเป็นระบบ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านนิติทันตวิทยาให้กับผู้ปฏิบัติงานด้านกระบวนการยุติธรรรม
โดยเฉพาะพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในการผู้บันทึกข้อมูลเอกลักษณ์บุคคล ศพนิรนามตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หากขาดองค์ความรู้ในด้านนิติทันตวิทยา อาจจะทำให้การจัดเก็บข้อมูลไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
และไม่สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เปรียบเทียบกับข้อมูลศพนิรนามได้ รวมไปถึงผู้แทนทันตแพทยสภามีความเห็นว่า การจัดเก็บข้อมูลเวชระเบียนทางทันตกรรม มีความสำคัญต่อการนำข้อมูลทางทันตกรรม ไปใช้ในการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลด้วยวิธีการทางนิติทันตวิทยา

หลังจากนี้ ทันตแพทยสภา จะได้พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมต้องมีหน้าที่ในการจัดเก็บข้อมูลในเวชระเบียนทางทันตกรรม
ทั้งสถานพยาบาลของภาครัฐและภาคเอกชน ให้มีมาตรฐานเดียวกัน และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเวชระเบียบทางทันตกรรมอย่างเป็นระบบต่อไป
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมกรรมาธิการ พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ควรศึกษามาตรการทางกฎหมาย และแนวทางการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ร่วมกันพัฒนางานด้านตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล ด้วยวิธีการทาง “นิติทันตวิทยา” ให้มีมาตรฐานและครอบคลุมการจัดเก็บข้อมูลทางทันตกรรมได้อย่างครอบคลุมตามมาตรฐานสากล เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านกระบวนการยุติธรรมต่อไป
…………….
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม