หลังจากที่ได้ศึกษารายละเอียดโครงการกันมาหลายปี หลายรัฐบาล สำหรับโครงการสะพานเศรษฐกิจทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ (Land bridge) เป็นอีกหนึ่งในแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ที่กระทรวงคมนาคมคาดหวังจะเป็นโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การขนส่ง
สำหรับความคืบหน้าของโครงการ Land bridge นั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ระบุว่า โครงการ Land bridge ชุมพร-ระนอง เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ในขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบ เบื้องต้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 อย่างแน่นอน
โดยหลังจากที่ศึกษาแล้วเสร็จก็จะเร่งนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในทันที หลังจาก ครม. เห็นชอบ ในต้นปี 2566 กระทรวงคมนาคมจะนำโครงการไปจัดโรดโชว์นำเสนอในประเทศต่างๆ ให้เอกชนและบริษัทสายการเดินเรือระดับโลก อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของไทย สร้างโอกาสการลงทุนของต่างประเทศซึ่งจะผลต่อความั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตอย่างแน่นอน
“โครงการ Land bridge นั้นเป็นหนึ่งในนโยบาย ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางน้ำ นอกเหนือจากการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือมาบตาพุดที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการ Land bridge กระทรวงคมนาคมได้คัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือที่เหมาะสมที่สุดแล้ว โดยฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง คือพื้นที่แหลมอ่าวอ่าง และฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร คือพื้นที่แหลมริ่ว เนื่องจากพื้นที่ทั้งสองฝั่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEU ตามผลการคาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะเข้ามาที่ยัง Land bridge รวมทั้งยังสามารถขยายท่าเรือในอนาคตให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากถึง 40 ล้าน TEU เทียบเท่ากับปริมาณสินค้าที่ท่าเรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน และอยู่ใกล้กับร่องน้ำลึก รองรับการเข้าใช้งานของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ และตำแหน่งท่าเรือยังสอดคล้องกับผลการศึกษาแนวเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และระบบราง MR8 ชุมพร-ระนอง โดยจากผลการศึกษาเบื้องต้นคาดว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะใช้เงินลงทุนในระยะเริ่มต้นประมาณ 4 แสนล้านบาท และเมื่อพัฒนาให้รองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1.08 ล้านล้านบาท