หลังจากคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางวิธีการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ AOT บริหารจัดการท่าอากาศยานในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เห็นชอบแนวทางการให้ ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง แทน ทย. ประกอบด้วย ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ท่าอากาศยานกระบี่ แน่นอนว่าย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้นทั้งในแง่ลบและแง่บวก
ทั้งนี้จากเดิม ทอท. บริหารท่าอากาศยานอยู่ 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานเชียงใหม่, ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง (เชียงราย), ท่าอากาศยานหาดใหญ่, ท่าอากาศยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานดอนเมือง, และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งจะส่งผลให้ท่าอากาศยานภายใต้การบริหารของ ทอท. เพิ่มเป็น 9 แห่ง
อย่างไรก็ตาม นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ระบุว่า การเข้าไปดำเนินการบริหารท่าอากาศยานอุดรธานี บุรีรัมย์ กระบี่ ตามกำหนดการจะดำเนินการลงนามในสัญญากับ ทย. ในเดือนพ.ค.2565 พร้อมเริ่มเข้ามาบริหารทันที หลังจากได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนเม.ย.2565
โดยการเข้าบริหารท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งนี้ในช่วง 3 เดือนแรก พ.ค.-ก.ค.2565 ทอท. จะดำเนินการทำ Due Diligences หรือ การสอบทานธุรกิจ การตรวจสอบประเมินผลทรัพย์สิน หนี้สินของแต่ละท่าอากาศยาน และนำมาวิเคราะห์ถึงสถานะของกิจการ เพื่อให้ผู้ว่าจ้างทราบข้อมูลที่แท้จริงที่อาจจะพิจารณาความเสี่ยง ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน และนำมาประเมินเป็นส่วนแบ่งรายได้ให้กับ ทย. และงบสำหรับลงทุนในระยะแรก ส่วนวิธีแบ่งรายได้ให้กับ ทย. ทางกรมบัญชีกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้กำหนด ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนส.ค.2565
สำหรับงบลงทุนในระยะแรกนั้น ในเบื้องต้นคาดว่า ไม่ต้องใช้งบลงทุนอะไรมาก เพราะจะเป็นการลงทุนปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้ได้ตามมาตรฐาน TSA และ EASA เช่น การเปลี่ยนเครื่องตรวจจับโลหะ เครื่องตรวจอาวุธ แต่การลงทุนในระยะยาวจะต้องพิจารณาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสารในอนาคต ซึ่งก็อาจจะต้องใช้งบลงทุนสูง
ส่วนขั้นตอนการโยกย้ายพนักงานของ ทย. มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ทอท. ขั้นตอนนี้พนักงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ทย.จะต้องลาออกก่อน แล้วมาสมัครเป็นพนักงานของ ทอท. ซึ่งทอท. จะพิจารณาก่อนเป็นอันดับแรกภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขของ ทอท.
อย่างไรก็ตาม การบริหารท่าอากาศยานอุดรธานี บุรีรัมย์ กระบี่ ทอท.ยืนยันว่า มีความพร้อมและศักยภาพเพียงพอที่จะบริหารท่าอากาศยานเพิ่มอีก 3 แห่ง แม้จะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม โดยเชื่อมั่นว่าหลังจากรัฐบาลประกาศเป็นโรคท้องถิ่น และมีการผ่อนคลายมาตรการด้านผ่อนคลายมาตรการด้านสาธารณสุข กลับมาใช้มาตรการ Test and Go (ไม่ต้องกักตัว) ประกอบกับมีแนวโน้มว่าประเทศจีนเปิดประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการฟื้นตัวของผู้โดยสาร
นอกจากนี้แล้วยังเชื่อมั่นว่า ท่าอากาศยานอุดรธานี บุรีรัมย์ กระบี่ มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาค (Aviation Hub) โดยท่าอากาศยานอุดรธานีจะเป็นประตูเมือง (Gateway) ไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และอีสานใต้คือ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ให้เป็น Gateway เชื่อมต่อไปยังราชอาณาจักรกัมพูชา จึงทำให้ทั้ง 2 สนามบินนี้ เหมาะสมที่จะพัฒนายกระดับขึ้นเป็น Hub ขณะที่ท่าอากาศยานกระบี่ก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งในการเป็น Hub ทางภาคใต้ ดังนั้น ทอท. จะจัดทำการตลาดใหม่ โดยปรับเส้นทางบินระหว่างประเทศ ให้สามารถบินตรงจากต่างประเทศไปลงที่ อุดรธานี บุรีรัมย์ กระบี่ ได้เลยไม่ต้องบินมาลงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง
ทั้งนี้จากสถิติการเดินทางของผู้โดยสารของ ทอท. ในปี 2562 (ก่อนวิกฤตการณ์ โควิด-19) ทอท.มีส่วนแบ่งการตลาดราวร้อยละ 85 ของผู้โดยสารทั้งหมดของประเทศ โดยจากผู้โดยสารต่างประเทศส่วนใหญ่ที่จะมาเปลี่ยนเครื่อง (Transfer) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมืองไปยังท่าอากาศยานอุดรธานี กระบี่ และบุรีรัมย์ โดยเฉพาะยุโรปจากสถิติที่ผ่านมามีจำนวนผู้โดยสารประมาณ 4-5 แสนคนต่อปีที่บินมาเปลี่ยนเครื่องที่ ทสภ. แล้วบินต่อไปอุดรธานี
การบินตรงไปยังท่าอากาศยานปลายทาง ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้ท่าอากาศยานปลายทางจากการเก็บค่าธรรมเนียมสนามบิน (Passenger Service Charge : PSC) และยังเป็นการลดความแออัดบนน่านฟ้าที่กรุงเทพฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นการเข้ามาบริหาร ท่าอากาศยานอุดรธานี บุรีรัมย์ กระบี่ ทอท. จึงมั่นใจว่าจะช่วยหนุนรายได้ของทอท.เติบโตให้ผลตอบแทนที่ดีกับผู้ถือหุ้น และทย.จะได้รับผลประโยชน์ที่ดี โดยทอท. จะพิจารณาสนับสนุนเงินที่ ทย. ขาดหายไปจากการขาดรายได้ เพื่อให้ ทย. มีเงินทุนเพียงพอเพื่อการพัฒนาท่าอากาศยานอื่นต่อไป