วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVE‘รัสเซีย’ลุย‘ยูเครน’เดือด!! ราคาน้ำมันดิบส่อแววพุ่ง 120-130 เหรียญสหรัฐ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘รัสเซีย’ลุย‘ยูเครน’เดือด!! ราคาน้ำมันดิบส่อแววพุ่ง 120-130 เหรียญสหรัฐ

จากที่ตึงเครียดกันมานานระหว่าง “รัสเซีย” กับ “ยูเครน” ก็ได้เริ่มเปิดฉากสงครามเย็นครั้งใหม่ แน่นอนว่าผลกระทบต่อประชาชนย่อมเกิดขึ้นตามมา ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการสูญเสีย “ราคาน้ำมันดิบ” เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลลบ ผลบวกต่อเศรษฐกิจและประชาชน

นักวิเคราะห์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันดิบในตลาดโลก โดยอ้างอิงราคาน้ำมันดิบเบรนท์ว่า ประเทศรัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันดิบมากเป็นอันดับต้นของโลกราว 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังยุโรป ที่เหลือเป็นประเทศจีน หากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organization-NATO) คว่ำบาตรตัดช่องทางซื้อขายน้ำมันจะส่งผลทำให้รัสเซียส่งออกน้ำมันไม่ได้ก็จะทำเกิดความตึงตัวของอุปทาน (Supply) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดว่าจะเฉลี่ยในระดับ 120-130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า NATO จะไม่กล้าคว่ำบาตรตัดช่องทางซื้อขายน้ำมันรัสเซีย เพราะจะทำให้สต๊อกน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น ในระยะสั้นจากภาวะตึงเครียดสงครามรัสเซีย-ยูเครน คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในระดับ 100-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ถ้าหากสถานการณ์จบเร็ว โดยยูเครนยอมรับข้อตกลงของรัสเซีย ซึ่งก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในกรอบ 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ขณะที่ราคาน้ำมันในปัจจุบันเคลื่อนไหวในกรอบ 91-97 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และมีเมื่อวันที่ 24 ก.พ.65 ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 106 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงระยะสั้น

โรงกลั่นน้้ำมัน / cr : @ERSFellowship

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มโอเปกพลัสยังยึดตามข้อตกลงเดิมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 400,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนมีนาคม 2565 คาดว่าจะยังไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ (Demand)ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจฟื้นตัว หลังจากสถานการณ์โควิด-19 หลายประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกา คลี่คลาย  

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเคยปรับตัวอยู่ในระดับ 140 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลมาแล้วเมื่อปี 2551 โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 143.91 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ด้านกระทรวงพลังงานของไทย โดย นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงฯ ได้ชี้แจงถึงการเตรียมความพร้อมรับมือว่า ประเทศไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและ LNG เนื่องจากประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศกลุ่มตะวันออกกลางประมาณร้อยละ 55 และนำเข้าจากรัสเซียเพื่อกลั่นเพียง 5.22 ล้านลิตร/วัน หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมด และในส่วนของ LNG ประเทศไทยนำเข้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 18 จากหลากหลายแหล่ง

กระทรวงพลังงานก็ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น โดยกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เตรียมความพร้อมด้านปริมาณสำรองพลังงาน โดย ณ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 3,200 ล้านลิตร ปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,460 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 1,670 ล้านลิตร ทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใช้ได้กว่า 2 เดือน แบ่งเป็น น้ำมันดิบ 27 วัน อยู่ระหว่างขนส่งอีก 13 วัน และน้ำมันสำเร็จรูป 12 วัน ส่วน LPG สำหรับในภาคครัวเรือนใช้ได้ 16 วัน

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่น่ากังวลที่สุดจะเป็นเรื่องของราคาพลังงาน รวมถึงสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานด้านการผลิตน้ำมันของโลกที่ยังมีจำกัดทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น กระทรวงพลังงานได้ใช้มาตรการที่มีอย่างต่อเนื่องและยังคงเตรียมมาตรการที่จะสามารถช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม และขอยืนยันว่า จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้นนี้ แม้จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นถึงระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และเกิดผลกระทบวงกว้างทั่วโลก แต่กระทรวงพลังงานจะยังคงดำเนินการอย่างเต็มที่ในการบรรเทาให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด และขอให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์วิกฤตนี้และร่วมกันใช้พลังงานโดยเฉพาะน้ำมันอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน” นายกุลิศ กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img