“แผนที่เดินดิน” หัวใจความสำเร็จ “ชุมชนสู้เหล้า-สู้ภัยโควิด” สคล.เตรียมขยายผลชุมชนต้นแบบ “บ้านหนองกอก” สู่อีก 35 ชุมชน
ท่ามกลางการระบาดหนักของโควิด-19 เกิดเหตุเหมือนฟ้าผ่าลงมากลางหมู่บ้าน หนองกอก หมู่ 9 ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เมื่อลูกบ้านจัดงานเลี้ยงฉลองวันเกิด “ตั้งวงดื่มสุรา” จนเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคถึง 3 ครอบครัวพร้อมกัน เคราะห์ซ้ำเมื่อคนในชุมชนซึ่งออกไปทำงานภายนอกได้นำเชื้อกลับมาแพร่ระบาดในหมู่บ้าน ทำให้ช่วงดังกล่าวมีคนติดเชื้อพร้อมกันกว่า 27 คน มีผู้เสี่ยงสูงกว่า 70 คน และที่สุดแล้วรวมมีผู้ติดเชื้อสะสม 36 คน จากประชากรรวม 690 คน
เมื่อโควิด-19 เข้ามาในชุมชนอย่างไม่ทันคาดคิด ชาวบ้านจึงเกิดความสับสนไม่รู้จะปฏิบัติตัวอย่างไรต่อมาตรการของภาครัฐ ความหวาดกลัว หวาดระแวงเกรงจะติดโรคระหว่างกันเองของชาวบ้านหนองกอกยิ่งทำให้สถานการณ์ดูเลวร้าย เมื่อต้องเผชิญกับปัญหารอบด้านที่ไม่อาจนิ่งเฉยรอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐได้ ชุมชนจึงร่วมใจกันลุกขึ้นมาจัดการแก้ปัญหาด้วยตนเองและจากพลังสามัคคีนำไปสู่ความสำเร็จในการควบคุมและยั้บยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดูแลรักษาจนตัวเลขผู้ป่วยเป็น 0 ได้ในวันนี้ พร้อมกับพฤติกรรมการดื่มของคนในชุมชนเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยหัวใจหลักของการบริหารจัดการสู่ความสำเร็จในครั้งนี้ คือ “แผนที่เดินดิน” ของหมู่บ้าน สนับสนุนโดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.)
นายวันชัย เหี้ยมหาญ ผู้ใหญ่บ้านหนองกอก หมู่ 9 ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เล่าว่า ชุมชนหนองกอกเป็นหนึ่งในชุมชนแหล่งเรียนรู้คนสู้เหล้าของภาคตะวันตก สนับสนุนโดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) โดยดำเนินงานรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ และอบายมุขอื่นๆ เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในชุมชน เริ่มจากการตั้งวงดื่มสุรา ขณะนั้นการช่วยเหลือจากภาครัฐค่อนข้างล่าช้า เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ชาวบ้านก็กลัวและหวาดระแวงกันไปหมด หากรอปฏิบัติตามมาตรการภาครัฐ คือ เฝ้าระวัง แจ้งข่าว อย่าเข้าใกล้ รอเจ้าหน้าที่ไป แบบนั้นคงไม่ทันการณ์ เพราะผู้ป่วยติดเชื้อต้องนอนรอโดยไม่รู้กำหนดเวลาว่าจะได้เข้ารับการรักษาวันใด เราจึงตัดสินใจหันมาพึ่งตนเองในการแก้ปัญหาเบื้องต้น ก่อนจะส่งต่อให้ภาครัฐมารับไปรักษาที่โรงพยาบาล
ผู้ใหญ่วันชัย เล่าต่อว่า ภารกิจเร่งด่วนอันดับแรก ได้ตั้งชุดอาสาปฏิบัติการชุมชนสู้โควิด ขึ้นมา 3 ชุด ๆ ละ 3-4 คน ประกอบด้วย 1.ชุดสื่อสาร เป็นกลุ่ม อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เป็นชุดที่ให้ความรู้เกี่ยวกับโรค การดูแลป้องกันการแพร่ระบาด 2.ชุดภูมิปัญญา เป็นกลุ่มผู้อาวุโสที่มีความรู้เรื่องยาสมุนไพร จะดูแลเรื่องสมุนไพรในการรักษา 3.ชุดควบคุม ปฏิบัติการควบคุม ช่วยเหลือ ส่งต่อเจ้าหน้าที่เพื่อนำไปรักษาที่โรงพยาบาล โดยอาศัย แผนที่เดินดิน ของหมู่บ้าน มาใช้ในการวิเคราะห์ บริหารจัดการ ทำให้แก้ปัญหาการระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงที
“แผนที่เดินดิน มีข้อมูลของแต่ละบ้านโดยละเอียด ทั้งจำนวนประชากร คนกินเหล้า คนติดเหล้า มีกี่คน รวมไปถึงข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น อาชีพทำเกษตรกรรม ปลูกผัก เลี้ยงปลา หรือ รับจ้าง ดังนั้น บ้านหลังไหนมีคนติดโควิด-19 ติดแล้วกินเหล้ามั้ย ถ้ากินก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มในการระบาดต่อ ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราบริหารจัดการควบคุมได้อย่างเร็ว แม้กระทั่งคนต่างถิ่นมาพักบ้านไหน ม้าเร็วชุดควบคุมเราก็จะเข้าถึงและจะคอยสอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด บ้านหลังไหนมีคนเสี่ยง ชุด อสม.ก็จะเข้าคัดกรองด้วย ATK ทันทีเพื่อคัดแยกคนติดกับไม่ติดเชื้อออกจากกัน บ้านไหนติดโควิด ชุดภูมิปัญญาก็จะต้มสมุนไพรฟ้าทะลายโจรไปให้ดื่มรักษาอาการ
แผนที่ทำให้เรามองเห็นภาพรวมทั้งหมู่บ้าน สามารถนำมาวิเคราะห์แนวทางการจัดการได้ อย่างบ้านหลังนี้ติดโควิดออกไปหาอาหารมาทำกินไม่ได้ต้องกักตัว บ้านข้างๆ ปลูกผักเลี้ยงปลา เราก็แจ้งทางไลน์กลุ่มหมู่บ้านให้บ้านใกล้กันช่วยทำอาหารไปให้ ชุมชนเราต่างช่วยเหลือกันเป็นอย่างดี ที่นี่เราอยู่กันแบบพี่น้อง ทุกคนร่วมใจกันแก้ปัญหา เราจึงผ่านวิกฤตนั้นมาได้” ผู้ใหญ่วันชัยกล่าว
ด้าน น.ส.อุบลวรรณ คงสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคตะวันตก กล่าวว่า แผนที่เดินดิน เริ่มมีเมื่อปี 2560 โดยเป็นแผนที่ของหมู่บ้านที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นฐานข้อมูลว่าแต่ละบ้านมีคนดื่มสุราหรือไม่ และบ้านหลังไหนมี คนหัวใจหิน คือ คนที่งดเหล้าจนครบพรรษา จะมาร์คสีไว้ ส่วนคนหัวใจเหล็ก คือ หลังงดเหล้าเข้าพรรษาแล้วยังงดเหล้าต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 3 เดือน และ คนหัวใจเพชร คือ คนที่งดเหล้าต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไป จากข้อมูลตรงนี้จะประเมินได้ว่าบ้านไหนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 กันเองภายในครอบครัวโดยบ้านที่มีคนดื่มจะมีโอกาสติดเชื้อแบบโดมิโน่ได้
“ภายหลังได้มีการเพิ่มข้อมูลรายละเอียดในด้านต่างๆ ลงในแผนที่ เช่น จำนวนคนดื่ม ในครอบครัว ติดหรือไม่ติดเหล้า มีผู้ป่วยติดเตียงหรือไม่ ผู้พิการ รวมถึงข้อมูลด้านสุขภาวะอื่นๆ โดยสามารถเติมข้อมูลทุกด้านได้ตลอดเวลา ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ จะทำให้เรามองเห็นภาพรวมในทุกมิติของหมู่บ้านได้ชัด โดยเฉพาะในสถานการณ์การระบาดของโรค แผนที่เดินดิน จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการนำมาช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ควบคู่ไปกับการป้องกันการระบาดของโควิด-19 แผนที่ยังมีส่วนสำคัญในการรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงทุกมิติ โดยช่วงแคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษาที่ผ่านมา สคล.ได้ปรับเปลี่ยนการทำงานโดยประสานงานกับชุมชนบ้านหนองกอกผ่านทางไลน์กลุ่มหรือ Zoom ในการรณรงค์ชวนคนเข้าร่วมโครงการปฏิญาณงดเหล้าช่วงเข้าพรรษา และการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลคนงดเหล้าก็ได้นำแผนที่มาช่วยจัดแบ่งโซนการทำงานทั้งหมด 4 โซน พร้อมนี้ สคล.ยังสนับสนุนชุดตรวจ ATK หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ชุด PPE เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อแก่ชุมชนด้วย” น.ส.อุบลวรรณ กล่าว
น.ส.อุบลวรรณ กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้บ้านหนองกอกประสบความสำเร็จ คือ กลไกการทำงานเป็นทีม ที่แบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างชัดเจน และชุมชนมีความสามัคคีให้การช่วยเหลือดูแลกันเอง พร้อมร่วมใจไม่ตั้งวงเหล้าในงานสังสรรค์ใดๆ ผลของการร่วมใจกันครั้งนี้ นอกจากสถานการณ์การระบาดของโรคภายในหมู่บ้านจะคลี่คลายแล้ว ต้นเหตุของการระบาดจากวงเหล้า ยังส่งผลให้พฤติกรรมการดื่มของคนในชุมชนเปลี่ยนไป โดยจากดื่มกันเป็นกลุ่มก้อนก็หันมาดื่มคนเดียว ๆ จึงขาดความสนุกส่งผลให้บางคนค่อยๆลดการดื่มไปโดยปริยาย
“บ้านหนองกอกนับเป็นต้นแบบของชุมชนที่สามารถบริหารจัดการตนเองได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องการควบคุมการระบาดของโควิด-19 การดูแลป้องกันตนเอง โดยเฉพาะการควบคุมเหล้าซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งต่อการระบาดของโรค สคล.จะนำต้นแบบนี้ไปขยายผลต่อยังหมู่บ้านใกล้เคียง คือ หมู่ 6-7-8 รวมไปถึงชุมชนอื่นๆ อีก 17 ชุมชนในปีนี้ ได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้กับบริบทของแต่ละพื้นที่ และจะขยายผลให้ได้ถึง 35 ชุมชนในปีหน้า” น.ส.อุบลวรรณ กล่าวทิ้งท้าย