หลังจากเมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีเสียงปืนดังหลายครั้งเป็นระยะๆ ในเขต สปป.ลาว ตรงกันข้าม อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย โดยเสียงปืนยังดังในหลายจุดและคาดการณ์ว่า ดังมาจากพื้นที่บ้านพูผามน เมืองปากทา แขวงบ่อแก้ว ติดกับแม่น้ำโขงที่ไหลไปจากชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน อ.เวียงแก่น
นอกจากนี้ เสียงการสู้รบยังดังบริเวณตรงกันข้ามกับตำบลปอ อ.เวียงแก่น อีกหลายจุดติดต่อกันหลายครั้ง ซึ่งเสียงปืนดังกล่าวเกิดจากกองกำลังติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายบุกเข้าโจมตีฐานทหารของ สปป.ลาว
ผลจากการยิงปะทะกันดังกล่าว ทำให้มีหัวกระสุนปืนขนาด 7.62 มม.ตกลงมาในฝั่งไทย 1 นัด โดยตกทะลุหลังคาบ้านของชาวบ้านในหมู่บ้านร่มฟ้าผาหม่น หมู่ 15 ตำบลปอ แต่ไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย คาดว่าหัวกระสุนดังกล่าว เกิดจากการยิงปะทะกัน

“พล.ต.กิดากร จันทรา” ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง จึงสั่งการให้ “พ.อ.ไพรัช ศรีไชยวาล” ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 31 กองกำลังผาเมือง ติดตามสถานการณ์ชายแดน ไทย-ลาว ด้านตรงข้าม อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย อย่างใกล้ชิด
นี่เป็นเพียงเสี้ยวปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนประเทศไทย ที่มีชายแดนติดกับเพื่อนบ้านยาวกว่า 5 พันกิโลเมตร บางพื้นที่ก็ทับซ้อน เพราะยังไม่มีการจัดทำหลักเขตแดน จึงเกิดพื้นที่ ที่เรียกว่า “พื้นที่อ้างสิทธิ” อยู่ 230 จุดทั่วประเทศ ทำให้มีการบุกรุก ข้ามเขตโดยผิดกฎหมาย
ยกตัวอย่างเช่น “กองกำลังว้า” มีการวางกำลังบนสันแดนหลายจุด พื้นที่เป็นป่าภูเขา ไม่มีแนวเขตรั้วแสดงอาณาเขต การจะนำกำลังของไทยเข้าไปวางกำลังก็ประสบปัญหา ยกตัวอย่างให้เห็นเร็วๆ นี้ ก็คือ กรณีของปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาควาย กรณีของช่องบกที่มีการเผาศาลาตรีมุข
ต้องบอกว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเพราะ ฝ่ายไทย…ไม่มีเส้นทางสำหรับเข้าไปลาดตระเวน เนื่องจากมีปัญหาการขอสร้างเส้นทางนั้นยากมาก ต้องผ่านขั้นตอนหลายอย่าง จึงมีการหารือกันในเรื่องนี้ ใน กมธ.การทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา ไปเมื่อเร็วๆ นี้
“ตัวแทนจากกรมยุทธการทหารบก” ให้ข้อมูลสำคัญว่า ประเทศเพื่อนบ้านมีเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ชายแดนตลอดแนวแล้ว ดังนั้น กองทัพบกเล็งเห็นว่า มีความสำคัญที่จะต้องมีเส้นทางสำหรับเข้าพื้นที่ ให้ทันต่อสถานการณ์ในการรักษาอธิปไตย

สำหรับใน พื้นที่ของกองกำลังนเรศวร รวมถึง เส้นทางของพื้นที่กองกำลังผาเมือง ที่จ.ตาก และจ.แม่ฮ่องสอน ตรงหน้าแนวมีกองกำลังต่างๆ มาวางกำลังอยู่หน้าแนวดังกล่าว แต่ฝ่ายไทยไม่สามารถนำกำลังเข้าไปวางได้ เพราะเราไม่มีเส้นทางเข้าถึงพื้นที่
ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าและภูเขา สภาพภูมิอากาศปิดเกือบทั้งวัน จึงขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เราพยายามจะขอสร้างถนนความมั่นคงตามแนวชายแดน แต่ขั้นตอนภาครัฐมีความยุ่งยากมาก
หากไม่มีเส้นทางดังกล่าว เมื่อมีสถานการณ์เกิดขึ้น จะทำให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบในหลายด้าน เราจะเข้าพื้นที่ได้ยาก ส่วนอีกฝ่ายสามารถเข้าพื้นที่ได้ง่ายและรวดเร็วมาก เมื่อสัดส่วนความเร็วในการปฏิบัติการไม่เท่ากัน ฝ่ายที่มีความรวดเร็วกว่า จะได้เปรียบมาก
“ตัวแทนจากหน่วยเฉพาะกิจสิงหนาท” รับผิดชอบชายแดนแม่ฮ่องสอน ได้ยกตัวอย่างการเดินทางจาก “ฐานปากแปก-โหลาง” ประมาณ 4 กิโลเมตร ใช้การเดินเท้าและรถจักรยานยนต์วิบากเท่านั้น ต้องใช้รถไถปรับพื้นที่ เพื่อให้สามารถเข้าพื้นที่ได้ เป็นต้น แต่ถ้าฤดูฝน เรียกว่า แทบเข้าพื้นที่ไม่ได้เลย
ส่วนเส้นทางต่อมาจากบ้านแอโก๋-อำเภอปางมะผ้า-อำเภอปาย เป็นเส้นทางหลักที่จะเชื่อมจุดต่างๆ ที่สำคัญ ประมาณ 22 กิโลเมตร เดิมเป็นเส้นทางที่ใช้รถไถเปิดทางไว้ การเดินทางใช้ได้เฉพาะรถจักรยานยนต์เท่านั้น รถยนต์เข้าไม่ได้ หากเกิดอะไรขึ้น แน่นอนว่าย่อมส่งกำลังบำรุง ไม่ทันการ
เพราะการเดินทางจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะต้องใช้เส้นทาง 0195 อ้อมมาเข้าทางอำเภอปาย และวกเข้าพื้นที่ ต้องใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ในขณะเดียวกันในพื้นที่ตรงข้ามดอยหัวม้า “กองกำลังว้า” ได้ทำเส้นทางเพื่อเข้าพื้นที่ไว้ทั้งหมดแล้ว

“ตัวแทนจากสำนักอุทยานแห่งชาติ” ชี้แจงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งจากหน่วยงานใช้กฎหมายคนละฉบับ แต่เสนอความร่วมมือว่า ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาติ สามารถใช้มาตรา 22 และมาตรา 23 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 แก้ไขได้ ดังนี้
แนวทางที่ 1 ใช้ มาตรา 22 เมื่อมีเส้นทางที่ทำไว้เดิมอยู่แล้ว สามารถซ่อมแซมหรือปรับปรุงได้ในแนวเขตเส้นทางเดิม ตรงนี้สามารถทำตามความเร่งด่วนได้ ฝ่ายความมั่นคงหารือกับหัวหน้าอุทยานได้เลย เพราะอธิบดีมอบอำนาจให้หัวหน้าอุทยานจัดการ แต่ต้องไม่มีการขยายถนน หรือตัดต้นไม้
แนวทางที่ 2 คือ มีการขยายถนนที่มีอยู่เดิม หรือมีการทำถนนขึ้นมาใหม่ ต้องดำเนินการตามมาตรา 23 เป็นการดำเนินการร่วมโดยหัวหน้าหน่วยในพื้นที่ ถ้าเป็นถนนที่เปิดใหม่หรือมีการขยายถนนเพิ่มจากเดิม ตรงนี้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ย้อนมติ ครม. ห้ามตัดถนนเพิ่มเขตอุทยาน-ป่าไม้
แต่การดำเนินการดังกล่าวจะขัดกับ “มติ ครม.” ที่มีมติเมื่อวันที่ 13 พ.ย.2550 สรุปสั้นๆ คือ ไม่ให้มีการสร้างถนนขึ้นมาใหม่ ไม่ให้มีการขยายถนนเดิม ดังนั้น ต้องไปขอยกเว้น “มติ ครม.” ดังกล่าวก่อน เสร็จแล้วจึงมาขอยื่นตามมาตรา 23 ได้
ดังนั้นแนวทางที่เป็นไปได้รวดเร็วที่สุด คือ อาศัยอำนาจตามมาตรา 22 ยกตัวอย่างที่ผ่านมา กองทัพได้ขอปรับปรุงถนนในพื้นที่เขา เป็นการปรับปรุงถนนที่มีอยู่เดิม ก็ดำเนินการเสร็จอย่างรวดเร็ว เป็นต้น ทางกระทรวงให้ความร่วมมือกับหน่วยงานด้านความมั่นคง

สอดคล้องกับ “ผู้แทนกรมสัตว์ป่าและพันธุ์พืช” ชี้แจงว่า กระบวนการก่อสร้างหรือปรับปรุงถนน ก็จะคล้ายกับของกรมอุทยานแห่งชาติ ใช้กฎหมายคนละฉบับก็จริง แต่ใช้หลักการในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเหมือนกัน กล่าวคือ
1.ถ้ามีเส้นทางที่มีอยู่เดิม และต้องการช่อมแชมหรือปรับปรุงโดยไม่มีการขยายถนน ไม่มีการตัดต้นไม้ สามารถดำเนินการได้โดยให้หน่วยในพื้นที่ประสานกับหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อขออนุญาตดำเนินการ กำหนดกรอบดำเนินการไว้ใน 45 วัน
2.ถ้าต้องการสร้างเส้นทางขึ้นมาใหม่ ประเด็นนี้ก็จะเชื่อมกับมติ ครม. เมื่อวันที่ 13 พ.ย.2550 กล่าวคือ ต้องขอยกเว้นมติดังกล่าวก่อน เมื่อ ครม.เห็นชอบให้ยกเว้นแล้ว ก็สามารถเสนอเป็นโครงการร่วมกับหัวหน้าเขต และเสนอตามลำดับให้อธิบดีกรมอนุมัติอนุญาตได้
เสนอ “ป่าไม้-อุทยาน” เร่งสร้าง 13 ถนนยุทธศาสตร์ รับมือความมั่นคงชายแดน
หลังจากนั้น ที่ประชุมเสนอ โดยยกตัวอย่าง “เส้นทางยุทธศาสตร์ 13 เส้นทาง” ที่ควรเร่งดำเนินการ เพราะมีความสำคัญเร่งด่วน เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาในการเผชิญหน้ากับกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ดังนี้
1.เส้นทางหมู่บ้านโอปังโกว์ ต.ไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ 5.8 กิโลเมตร ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา
2.เส้นทางบ้านโนนสว่างพัฒนา ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ 6.4 กิโลเมตร อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร
3.เส้นทางบ้านสันติสุข ต.บักดอง อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก
4.เส้นทางบ้านโนนแสงเพชร ต.โคกสะอาด อ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม
5.เส้นทางบ้านบูสะลอน ต.เขาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ 2.5 กิโลเมตร ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร
6.เส้นทางบ้านสะแก ต.ไรไม่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร
7.เส้นทางบ้านห้วยเฮี้ยะ ต.ปางมะผ้า อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสันปันแดน
8.เส้นทางบ้านปางคลอง ตำบลนาบุญอ้อม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เขตอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกป่าเสื่อ
9.เส้นทางบ้านน้ำภูผาเสื่อ ต.นาบุญอ้อม อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน 25 กิโลมตร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสันปันแดน
10.เส้นทางบ้านแปกแซม ต.ปิง อำเภอปิง จ.เชียงใหม่ 3 กิโลเมตร เขตอุทยานแห่งชาติผาแดง
11.เส้นทางบ้านแม่หาด อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ 5 กิโลเมตร อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง
12.เส้นทางบ้านอรุโณทัย ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ 1.5 กิโลเมตร เขตอุทยานแห่งชาติผาแดง
13.เส้นทางบ้านแกน้อย ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เขตอุทยานแห่งชาติผาแดง

โดยยึดการจัดลำดับตามความสำคัญ เช่น “กองทัพบก” ให้ความสำคัญทางแนวชายแดนกัมพูชา ดังนั้นพื้นที่แม่ฮ่องสอนก็จะมีความสำคัญเร่งด่วนรองลงมา แต่ถ้ามีเรื่องภัยคุกคามจาก “กองกำลังว้า” ก็อาจแบ่งความเร่งด่วนให้ทางชายแดนกัมพูชา 2 เส้นทาง ให้แม่ฮ่องสอน 1 เส้นทาง เป็นต้น
ด้าน “พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา” ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้สรุปว่า ขอฝากให้ฝ่ายทหาร ดำเนินการจัดทำข้อมูลและข้อเท็จจริง ประสานหน่วยงานอื่นในพื้นที่ เพื่อสามารถนำไปพิจารณาดำเนินงานตามกรอบหน้าที่ ให้การสร้างถนนยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคง ตามลำดับความสำคัญเร่งด่วนต่อไป
…………
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม