เผ่าพันธุ์มนุษย์จะอยู่รอดยังไง ในวิกฤตโลกรวน? ความเป็นไปได้ในการเกิดสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์.. เป็นเรื่องยาก แต่ในวันที่โลก..เป็นตัวอย่างของความเป็นไปได้นั้น เรากลับใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง จนโลกเข้าใกล้คำว่า ‘วิกฤต’ แล้วเราจะใช้ชีวิตแบบไม่ทำลายโลกได้อย่างไร?
มาเรียนรู้การแก้ไขปัญหาด้วยความเข้าใจ สร้างโลกที่เจริญก้าวหน้าและดีต่อสภาพแวดล้อมกับ “ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC
…………………………..
100 วินาทีก่อนเที่ยงคืน
100 วินาทีก่อนสูญสิ้นมนุษยชาติ
100 วินาทีก่อนทุกสรรพสิ่งที่เราสร้างมาจะล่มสลายหายไป
‘นาฬิกาวันสิ้นโลก’ หรือ Doomsday Clock เป็นสิ่งบ่งบอกช่วงเวลาก่อนที่จะถึงจุดจบของมนุษยชาติ ถึงแม้บางช่วงเวลาที่เข็มจะขยับเข้าใกล้ขึ้น และบางช่วงเวลาจะถูกขยับออกไป แต่ถ้ามองจากตัวเลขในปัจจุบัน หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า มนุษยชาติยังคงอยู่ในช่วงวิกฤตอย่างไม่ต้องสงสัย
ถึงแม้จะเป็นตัวเลขเชิงสัญลักษณ์ และเหตุการณ์ส่วนมากในอดีตมาจากประเด็นเรื่องสงครามและการเมือง แต่เราก็ต้องยอมรับตามตรงว่า วันนี้..ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นอีกปัญหาสำคัญที่ทำให้เข็มนาฬิกาขยับเข้าใกล้ห้วงเวลาอวสานมากขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนถ้าเรายังไม่ทำอะไร เข็มนาฬิกาคงขยับถึงจุดสุดท้ายเข้าสักวัน
คำถามคือ แล้วเผ่าพันธุ์มนุษย์จะอยู่รอดได้อย่างไรในภาวะวิกฤตดังกล่าว?
ซึ่งก็นับว่าเป็นโอกาสอันดี ที่เรา ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวทางต่างๆ ที่องค์กรอย่าง GC พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการมีส่วนร่วมในการลดปัญหาและวิกฤตในครั้งนี้
ในช่วงแรก เราพูดคุยกันเรื่องของโลกใบใหญ่ที่เราอาศัยอยู่ ซึ่ง ดร.คงกระพัน มีมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า “หากมองตามความเป็นจริงแล้ว การกำเนิดของโลกและมนุษย์นั้น นับว่าเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์อย่างหนึ่ง เพราะมันต้องเกิดจากความลงตัวในหลากหลายปัจจัย ทั้งในเรื่องของ อุณหภูมิ แสงสว่าง สภาวะ กัมมันตภาพรังสี สภาพทางเคมี แรงโน้มถ่วง และอื่นๆ”
แน่นอนว่าเป็นความลงตัวทางธรรมชาติที่น่าประทับใจ แต่หากมองปัจจุบัน มนุษย์ในฐานะผลลัพธ์จากความสวยงามและความเป็นไปได้อันน้อยนิด กำลังเผชิญกับสภาวะวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งในเรื่องของภาวะโลกร้อนและภาวะโลกรวน ซึ่งส่วนหนึ่งมันก็มาจากเรา
“มนุษย์เราได้รับโอกาสที่จะมีวิวัฒนาการ โอกาสที่จะพัฒนาเผ่าพันธุ์ เป็นพี่คนโตของโลก มีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาด มีความรู้สึกนึกคิด สามารถฝันได้ สามารถทำในสิ่งที่ดีๆ ออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรม อารยธรรม และเทคโนโลยีต่างๆ เราจะมองว่าเป็นโชค มองว่าเป็นอุบัติเหตุ มองว่าเป็นความบังเอิญก็ได้ แต่เราควรจะคิดว่าเราจะใช้โอกาสอันนี้ให้ดีที่สุดได้อย่างไร เรามีทางเลือก ที่จะเป็นผู้ดูแล และรักษาโลกนี้ หรือเราจะเลือกที่จะทำลายมันก็ได้” ดร.คงกระพัน เน้นย้ำให้เราฟังในเรื่องนี้
ในวันที่โลกเจริญก้าวหน้าไปไกล เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า พวกเราก็นำทรัพยากรมาใช้อย่างมหาศาลเช่นกัน เราคงไม่กลับไปอยู่ยุคหิน เรายังคงต้องดำรงชีวิตต่อไปในฐานะสัตว์ผู้ทรงภูมิปัญญา เราจะสะดวกสบายและจะก้าวหน้าต่อไปได้อย่างไร โดยที่จะไม่ทำร้ายโลก นั่นอาจเป็นหลักสำคัญที่สุด
“การแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนต้องแก้ด้วยความเข้าใจ เราต้องเข้าใจจริงๆ ว่าเราทำไปทำไม ถ้าเราแก้ได้ เราก็จะช่วยพืชช่วยสัตว์ได้หลายหมื่นหลายพันสปีชีส์ ถ้าแก้ไม่ได้ เผ่าพันธุ์เราก็อยู่ไม่ได้ น้ำอาจท่วมโลกนะ อุณหภูมิจะร้อนขึ้น รวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจว่า เราต้องแก้เรื่องนี้ให้สำเร็จเพื่อความอยู่รอดของเรา”
ในฐานะ หัวเรือใหญ่ขององค์กรชั้นนำผู้ผลิตเคมีภัณฑ์อย่าง GC ดร.คงกระพัน ได้เล่าให้ฟังถึงแนวทางที่องค์กรกำลังก้าวไป เพราะ GC เองก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ให้ความสำคัญเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับต้นๆ
“GC เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยในเรื่องนี้ เรามองเรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญ เรามองว่ามันเป็นหน้าที่ของเรา ที่จะมีส่วนในการผลักดัน แล้วก็ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน เราแก้ที่ผลิตภัณฑ์และแก้ที่วิธีการ ทำอย่างไรที่จะสามารถทำผลิตภัณฑ์ที่ดี ตอบโจทย์ความสะดวกสบายของการใช้ชีวิตทั้งในวันนี้และอนาคต ช่วยให้เราเจริญก้าวหน้า มีความปลอดภัย มากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม”
ดร.คงกระพัน ยังยกตัวอย่างให้เราฟังถึงเรื่องของ ‘ไบโอพลาสติก’ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจ เป็นทางเลือกที่มาทดแทนพลาสติกทั่วไปได้ ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เอาไปฝังดินก็กลายเป็นน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นอาหารของพืช ถ้าเรามีการจัดการพลาสติกที่ดีพอ มีผลิตภัณฑ์มาทดแทน ถ้าคนทั้งโลกใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ร่วมกัน บางทีปัญหาการจัดการพลาสติกที่หลายคนกังวลใจ ก็น่าจะทุเลาลงไปได้อีกเยอะ
อีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนมองข้ามไปก็คือ เรื่องของสารเคลือบผิวประเภทต่างๆ ที่ใช้เคลือบรถยนต์ เคลือบกังหันลม เรือเดินสมุทร เครื่องบิน อาคาร เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ หรือแม้แต่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้สวยงาม ลดการสึกกร่อน ลดแรงเสียดทาน ช่วยดูแลผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราในชีวิตประจำวัน แต่กระบวนการการทำเคลือบผิวส่วนหนึ่งก็ส่งผลเสียกับสิ่งแวดล้อม เพราะมีสารระเหย แต่เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะช่วยให้เราสร้างสารเคลือบได้โดยไม่ปล่อยสารเหล่านี้ คนเราก็ได้ใช้ประโยชน์ โดยที่ไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม
สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่หลายคนอาจจะลืมไป และ GC เองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงปลายทางหรือผลลัพธ์เท่านั้น กระบวนการผลิตก็นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ GC ให้ความใส่ใจ เพราะถ้าหากกระบวนการที่ให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์นั้นไม่ดีพอ ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถึงผลิตภัณฑ์จะดีแค่ไหนมันก็ไม่มีประโยชน์ใช่ไหมล่ะ?
“โรงงานต่างๆ ของ GC เราก็จะเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา เรื่องดิจิทัล เรื่องการใช้พลังงานสะอาด เพื่อให้กระบวนการผลิตปล่อยคาร์บอนฯ เป็นศูนย์ อีกเรื่องหนึ่งก็คือเราเลียนแบบธรรมชาติ หากเรามองจากการที่พืชเป็นกลไกที่ดึงคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกจากอากาศได้ดีที่สุด เราจึงทำกระบวนการที่เรียกว่า CARBON CAPTURE เป็นการดึงเอาตัวคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ ลงไปฝังดินเป็นสภาพของแข็งและของเหลว เป็นกระบวนการที่เราจะลดก๊าซเรือนกระจกลงมาได้ ทั้งหมดที่เราทำจะสอดคล้องกับเป้าหมาย Net Zero ซึ่งในปี 2050 เราตั้งเป้าหมายว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์”
ในส่วนนี้เราอาจจะต้องเล่าเพิ่มเติมหน่อยว่า ทางฝั่ง GC มีแนวทาง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ขับเคลื่อนด้วย 3 เสาหลัก สู่เป้าหมาย Net Zero
1) EFFICIENCY-DRIVEN เป็นแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดําเนินงาน ลดการปล่อยของเสียของกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด นำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดในปัจจุบัน
2) PORTFOLIO-DRIVEN การปรับโครงสร้างธุรกิจในระยะยาว สู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ นำ Circular Economy Concept มาใช้กับการดำเนินธุรกิจโดยยังคงรักษาการเติบโตขององค์กร
3) COMPENSATION-DRIVEN ประยุกต์การดูดซับคาร์บอนด้วยวิธีการทางเทคโนโลยีและทางธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย Net zero
ซึ่งทั้งสามเสาก็เป็นแนวทางในการดำเนินงานในส่วนต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ในปี 2050 ตามที่ตั้งไว้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือทางองค์กรจะพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากที่สุด ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และไม่ใช่แค่ลด แต่ต้องดูดซับคาร์บอนฯ ที่มีอยู่อีกด้วย
แต่เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องของแค่ GC ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของคุณ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของผม แต่สิ่งนี้เป็นเรื่องของเราทุกคน
“องค์กรใหญ่ องค์กรเล็ก คนจะมีกำลังมาก กำลังน้อยก็ต้องช่วยกัน ช่วยคนที่เรารัก ช่วยเผ่าพันธุ์เรา อย่าง GC เอง อาจจะฟังดูเหมือนองค์กรใหญ่ ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ทำ CARBON CAPTURE แต่ว่าจริงๆ แล้ว ถ้าเทียบกับสเกลของทั้งโลก GC ก็ยังเล็ก ทุกคนช่วยกันได้ ท่านที่อยู่บ้านก็สามารถทำการกำจัดขยะให้ถูกต้อง การรีไซเคิล การช่วยแยกขยะต่างๆ นี่ก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง องค์กรใหญ่ก็ต้องมาช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้องตั้งเป้า ปีไหนทำได้ แล้วก็ทำให้มันเป็นศูนย์ ถ้าเราช่วยๆ กันทำสิ่งเหล่านี้ โลกนี้ก็จะเป็นที่ที่เราอยู่ได้ต่อไป”
สุดท้ายนี้ ถ้าจะสรุปให้ง่าย เรื่องราวก็คงเป็นแบบที่ ดร.คงกระพัน ระบุไว้นั่นแหละ ‘โลกอยู่ได้ เราก็อยู่ได้’ และการที่โลกจะอยู่ได้ก็ต้องเริ่มจาก ‘มนุษย์’ อย่างพวกเรา เพราะฉะนั้นถ้าจะถามว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์จะอยู่รอดได้อย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ คำตอบอาจจะไม่ยืดยาว แต่ก็ไม่ง่ายดาย แค่มนุษย์ทุกคน รวมถึงทุกองค์กร และทุกภาคส่วน จำเป็นต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง
#HeroToZero
#TogetherToNetZero
#GCChemistryForBetterLiving
…………………………………………..
เผ่าพันธุ์มนุษย์จะอยู่รอดยังไง ในวิกฤตโลกรวน? มาเรียนรู้การแก้ไขปัญหาด้วยความเข้าใจ สร้างโลกที่เจริญก้าวหน้าและดีต่อสภาพแวดล้อมกับ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC แล้ว GC ทำอะไรกับแผนการใหม่ อย่าง ‘Net Zero’ ที่มาพร้อมเป้าหมายในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์
ติดตามได้ที่วิดีโอนี้!
“ถ้าโลกอยู่ได้ เราก็อยู่ได้”