เรียกได้ว่า เป็นการอนุมัติหลายเรื่องที่สำคัญกันเลยเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT)
สำหรับปี 2565 ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) รวม 34 โครงการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 282.98 เมกะวัตต์ ระยะเวลาสนับสนุน 20 ปี และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในปี 2568-2569 ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะดำเนินการการออกระเบียบและประกาศรับซื้อไฟฟ้าต่อไป
แน่นอนว่า โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนนั้นมีเอกชนที่รอเข้ารวมประมูลกันหลายราย ทั้งที่เป็นบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอยู่นอกตลาด อาทิเช่น บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP, บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC, บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ACE, บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ได้เห็นชอบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โครงการปากแบง และได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในสัญญาโครงการปากแบง (Pak Beng) ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว โดยโครงการปากแบงเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภท Run of River มีอายุสัญญา 29 ปี ปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 897 เมกะวัตต์ และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ในเดือนมกราคม 2576 อัตราค่าไฟฟ้า 2.9179 บาทต่อหน่วย
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าปากแบงนั้น ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง เมืองปากแบง แขวงอุดมไซ สปป.ลาว โดย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอป เมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัทฯ และ China Datang Overseas Investment Co.,Ltd. (CDTO) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบงกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว และเป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1)
อย่างไรก็ตาม GULF นั้นมีแผนที่จะดำเนินการเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49 ใน Datang (Lao) Pakbeng Hydropower Co., Ltd. (“บริษัทร่วมทุน”) จาก CDTO เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำปากแบง โดยบริษัทฯ และ CDTO จะถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนในสัดส่วนร้อยละ 49 และร้อยละ 51 ตามลำดับ
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังได้มีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการเซกอง 4A และ 4B และมอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) โครงการเซกอง 4A และ 4B ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว ทั้งนี้ โครงการเซกอง 4A และ 4B เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำประเภท Reservoir มีอายุสัญญา 27 ปี ปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 347.30 เมกะวัตต์ และมีกำหนด COD ในปี 2576
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซกอง 4A และ 4B บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH มีสัดส่วนการถือหุ้น 60% บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM มีสัดส่วนการถือหุ้น 20% และ Lao World Engineering & Construction Co., Ltd. ถือหุ้นสัดส่วน 20% โดยโครงการนี้จะขายไฟฟ้าให้กับไทยในสัดส่วน 90% และส่งเข้าโครงข่ายของสปป.ลาว 10%
ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำปากแบง และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเซกอง 4A และ 4B นั้น แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน เปิดเผยว่า คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยสอดคล้องตามกรอบ“แผนพลังงานชาติ” ที่มีเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจ และสังคมคาร์บอนต่ำ เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด
นอกจากนี้ กพช. ยังได้รับทราบ แผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ.2564-2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) โดยมีกำลังผลิตตามสัญญาจากพลังงานสะอาดรวมทั้งสิ้น 9,996 เมกะวัตต์
พร้อมทั้งได้ เห็นชอบหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและข้อเสนออัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff สำหรับปี พ.ศ.2565-2573 สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง กำลังผลิตตามสัญญาไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Ground-mounted) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar+BESS) พลังงานลม และก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย)
สำหรับแผนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียนนั้น แน่นอนว่า เป็นปัจจัยบวกกับบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งหลายบริษัทเริ่มมีการปรับตัว และขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด มีการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ลงทุนในพลังงานหมุยเวียนกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU, บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF, บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เป็นต้น ซึ่งก็ต้องติดตามดูกันว่าธุรกิจพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียนจะเติบโตมากน้อยแค่ไหน และจะช่วยให้เกิดเศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำได้ตามเป้าหมายหรือไม่อย่างไร