วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVE“เฮียเต่า”โกงฟาร์มเห็ดพันล้าน หน้าเดิมตุ๋นลงทุน “คาสิโน-วีซ่า”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เฮียเต่า”โกงฟาร์มเห็ดพันล้าน หน้าเดิมตุ๋นลงทุน “คาสิโน-วีซ่า”

คดีแชร์ลูกโซ่ฟาร์มเห็ดเตอร์เติ้ล ฟาร์มของ “เฮียเต่า” ที่จังหวัดสกลนคร ถือเป็นอีกคดีสำคัญที่สะท้อนกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย

นอกจากข้อเท็จจริงคดีนี้ ที่มีผู้เสียหายหลายร้อยคน คาดว่าความเสียหายจะแตะหลัก 1 พันล้านบาทแล้ว ยังพบข้อมูลสำคัญในตัวละครของคดี ก็คือ “เฮียเต่า” ที่ถูกออกหมายจับในชื่อ “ฐานวัฒน์ ชูเกียรติสกุลไกร” ปัจจุบัน อายุ 26 ปี เท่านั้น

แท้จริงแล้ว ก็คือ “น.ส.ณัฐพัฒน์ อัครเดชไชย” หรือ “อะชิ” ที่เคยถูกจับกรณีจัดหางาน โดยตั้งบริษัทรับทำวีซ่า ชื่อ บริษัท คิงดอม คอร์ปอเรชั่น จำกัด อ้างว่าจัดหางานในต่างประเทศได้ แต่สุดท้ายก็ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีฉ้อโกง ครั้งนั้นแจ้งกับตำรวจว่า ได้จ่ายเงินให้นายหน้าจัดหางานไปหมดแล้ว แต่นายหน้าทำผิดสัญญาเอง

หรือในชื่อว่า “น.ส.อิทธิพัทธ์ วชิรมโน” ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีเปิดบริษัทวาชิกรุ๊ป หาผู้ร่วมลงทุนธุรกิจคาสิโน มีการระบุความเสียหายกว่า 500 ล้านบาท แต่สุดท้าย “เฮียเต่า” อ้างว่ามีการยกฟ้องไป เพราะศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าหนี้เกิดจากการพนัน ไม่ต้องรับผิดชอบคืนลูกหนี้ และมูลหนี้จริงๆ ประมาณ 36 ล้าน บาทบางส่วนใช้คืนไปแล้ว

กระทั่งมาปรากฎเป็น 1 ใน 8 รายชื่อ ที่ถูกออกหมายจับในคดีฟาร์มเห็ด เทอร์เทิ่ล และใช้ฉายาใหม่ว่าเฮียเต่า ล่าสุด มีรายงานว่า เฮียเต่าและแฟนสาว ได้หลบหนีไปยังประเทศอังกฤษแล้ว

ปัญหาฉ้อโกงคดีแชร์ลูกโซ่ ถือเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า รูปแบบที่พบมากจัดเป็น 4 กลุ่ม คือ

1.แชร์ลูกโซ่ที่แฝงมากับการลงทุนน้ำมันดิบ ทองคำ สกุลเงินต่างประเทศ โดยใช้ผลประโยชน์หลอกลวง ชักจูงในการเก็งกำไรจากการ “ซื้อขายล่วงหน้า” โดยในส่วนนี้มีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว และอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

2.แชร์ลูกโซ่ที่แฝงมากับการลงทุนสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ซึ่งในส่วนนี้มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ก.ส.ล.) กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานกำกับดูแล

3.แชร์ลูกโซ่ที่แฝงมากับ “ธุรกิจขายตรง” สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ในส่วนนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ

4.แชร์ลูกโซ่ที่แฝงมากับกองทุน “ฌาปนกิจสงเคราะห์”

รูปแบบและวิธีการของแชร์ลูกโซ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าใดนัก คือ เน้นหาสมาชิก-มีหัวหน้าทีม-ให้ผลตอบแทนสูงมากในเวลาสั้นๆ ดึงดูดคนให้ผู้บริโภคเป็นเหยื่อ เน้นหาเพื่อนมาร่วมลงทุนจำนวนมาก ผลตอบแทนมากขึ้นตามจำนวนสมาชิกในทีม

ในปัจจุบันพบมีการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงทำการตลาดมากขึ้น ช่องทางสำคัญที่แก๊งแชร์ลูกโซ่ใช้เข้าถึงเหยื่อในปัจจุบัน คือ “โลกออนไลน์” ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ หรือเฟซบุ๊ก โดยแฝงมากับสินค้าที่ได้รับความนิยมสูง ในช่วงแรกจะพบว่า บัญชีตัวเองมีผลตอบแทนเข้ามาจริง แต่สุดท้ายปิดเว็บไซต์ เพื่อเชิดเงินหนี แล้วไปเปิดเว็บใหม่

จากการทำงานพบว่า ภาพรวมปัญหาแชร์ลูกโซ่ในสังคมไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแชร์ลูกโซ่แฝงไปกับธุรกิจต่างๆ มากกว่าในอดีต จนทำให้มีคดีความมากขึ้น เมื่อพิจารณาถึงลักษณะวิธีการหลอกลวงแล้วมีหลากหลายรูปแบบ และมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น

ผู้ที่คิดจะลงทุนต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวง และอาจทำได้ด้วยการตรวจสอบข้อมูล 2 อย่าง คือ

1.ตรวจสอบบริษัท
บริษัทเปิดมาเพื่อทำกิจการอะไรหรือเปิดมาเพื่อหมุนเวียนเงิน หรือแผนการตลาดให้ผลตอบแทนได้จริงหรือไม่

2.ตรวจสอบแผนการลงทุน
ต้องดูว่าเงินทุนที่ลงไปนั้น บริษัทนำไปลงทุนอะไร สินค้าหรืออสังหาริมทรัพย์ แต่ถ้าไม่มีการทำธุรกิจอะไรเลย หรือไม่ลงทุนอะไรเลย แล้วจะนำผลกำไรกลับมาได้อย่างไร

สุดท้ายแล้ว หน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่กล่าวแล้วข้างต้น รวมถึงหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ต้องผนึกกำลังกันเพื่อป้องกันและปราบปรามขบวนการแชร์ลูกโช่ โดยร่วมกันให้ความรู้แก่ประชาชน อย่างต่อเนื่องถึงเล่ห์กลโกง รูปแบบวิธีการขององค์กรอาชญากรรม

……………………………….

รายงานพิเศษ …“ฟ้าคำราม”

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img