การ “ของบประมาณ” กว่า 1 พันล้านบาท เพื่อ “ปรับปรุงรัฐสภา” กลายเป็น ประเด็นใหญ่ โดยเมื่อวันก่อน เลขามูลนิธินายช่างไทยใจอาสา ได้ยื่นเรื่องถึง “ประธานรัฐสภา” ให้ตรวจสอบ ความคืบหน้าโครงการความปลอดภัยอาคารรัฐสภา
“วสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์” เลขาธิการมูลนิธินายช่างไทยใจอาสา และอดีตนายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร ได้ยื่นหนังสือต่อ ประธานรัฐสภา เพื่อสอบถามแนวทางและความคืบหน้าในการแก้ไขข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยในอาคารรัฐสภาแห่งใหม่
พร้อม สรุปประเด็นบ่งชี้อันตรายที่ตรวจพบ ออกเป็น 8 หมวด รวมทั้งสิ้น 191 ข้อบกพร่อง ซึ่งมีหลายรายการที่จัดอยู่ในระดับ “อันตรายมาก” อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ใช้อาคารและผู้ปฏิบัติงานนั้น
โดยอ้างอิงผลตรวจสอบเมื่อ วันที่ 11 ธันวาคม 2563-19 กุมภาพันธ์ 2564 ตัวอย่างข้อบกพร่องที่สำคัญ บางอย่างก็มีการแก้ไขไปแล้ว แต่บางอย่าง…ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ตลอดจนความคืบหน้าในการประสานงานกับผู้รับผิดชอบงานก่อสร้าง และหน่วยงานความปลอดภัยอาคาร เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและตรงตามข้อกำหนดของกฎหมายและมาตรฐานวิชาชีพ
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และแจ้งแนวทางหรือแผนการดำเนินการให้คณะกรรมการฯทราบ เพื่อร่วมกันติดตาม ตรวจสอบ และส่งเสริมให้รัฐสภาแห่งใหม่เป็นสถานที่ราชการต้นแบบด้านความปลอดภัยอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ในวันที่ 8 พฤษภาคม “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” ประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ “ภคมน หนุนอนันต์” พร้อม “วสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์” จะออกมาร่วมแถลงปมใหม่ที่พบ ความผิดปกติของการก่อสร้างอาคารรัฐสภา ที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย
ที่ก่อนหน้าเคยเสนอต่อสำนักเลขาธิการสภา ก่อนเซ็นรับมอบงานแล้ว แต่ผ่านมาถึงปี 2568 ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข อาทิ ประตูหนีไฟ ที่ถูกปิดตายไปแล้ว ท่ามกลางคำถาม มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่กันไฟ แต่ผ่านการรับงานมาได้อย่างไร
น้ำจิ้ม 10 จุด “รัฐสภา” ไม่ผ่านมาตรฐาน-เสี่ยงอันตราย
เรานำเสนอปัญหาบางอย่างที่มีการตรวจพบ เพื่อประโยชน์สาธารณะโดยรวม หากผ่านมา 4 ปี แล้วจุดไหนที่บกพร่องยังไม่มีการแก้ไข ก็อาจเกิดคำถามได้
1.การใช้วัสดุตกแต่งภายในบันไดหนีไฟ
พบเป็นวัสดุที่อาจติดไฟได้ง่าย โดยไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ข้อ 23 และ 26 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522
2.การปิดประตูบันไดหนีไฟหลายจุด
พบการนำไม้มาขัดไว้ ประตูหนีไฟ ถูกล็อก เปิดไม่ได้ เพราะถ้าเปิดเข้าไป จะพบว่าการสร้างประตูหนีไฟ ใช้วัสดุไม่ทนไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงมีการปิดไว้ไม่ให้เห็นความผิดปกติข้างใน
เรื่องนี้สำคัญ เพราะทำให้ไม่สามารถใช้งานเป็นทางหนีไฟได้ตามวัตถุประสงค์ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยอัคคีภัยและกฎหมายที่กำหนด

3.ห้องระบบไฟฟ้า
เมื่อรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าแล้ว ไม่ควรใช้เป็นห้องเก็บวัสดุก่อสร้าง วัสดุติดไฟได้จำนวนมาก ก่อสภาพเสี่ยงอัคคีภัย เพราะทำให้การลุกลามของไฟรุนแรงขึ้น และควรแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน
4.ไม่มีระบบป้องกันควัน
ไม่มีการปิดกั้นพื้นที่ ป้องกันการแพร่กระจายควัน ก่อผนังทนไฟชนเพดาน ทำให้การแพร่กระจายควันไฟ ขยายพื้นที่อย่างรวดเร็ว ต้องแก้ไขกันพื้นที่ด้วยวัสดุทนไฟตามมาตรฐาน
5.ปัญหาบันไดหนีไฟ
มีบันไดหนีไฟ 30 บันได ที่มีความกว้างสุทธิในบันไดหนีไฟ ต่ำกว่า 1,100 มิลลิเมตรตามที่มาตรฐานกำหนด อาจเกิดการแออัด ส่งผลให้การอพยพหนีไฟล่าช้า
6.วัสดุที่ใช้กับบันไดหนีไฟ
พบมีการติดตั้งวัสดุ ช่องบันไดหนีไฟ ที่ไม่สามารถทนไฟได้ในอัตราทนไฟเท่ากับผนังบันได 2 ชั่วโมง หากเกิดเพลิงไหม้ จะทำให้บริเวณนี้ไม่สามารถทนต่อความร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้ระบบอัดอากาศ รวมถึงสมรรถนะของบันไดหนีไฟลดลง
7.สายดับเพลิง
พบสายดับเพลิงที่ชั้น 5 ห้องลิฟต์ ติดกับสนามกีฬา สายยาวไม่ถึงกลางสนามกีฬาฝั่ง สว. อาจไม่สามารถป้องกันเพลิงไหม้ได้ทั่วพื้นที่
8.ความลาดชัน บันไดสัญจร
พบว่าบันไดสัญจร มีความลาดชัน และมีขนาดกว้างไม่มีราวจับตามมาตรฐาน และเส้นทางนี้เป็นส่วนของเส้นทางหนีไฟของอาคารจากชั้น B1 อาจเกิดการพลิกตกขณะขึ้นลงได้ ควรเพิ่มราวบันไดในช่วงกลาง

9.ราวกันตกไม่ได้มาตรฐาน
พบว่าราวกันตกมีความสูงเพียง 60 เซนติเมตร ต่ำกว่ามาตรฐานกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ทำให้เสี่ยงอันตรายพลัดตกจากที่สูง ต้องเสริมราวกันตกให้ได้มาตรฐาน
10.ที่นั่งสื่อมวลชน
พบว่าเต้ารับไม่ได้เดินสายดิน อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน ขัดกับมาตรฐานความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
ต้องย้ำอีกทีว่า ในบางพื้นที่ บางจุด บางตอน ก็มีการปรับปรุง ป้องกันแก้ไขไปแล้ว แต่ในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ จะมีความชัดเจน จากการแถลงใหญ่ของพรรคประชาชน และอดีตผู้ตรวจสอบอาคารรัฐสภา ที่ต้องติดตามรายละเอียดกันอย่างใกล้ชิด
…………..
รายงานพิเศษ : ฟ้าคำราม