AOT ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว ไม่หวั่นเชื้อกลายพันธุ์ “โอไมครอน” กระทบ ประเมินผู้โดยสารปี 65 ที่ 62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 210% เทียบกับปี 64 ที่มีผู้โดยสาร 20 ล้านคน ปี 66 ปักเป้าผู้โดยสาร 116 ล้านคนหนุนผลงานเป็นบวก
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า กรณีที่เกิดการกลายพันธ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 “โอไมครอน” นั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ AOT เนื่องจากว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จนทำให้ผลการดำเนินงานในปี 2564 ถึงจุดต่ำสุดแล้ว โดยในขณะนี้เป็นช่วงขาขึ้น ซึ่งจะขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดของโควิด-19
ส่วนผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2565 (ต.ค. 64-ก.ย. 65) นั้น คาดว่ารายได้รวมเติบโตมากกว่าปีงบ 2564 ที่มีรายได้รวม 7,715 ล้านบาท โดยประเมินผู้โดยสารในปีงบประมาณ 2565 ของท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของ AOT ท่าอากาศยาดอนเมือง, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง, ท่าอากาศยานหาดใหญ่, ท่าอากาศยานภูเก็ต จะผู้โดยสารรวม 62 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 210% เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2564 ที่มีปริมาณผู้โดยสารราว 20 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นแต่คาดว่าจะยังคงขาดทุนอยู่ โดยจากที่ประเมินตัวเลขไว้นั้นต้องมีปริมาณผู้โดยสารอยู่ในระดับ 70 ล้านคนและในจำนวนนี้จะต้องเป็นสัดส่วนของผู้โดยสารระหว่างประเทศ 50% ถึงจะทำให้ผลการดำเนินงานของ AOT กลับมามีกำไรได้
ทั้งนี้จากที่รัฐบาลได้เปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมานั้นส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศของเดือนพฤศจิกายน 2564 เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับ 237,177 คน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2564 ที่มีจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศรวม 114,245 คน
ส่วนผู้โดยสารภายในประเทศในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ระดับ 1,949,492 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ที่มีจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศ 1,200,883 คน ซึ่งหากนับรวมปริมาณผู้โดยสารทั้ง 6 แห่งของ AOT ทั้งผู้โดยสารระหว่างประเทศ และภายในประเทศของเดือนพฤศจิกายน 2564 นั้นอยู่ที่ 2,186,669 คน ก็เป็นแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังจากเปิดประเทศ
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2566 ก็มั่นใจว่าจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นเป็นไปในทิศทางบวก โดยประเมินผู้โดยสารจะอยู่ในระดับ 116 ล้านคน ใกล้เคียงกับก่อนช่วงเกิดโควิด-19 ในปี 2562 ที่อยู่ในระดับ 120 ล้านคน
นายนิตินัย กล่าวถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือสายการบิน และผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินงานของ AOT ทั้ง 6 แห่ง ว่า เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด- 19 ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด AOT) มีมติอนุมัติขยายระยะเวลาการช่วยเหลือสายการบิน และผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ออกไปอีก 1 ปี จากสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็น 31 มีนาคม 2566
โดยมีมาตรการปรับลดค่าผลประโยชน์ ตอบแทน ค่าเช่าพื้นที่ค่าบริการการใช้บริการในอาคาร ค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Charge) ค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Charge) ซึ่งจากมาตรการนี้จะทำให้ผู้ประกอบการสายการบิน และผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยาน 6 แห่งของ AOT สามารถดำเนินธุรกิจและจัดส่งรายได้ให้ AOT ต่อไป โดยในปี 2565 คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการดำเนินมาตรการดังกล่าว 3,037 ล้านบาท และปี 2566 เพิ่มอีกขึ้น 6,177 ล้านบาท