“เต่าตนุ-เต่าหญ้า-พยูน-โลมา” เกยตื้นเสียชีวิตไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งในทะเลภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียง สาเหตุถูก “ของมีคม” บาดเป็นแผลลึกบ้าง “ถูกพันรัด” ยากต่อการดิ้นรนเอาชีวิตรอดบ้าง หรือมี “ขยะทะเล” ในทางเดินอาหารจนเกิดภาวะอุดตัน รวมไปถึงสาเหตุจาก “อาหาร” ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต บางตัวกำลังตั้งท้อง
สะท้อนว่า ทะเลวันนี้ไม่พร้อมสำหรับการเลี้ยงลูกในท้องของพวกเขา สาเหตุสำคัญที่ทำให้สัตว์ทะเลหลายชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ ส่วนปะการังหลายเกาะ ก็มีสภาพเสียหาย วิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้นักอนุรักษ์ไม่อาจอยู่เฉย ต่างกำลังพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาธรรมชาติงดงามไว้ให้นานที่สุด
“เผ่าเทพ เชิดสุขใจ” นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต สังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกกับเราว่า “ทช. พยายามโปรโมทหลายพื้นที่ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ภายใต้กรอบการทํางานระหว่างประเทศที่เรียกว่า 30×30 หรือการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ 30% ให้ครอบคลุม 30% ทั่วทั้งโลก ซึ่งแต่ละประเทศต้องพยายามประกาศพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลให้ได้ 30% ของพื้นที่ทางทะเลทั้งหมด”

กลุ่มคนที่จะเข้ามามีบทบาทสําคัญในการทำให้เป้าหมายนี้สำเร็จนั่นก็คือ คนในชุมชนที่อยู่เดิม และ หน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งมีเราในฐานะหน่วยงานรัฐเป็น “พี่เลี้ยง” โดยจะเข้าไปสํารวจก่อนว่า พื้นที่นั้นมีทรัพยากรอะไร และมีการใช้ประโยชน์อย่างไร แล้วเราก็พยายามช่วยในการจัดสรรการใช้ประโยชน์พื้นที่ทางทะเล ซึ่งบริเวณ “เกาะสีชัง” โซนทางจังหวัดชลบุรีได้ทำแล้ว นับเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จและกำลังนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ
ขณะเดียวกันก็ทำคู่กันไปกับการโปรโมท Citizen Science หรือ วิทยาศาสตร์ภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีความรู้และเข้ามามีส่วนร่วมในงานอนุรักษ์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งตอนนี้ก็มีภาคประชาชนช่วยสํารวจสัตว์ทะเลหายาก, สํารวจวิจัยขยะทะเล หรือว่าสิ่งแวดล้อม โดยเราเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เครือข่ายเหล่านี้สามารถช่วยกันรายงานสิ่งผิดปกติเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเล พร้อมกับมีศักยภาพในการเก็บตัวอย่างได้ด้วย

นอกจากนี้ก็มีอีกโครงการ คือ การสร้างนักนิเวศวิทยาทางทะเลให้มีเพิ่มมากขึ้น เพื่อมาทำงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลโดยตรง แต่ก็ไม่ง่ายในการผลิตคนขึ้นมาในแต่ละปี นายเผ่าเทพ บอกว่าบุคลากรในสาขานี้ทั้งประเทศมีถึง 500 คน แต่ก็ไม่เฉพาะสาขานี้มีสาขาอื่นที่นำมาเสริมกัน ทั้ง Data Analysis วิศวกรรมศาสตร์ เพื่อมาช่วยกันทํางานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเล
ส่วนภาคเอกชนตอนนี้ก็เข้ามามีส่วนร่วมอนุรักษ์ท้องทะเลด้วย หนึ่งในโครงการที่ร่วมกันทำมาอย่างต่อเนื่องเป็นการปั้นนักนิเวศวิทยาทางทะเลรุ่นใหม่ โดยรับสมัครเยาวชนทั่วประเทศเพื่อมาเข้า “ค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ภาคฤดูร้อน” ซึ่งทำต่อเนื่องมา 32 ครั้งแล้วตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีเยาวชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการนี้รวมกว่า 950 คน เป็นการร่วมกันทำงานระหว่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กับ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และทช. โดยให้เยาวชนในระดับมหาวิทยาลัยที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลเข้ามาพัฒนาทักษะที่จำเป็น ช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์ทะเลไทย

สำหรับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซึ่งมีส่วนร่วมสำคัญในโครงการนี้ รศ.ดร.ลักษณ์นารา ขวัญชุม รองผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ เสริมว่าค่ายนี้ได้รวบรวมเด็กที่มีความสนใจทั่วประเทศมาศึกษา และฝึกประสบการณ์จริงโดยได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยอื่นในภูมิภาคด้วย เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
“ตอนนี้การหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องง่ายก็จริง แต่เด็กจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าตรงไหนเป็นเรื่องจริง ตรงไหนเป็นการแสดงความคิดเห็น หรือเป็นเรื่องที่เล่าติดต่อกันมา ดังนั้นค่ายฯจะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เป็นเรื่องจริง เป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้เขารู้ว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุณหภูมิที่สูงขึ้น เรื่องโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเรื่องขยะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทะเล และชายฝั่งอย่างไร ทิศทางการอนุรักษ์ควรเป็นอย่างไร”
ค่ายฯที่ออกแบบให้เยาวชนได้ทำงานกับท้องทะเลจริงๆ โดนใจคนรุ่นใหม่ไม่น้อย เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กนักศึกษาหลายคนที่ผ่านการเรียนรู้จากค่ายฯยังทำงานด้านการอนุรักษ์ท้องทะเลต่อ “เผ่าเทพ” เล่าต่อว่า เรามีสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเล ซึ่งทุกๆ 2 ปี จะมีการประชุมสํานักวิชาการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทางทะเล ก็จะได้พบนักวิจัยรุ่นใหม่ และรุ่นเก่าๆ จํานวนมากที่จบจากค่ายนี้ บางคนก็ยังทํางานต่อเนื่องด้านนี้ตลอดมา หลายคนไปเรียนต่อต่างประเทศ เมื่อจบแล้วก็มาทำงานเกี่ยวกับทะเลทั้งของไทย และในระดับโลกด้วย บางคนยังทํางานร่วมกันก็มี
“ค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ภาคฤดูร้อนเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาหรือผู้สนใจที่มาจากต่างภูมิภาค ต่างสายงานได้มาสัมผัสว่าการทํางานทางวิทยาศาสตร์ทางทะเลเป็นยังไง เขาจะมีส่วนช่วยยังไงในอนาคต ทะเลเป็นผืนเดียวกัน ดังนั้นการทํางานด้านนี้จึงเป็นหนึ่งเดียวกันทั่วโลก เพราะผลกระทบจากที่หนึ่งจะส่งผลต่ออีกที่หนึ่ง ค่ายฯถือเป็นจุดเริ่มต้นผลิตนักวิจัยทางทะเลใหม่ๆ เพื่อมาทํางานให้กับประเทศไทย แล้วก็โลกใบนี้”
นอกจากนี้เราก็ยังมีแนวทางผลักดันคนรุ่นใหม่ๆให้เรียนทางด้านนี้โดยตรงด้วย โดยพยายามเพิ่มหลักสูตรลงไปในระดับโรงเรียน ทั้งชั้นประถมและมัธยมเกี่ยวกับเรื่องทะเล และขยายไปยังพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่พื้นที่ติดทะเลด้วย ซึ่งในช่วงทศวรรษปี 2020-2030 เรียกว่าทศวรรษแห่งมหาสมุทร องค์การสหประชาชาติพยายามเน้นการทํางานเกี่ยวกับเรื่องทางทะเล เพื่อบริหารจัดการทางทะเลให้ยั่งยืน เพราะเล็งเห็นว่าปัญหาทางทะเลกำลังวิกฤติ
ทาง “ทช.” เองก็ร่วมมือกับ “สถาบันมหาสมุทรระหว่างประเทศประจำประเทศไทย” (IOI-Thailand) จัดคอร์สที่เรียกว่า Ocean Literacy หรือว่า “สมุทรศาสตร์วิทยา” ให้กับผู้สนใจ เป็นคอร์สออนไลน์ภาษาไทยจัด ปีละ 2 ครั้งมีครูประจําโรงเรียนประถมต่างๆที่สนใจเข้ามาเรียนออนไลน์ไม่น้อย เพื่อนำองค์ความรู้ทางทะเลมาอธิบายให้เด็กฟัง และยังมีคอร์สอินเตอร์ด้วย โดยเชิญบุคลากรที่ทํางานเกี่ยวกับทะเลจากประเทศอื่นๆ มาเข้าร่วมอบรม มีวิทยากรจากประเทศต่างๆที่ทํางานทางด้านนี้มาสอนเกี่ยวกับนโยบายทางทะเล หรือภาพองค์รวมทางทะเล และแนวทางการทํางานร่วมกัน เป้าหมายเพื่อให้ระดับผู้บริหารมีความเข้าใจและกลับไปสานงานต่องานทางด้านทะเล
รศ.ดร.ลักษณ์นารา ช่วยย้ำกับเราว่า การที่ทุกภาคส่วนช่วยกันและทำงานร่วมกันทั้งภาคเอกชน ภาคการศึกษา รวมถึงหน่วยงานของภาครัฐอย่างโครงการ ค่ายนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อน ถือว่ามาถูกทางแล้ว ที่อยากฝากเพิ่มเติมก็คือ ขยะจากท้องทะเล เพราะขยะเกิดจากทะเลจริงๆ แค่ 20% แต่อีก 80% มาจากบนบกดังนั้นการแก้ที่ทะเลเป็นปลายทางอาจจะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรต้องสร้างความตระหนักตั้งแต่การแยกขยะ

สำหรับการเปิดท่องเที่ยวแบบเต็มพิกัดของไทยเพื่อหารายได้จากการท่องเที่ยว รศ.ดร.ลักษณ์นารา มองว่า ทำอย่างไรให้เราเปิดรับนักท่องเที่ยวสาย Green หรือนักท่องเที่ยว Low Carbon เข้ามา ยกตัวอย่างงานวิจัยที่กระบี่ที่พบว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยตั้งใจเลือกที่พักที่บ่งบอกว่าโรงแรมใส่ใจสิ่งแวดล้อม หรือว่าแพ็คเกจการท่องเที่ยวแบบ Carbon Neutrality ช่วยให้นักท่องเที่ยวร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลปกป้องทรัพยากร และแน่นอนว่าเยาวชนที่ผ่านจาก ค่ายฯจะช่วยเป็นกระบอกเสียงในการอนุรักษ์อีกทางหนึ่ง

กลุ่มเยาวชนที่ผ่านค่ายนี้ไปแล้ว ไม่เคยลืมประสบการณ์การทำงานด้านการอนุรักษ์ที่สัมผัสได้จริง “ดร.สืบพงศ์ สงวนศิลป์” อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เป็นอีกคนที่เป็นศิษย์เก่าค่ายนิเวศวิทยาฯ เล่าให้ฟังว่า “เป็นนักศึกษาที่ได้มาค่ายฯ ตั้งแต่รุ่นที่ 13 เพราะเรียนทางวิทยาศาสตร์แล้วก็ชอบทะเลมาตั้งแต่ต้น พอรู้ว่ามีค่ายก็เลยสมัครเข้ามา ตอนนั้นได้มาเรียนกับ ดร.ปิติวงษ์ ตันติโชดก ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งทำให้มีความรู้ทางทะเล มีความรักแล้วก็เข้าใจทะเลมากขึ้น และทุกคนที่เคยเข้าร่วมค่ายก็อยากกลับมามีส่วนร่วม มาช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับน้องๆ อย่างไรก็ตามการอนุรักษ์ทะเล ไม่ใช่ว่าแค่คนที่ศึกษาทะเลที่ต้องมาทำหน้าที่นี้เท่านั้น แต่ทุกคนมีส่วนช่วยกันได้”

เราได้มีโอกาสคุยกับเยาวชนที่มาเข้าร่วมในค่ายฯล่าสุดซึ่งถูกจัดเป็นครั้งที่ 32 แล้ว พวกเขาต่างรักทะเลเป็นทุนเดิม และอยากมีส่วนร่วมอนุรักษ์ท้องทะเลอย่างเต็มกำลัง “น้องนัทถั่ว-ณัฐญาดา ถั่วสวัสดิ์” นักศึกษาปริญญาโท จากคณะสิ่งแวดล้อม สาขาการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ก็เช่นกันชอบทะเลมาตั้งแต่เด็ก เธอมุ่งมั่นอยากจะอนุรักษ์ปะการัง เพราะทราบดีว่ากำลังวิกฤติ และเห็นว่าคนทำงานด้านนี้มีน้อยเกินไป จึงอยากมีส่วนในภารกิจนี้

ส่วน “นัชชา ปันทะนัน” นักศึกษาปริญญาตรี ปีที่ 4 เอกวิทยาศาสตร์การประมง สาขาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แม้จะเป็นคนภาคเหนือ แต่ก็รักและสนใจท้องทะเล อยากรู้ว่าลึกลงไปในทะเลมีสิ่งใดบ้าง เพราะเชื่อว่าในทะเลมีสิ่งมีชีวิตที่ยังหาไม่พบอีกมาก เธออยากเป็นผู้ค้นพบสิ่งนั้น

“แจ๊ก-กิตติพัฒน์ ใจกาวิล” นิสิตปริญญาโท จากภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตรโลกศาสตร์ อยากค้นหาเช่นกันว่าโลกใบนี้ หรือในท้องทะเลผืนนี้มีอะไรบ้าง
เขาบอกว่า การเรียนรู้ที่ค่ายทำให้เข้าใจทะเลมากขึ้น เขาเคยอ่านหนังสือว่าโลกเป็นดาวเคราะห์ที่พิเศษกว่าดาวเคราะห์อื่นๆ มีโลกเท่านั้นที่มีสิ่งมีชีวิต อะไรที่ทำให้โลกไม่เหมือนที่อื่น จึงเป็นเรื่องน่าสนุกในการค้นหา

สำหรับ ไตเติ้ล” ธีรเมธ ดับปาล นักศึกษา ปริญญาตรีปี 3 สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศเเละนวัตกรรมดิจิทัล สาย Data Science มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งไม่ได้เรียนสาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาโดยตรง แต่ก็สนใจข้อมูลเกี่ยวกับท้องทะเล
เขาบอกว่า ข้อมูลทางทะเลมีเยอะมากและหลายแง่มุม ทั้งแหล่งอาหาร ธุรกิจ และความมั่นคงของประเทศ ขณะที่นักวิชาการด้านข้อมูลที่มาทำงานด้านทะเลมีน้อย หากมีคนทำงานด้านนี้มากขึ้น ข้อมูลจากท้องทะเลก็จะออกมามากขึ้น นำไปสู่การบริหารจัดการได้อย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันก็ควรมีนักสื่อสารที่สามารถนำเรื่องวิทยาศาสตร์ทางทะเลมาเผยแพร่ด้วยภาษาง่ายๆอีกทางหนึ่ง

“เราพบด้วยตัวเองจากการมาที่ค่ายฯว่ามีไมโครพลาสติกอยู่ในท้องทะเล ไม่ว่าจะเป็นไนลอน หรือยางผูกผม ดังนั้นทุกคนต้องตระหนักรู้ว่าขยะมาจากทุกคน เราจึงต้องช่วยกันรักษาทะเล อย่าคิดว่าเราเป็นเพียงคนๆหนึ่ง เพราะการปรบมือให้ดังต้องมาจากนิ้วทั้ง 5 และสองมือที่สอดประสานกันทำงาน ง่ายๆ คือ ไม่ทิ้งสิ่งของลงทะเล และช่วยกันเก็บขยะ ที่สำคัญคือจำเป็นต้องควบคุมนักท่องเที่ยวที่มาทะเลอย่างเข้มงวดด้วย”
……………
รายงานพิเศษ : ศรัญญา ทองทับ