วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEทุ่ม 1.1 แสนล้าน ดัน‘แลนด์บริดจ์’ ปูทางสู่ศูนย์กลางขนส่งอาเซียน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ทุ่ม 1.1 แสนล้าน ดัน‘แลนด์บริดจ์’ ปูทางสู่ศูนย์กลางขนส่งอาเซียน

กระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 ราว 1.1 แสนล้านบาท สำหรับลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานปูทางสนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทาง การขนส่งอาเซียน ซึ่งกระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการเตรียมโครงข่ายให้พร้อมทั้งทางบก ราง อากาศ และทางน้ำ โครงข่ายทางบกจะเป็นลำดับความสำคัญที่สุด โดยเฉพาะ โครงการพัฒนาเส้นทางแลนด์บริดจ์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางอาเซียน เป้าหมายของกระทรวงจึงต้องการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทุกโหมด ให้สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการเดินทางของอาเซียน ดังนั้น ไทยต้องพร้อมทั้งทางบก ราง อากาศ และทางน้ำ ซึ่งปัจจุบันทางน้ำไทยมีความพร้อมทางทะเล ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เหลือการสร้างการเชื่อมต่อการเดินทางจากมหาสมุทรอินเดียมาอ่าวไทย

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

ทั้งนี้การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้นในปี 2565 กระทรวงคมนาคม ได้เบิกจ่ายงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันทางกระทรวงคมนาคมยังได้เตรียมจัดหาแหล่งเงินจากช่องทางอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) การระดมทุนจากกองทุนฟิวเจอร์ฟันด์ และแหล่งเงินกู้จากสำนักงานบริหารหนี้ ซึ่งวิธีการจัดหาแหล่งเงินทุนทั้ง 3 แหล่งนี้ จะมาเติมเต็มงบประมาณที่ลดลงในปี 2565 ทำให้เกิดการลงทุนจากโครงการภาครัฐมากกว่างบประมาณที่ได้รับจัดสรร 1.1 แสนล้านบาท

ขณะที่งบประมาณปี 2564 จำนวน 1.8 แสนล้านบาท ปัจจุบันได้เบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 9 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 50% ปัจจุบันทุกหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมกำลังดำเนินการเร่งเบิกจ่ายให้ได้ครบตามจำหน่วย เพื่อเร่งลงทุนตามแผนที่สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางของอาเซียน

“แลนด์บริดจ์โครงการสำคัญหนุนไทยเป็นฮับ”

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า โครงการที่จะสนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทาง และการขนส่งอาเซียนนั้น โครงข่ายทางบกจะเป็นลำดับความสำคัญที่สุด โดยเฉพาะโครงการพัฒนาเส้นทางแลนด์บริดจ์ ซึ่งขณะนี้ทูตและนักลงทุนหลายประเทศเข้ามาสอบถามเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่ามีคนสนใจมาก ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้ย้ำเสมอว่าในที่สุดการลงทุนเหล่านี้ก็จะเป็นการเปิดพีพีพี เปิดในรูปแบบการลงทุนนานาชาติ

ทั้งนี้โครงการแลนด์บริดจ์นั้นเป็นโครงการในแผนงานปี 2564 ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องเดินหน้า หลังได้ที่ปรึกษาแล้ว โดยในขณะนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่หร่างดำเนินการศึกษา โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จกลางปี 2565 ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมจะเร่งสรุปผลศึกษา เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการเปิดประมูลให้ได้ภายในปี 2565 โดยช่วงระหว่างดำเนินการศึกษานั้นจะดำเนินการควบคู่ขนานไปกับทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) จะให้เอกชนทั้งไทยและต่างชาติร่วมลงทุน PPP เหมือนโครงการใน EEC

อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 100,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างท่าเรือฝั่งจ.ระนอง และฝั่งจ.ชุมพร การก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) การก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ขนานไปกับมอเตอร์เวย์ ระยะทาง 120 กิโลเมตร รวมถึงมีการขนส่งท่อน้ำมันที่กระทรวงคมนาคมจะศึกษาและให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้ดำเนินการต่อไป ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของการเดินทางขนส่งของอาเซียน

“โครงการแลนด์บริดจ์จากผลศึกษาของกระทรวงคมนาคมไม่จำเป็นต้องขุดคลองเพื่อเชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันเพราะใช้เงินลงทุนมหาศาล ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยการลงทุนในปัจจุบันสามารถเชื่อมต่อได้ผ่านแลนด์บริดจ์ โดยแต่ละฝั่งทะเลจะมีท่าเรือน้ำลึก และเชื่อมต่อผ่าน MR-Map หรือการเชื่อมต่อด้วยโครงข่ายทางถนนมอเตอร์เวย์ และรถไฟ โดยเลือกใช้เส้นทางที่มีระยะสั้นสุด เพื่อผลักดันให้เป็นเส้นทางโลจิสติกส์ใหม่ของภูมิภาคอาเซียน จากเดิมที่ต้องใช้ช่องแคบมะละกา สำหรับการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ปัจจุบัน ครม.ได้อนุมัติงบศึกษาโครงการแล้ว ปีหน้าจะได้เห็นภาพรวมของแลนด์บริดจ์ว่าจะเป็นอย่างไร”

“เชื่อมโยงเครือข่ายมอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่”

นอกจากนี้จะเร่งผลักดันให้เกิดโครงข่ายมอเตอร์เวย์ เส้นทาง…นครราชสีมา-อุบลราชธานี ระยะทาง 301 กิโลเมตร, หนองคาย-แหลมฉบัง ระยะทาง 490 กิโลเมตร, เชียงราย-สงขลา ระยะทาง 1,660 กิโลเมตร, บึงกาฬ-สุรินทร์ ระยะทาง 470 กิโลเมตร, ตาก-นครพนม ระยะทาง 710 กิโลเมตร, กาญจนบุรี-อุบลราชธานี ระยะทาง 830 กิโลเมตร, กาญจนบุรี-สระแก้ว ระยะทาง 310 กิโลเมตร, กาญจนบุรี-ตราด ระยะทาง 220 กิโลเมตร, ภูเก็ต-สุราษฏร์ธานี ระยะทาง 190 กิโลเมตร และระนอง-ชุมพร ระยะทาง 120 กิโลเมตร รวมถึงการลงทุนก่อสร้างเส้นทางวงแหวนรอบ 3 กรุงเทพมหานคร ทั้งหมดนี้คาดว่าในปี 2565 จะเห็นรูปแบบที่ชัดเจนของเส้นทางเหล่านี้ และงบประมาณการลงทุน

นอกจากนี้แล้วการพัฒนารถไฟทางคู่ ก็เป็นโจทย์สำคัญที่จะช่วยยกระดับการเป็นศูนย์กลางการเดินทางอาเซียน และเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยเส้นทางรถไฟทั่วประเทศไทยจะต้องเป็นทางคู่ เพื่อสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ทางรางในสัดส่วน 30% ของการขนส่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันโครงการรถไฟทางคู่ เฟส 1 จำนวน 7 โครงการนั้นดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว 2 โครงการ และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอยู่ 5 โครงการ ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ เฟส 2 อีก 7 โครงการ วงเงินรวมกว่า 2.71 แสนล้าน คาดว่าจะดำเนินการประมูลได้ในปี 2565

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันได้ดำเนินการประมูล 2 โครงการใหม่ คือ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร วงเงินรวมทั้งสิ้น 72,921 ล้านบาท และเส้นทางบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร วงเงินรวม 55,458 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ได้ผู้ชนะการประมูลแล้วคาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ในวันที่ 2 และ 6 ส.ค. 2564 ตามลำดับ

ส่วนการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) 2 เส้นทาง คือ รถไฟไทย-จีน และรถไฟเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งและการเดินทาง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าระบบรางจะกลายเป็นโลจิสติกส์สำคัญของประเทศในอนาคต

ขณะที่การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมี 14 เส้นทางที่เปิดให้บริการ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีกหลายเส้นทาง ซึ่งการดำเนินงานก่อสร้างเป็นไปตามแผนทุกเส้นทางจะแล้วเสร็จในปี 2570 ทำให้ทั่วกรุงเทพฯ มีระยะทาง 554 กิโลเมตร ตอบโจทย์การเดินทาง เชื่อมกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง สนับสนุนการเดินทางรอบกรุงเทพฯ จากเส้นทางที่เป็นวงกลม พร้อมกันนี้ยังมีแผนขยายรถไฟรางเบาในต่างจังหวัดด้วย

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img