เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา มีการพิจารณาประเด็นสำคัญ จากคณะกรรมาธิการแรงงาน เมื่อ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ หรือ Migrant Working Group (MWG) ร้องเรียนกรณีแรงงานต่างด้าว ถูกนายจ้างเป็นเอกชน 2 แห่ง หักเงิน “ค่าตำรวจ” ระบุเอาไว้ในสลิปเงินเดือน
“อดิศร เกิดมงคล” ผู้จัดการ MWG เปิดเผยว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวในจังหวัดระยอง ว่าถูกนายจ้างหักเงิน “ค่าตำรวจ” มาตั้งแต่ปี 2563 เลยตัดสินใจมาร้องเรียนกับเครือข่ายให้ช่วยเหลือ หลังจากนั้น ได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยัง กมธ.แรงงาน กระทั่งมีการเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ประชุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา
โดยผู้แทนบริษัทเอกชน 2 แห่ง ชี้แจงกับกรรมาธิการแรงงาน โดยอ้างว่า บริษัทไม่ได้มีการจ่ายค่าตำรวจแต่อย่างใด แต่ที่หักในสลิปเงินเดือนช่วงสถานการณ์โควิด บริษัทได้หารือกับพนักงานในเรื่องของการดูแล อำนวยความสะดวก เช่นการบริการพาไปโรงพยาบาล
โดยบริษัทขอเก็บค่าดำเนินการจำนวน 300 บาท ต่อคน ต่อเดือน และได้หารือกับพนักงานจนได้ข้อตกลงร่วมกัน ระบุเป็น “ค่าตำรวจ” ในสลิปเงินเดือน ต่อมาเห็นว่าไม่ถูกต้อง บริษัทจึงคืนเงินส่วนที่หักจากแรงงานต่างด้าว ให้ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2565 แล้ว
ด้าน “คอรีเยาะ มานุแช” ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ที่เข้าร่วมประชุมในกรรมาธิการแรงงาน เปิดเผยว่า เรื่องนี้ดูไม่สมเหตุสมผล เป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะการที่ผู้ประกอบการ เอกชน 2 แห่ง อ้างว่า ที่กำหนดว่า “ค่าตำรวจ” ในสลิป เป็นค่าบริการให้แรงงานต่างด้าว อำนวยความสะดวกรับส่งไปโรงพยาบาลในช่วงโควิด-19
เนื่องจากแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ อยู่ในระบบประกันสังคมอยู่แล้ว เหตุใดต้องไปจ่ายค่าอำนวยความสะดวกอื่นใดอีก
ขณะที่ตัวแทนสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง ตรวจสอบพบว่า “ค่าตำรวจ” ที่เอกชนหักลูกจ้างต่างด้าว อ้างเป็นค่าใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์โควิด ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ไม่สามารถหักเงินได้
ทางพนักงานตรวจแรงงาน ได้มีคำวินิจฉัยให้นายจ้างจ่ายคืนเงินทั้งหมด ที่หักจากพนักงาน 64 คน คนละ 300 บาท จำนวน 10 เดือน เฉลี่ยคนละ 3 พันบาท นอกจากนี้จะดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติม เพราะคำร้องระบุว่ามีการหักค่าตำรวจตั้งแต่ปี 2563
ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่า ได้ทำการตรวจสอบแล้ว พบว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้รายงาน ทั้งนี้ อาจมีการเกี่ยวข้องระหว่างตำรวจและสถานประกอบการ จะได้ตั้งกรรมการสอบสวนต่อไป
ขณะที่ทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่าขอตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ให้เกิดความชัดเจนเสียก่อน แล้วจะได้ชี้แจงประเด็นนี้อีกครั้งหนี้
ในวันที่ 7 ก.ย.นี้ ทาง กมธ.แรงงาน ได้นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดหารืออีกครั้ง หลังจากมีคำสั่งให้ไปทบทวนแนวทางแก้ไขปัญหา และดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
ต้องจับตาว่า “ค่าตำรวจ” ในสลิปเงินเดือนของแรงงานต่างด้าว ถือเป็น “ใบเสร็จ” ยืนยันชัดเจน จะจบลงอย่างไร
……………………………………….
รายงานพิเศษ โดย “ฟ้าคำราม”