ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas – LNG) ในตลาดเอเชียเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมี.ค.64 ที่เฉลี่ย 6.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่เฉลี่ย 16.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ในเดือนส.ค.64
และล่าสุด ราคาเฉลี่ยวันที่ 1-16 ก.ย.64 อยู่ที่ 21.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ส่วนราคารายวัน ล่าสุดวันที่ 16 ก.ย.64 ทะยานขึ้นแตะ 26.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู สูงสุดตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ม.ค. 64 ซึ่งแตะระดับ 32.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู (สูงสุดเป็นประวัติการณ์เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์หนาวเย็นเฉียบพลัน polar vortex) ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติ Title Transfer Facility (TTF) ที่ยุโรปปัจจุบันทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 24.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ณ วันที่ 15 ก.ย. 64 เนื่องจากอุปสงค์การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากจากคลื่นความร้อน (heat wave) ที่แผ่ปกคลุมทั้งในยุโรปและเอเชีย ประกอบกับอุปสงค์ที่ฟื้นตัวหลังสถานกาณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกมีทิศทางดีขึ้นจากการกระจายวัคซีน
นอกจากนี้ปัญหาอุปทานก๊าซธรรมชาติหยุดชะงักจากแหล่งผลิต ทั้งในยุโรป เอเชีย และสหรัฐฯ อาทิ นอร์เวย์มีแผนส่งออกก๊าซธรรมชาติลดลงตั้งแต่ครึ่งหลังของเดือน ก.ย. 64 จากคาดการณ์การผลิตไฟฟ้าพลังงานลมจะลดลง และแหล่งผลิต Bintulu LNG ในมาเลเซีย (ขีดความสามารถในการส่งออกสูงสุด 30 ล้านตันต่อปี) ของ Petronas บริษัทพลังงานแห่งชาติของมาเลเซียประสบปัญหาการผลิต งดการส่งออกในตลาดจร (spot) ขณะที่สหรัฐฯ ประสบปัญหาการผลิตช่วงฤดูเฮอร์ริเคน (เดือน มิ.ย.-พ.ย. ของทุกปี) ส่งผลให้การส่งออก LNG ประสบปัญหาเป็นระยะ ล่าสุดท่า Freeport (ขีดความสามารถในการส่งออกสูงสุด 15.3 ล้านตันต่อปี) ต้องหยุดดำเนินการจากผลกระทบของพายุโซนร้อน Nicholas ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย 64
นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 4/64 ราคา LNG มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับสูง เพราะความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นเมื่อใกล้เข้าสู่ฤดูหนาว รวมถึงปีนี้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในยุโรปยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี สร้างความกังวลว่า อุปทานก๊าซธรรมชาติอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยสำนักข่าว Bloomberg คาดการณ์อุปสงค์ LNG ของโลกจะเพิ่มขึ้น จาก 29.7 ล้านตัน ในเดือนส.ค.64 มาอยู่ที่ 34.8 ล้านตัน ในเดือนธ.ค.64 และ 36.2 ล้านตัน ในเดือนม.ค.65 อย่างไรก็ตาม เริ่มมีแรงขายจากกลุ่มผู้ใช้หลักในเอเชีย เช่น จีน และ Portfolio Player เช่น BP เพื่อฉวยโอกาสทำกำไรในระยะสั้น นอกจากนี้ ราคาถ่านหิน (ใช้ผลิตไฟฟ้าเช่นเดียวกัน) เพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งคาร์บอน เครดิต (ราคาชดเชยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า) ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน ทำให้การใช้ก๊าซธรรมชาติมีความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) เชิงเศรษฐศาสตร์เพิ่มขึ้น จึงต้องจับตาความเคลื่อนไหวของราคาถ่านหินและคาร์บอน เครดิตควบคู่ไปด้วย เพราะมีผลกระทบต่อความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม หากท่อ Nord Stream 2 (ขีดความสามารถสูงสุด 55 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี) ซึ่งขนส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังเยอรมนี สามารถเปิดดำเนินการได้ภายในปีนี้ จะเป็นปัจจัยที่ชะลอราคามิให้ทะยานสูงขึ้นมากนัก แต่จากสถานการณ์ล่าสุด แม้โครงการก่อสร้างท่อดังกล่าวแล้วเสร็จ แต่กระบวนการขออนุญาตเพื่อเปิดดำเนินการต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 4-8 เดือนนับจากนี้
นักวิเคราะห์จากสำนักต่างๆ อาทิ Platts และ Wood Mackenzie รวมทั้งหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของ ปตท. คาดการณ์ว่า ราคา LNG ตลาดเอเชียในไตรมาสที่ 4/64 จะทรงตัวเหนือระดับ 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู หากสถานการณ์ตลาดไม่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้