ความเครียดและความกังวลที่เกิดขึ้นอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเรา และนำไปสู่อาการ “รับประทานตามอารมณ์” หรือ “รับประทานเพราะความเครียด” ที่ทำร้ายสุขภาพได้
ซูซาน โบเวอร์แมน ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการศึกษาและการฝึกอบรมโภชนาการระดับโลกของเฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น นักกำหนดอาหารและผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการกีฬาที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองด้านโรคอ้วนและการดูแลจัดการน้ำหนัก
การรับประทานอาหารเพราะความเครียดหรือรับประทานตามอารมณ์ คือการที่เรารับประทานอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติเพื่อหลบหนีจากอารมณ์ด้านลบที่เรากำลังเผชิญอยู่ และหวังว่าอาหารที่รับประทานเข้าไปจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นได้
เพราะความเครียดทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าและซึมเศร้าได้ เราจึงอยากรับประทานเมนูคอมฟอร์ทฟู้ดที่ดีต่อใจมากกว่ารับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพในเวลานั้น อาหารคอมฟอร์ทฟู้ดที่มีแคลอรี่สูงเหล่านี้จะไปกระตุ้นสารเคมีในสมองที่ช่วยให้เรารู้สึกดีและทำให้เกิดความอยากรับประทานอีกเรื่อย ๆ และเมื่อเรารับประทานมากเกินไป น้ำหนักตัวก็เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เราเครียดและยิ่งรับประทานมากขึ้นไปอีก กลายเป็นวงจรทำร้ายสุขภาพไม่รู้จบ
เคล็ดลับวิธีหยุด “กินเพราะเครียด” ที่ดีที่สุด
1. ยอมรับความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นในใจ เรารู้อยู่แล้วว่าอารมณ์ความเครียดเป็นตัวกระตุ้นให้เราเกิดพฤติกรรมการรับประทานที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทางแก้ก็คือเราควรยอมรับความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้น และเข้าใจว่าเราสามารถรู้สึกโกรธ ไม่พอใจ เหงา และเบื่อได้ในบางครั้ง แม้มันจะไม่ใช่ความรู้สึกที่ดีแต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอันตราย และเราไม่จำเป็นต้องหาทาง “แก้” อารมณ์เหล่านั้นเสมอไป ปล่อยให้ความรู้สึกมันเกิดขึ้นและปล่อยวางโดยไม่ต้องไปคิดว่ามันเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีบ้าง
2. หาวิธีผ่อนคลายอารมณ์แบบอื่น ๆ แทน ลองออกไปเดินเล่นหรือดื่มชาสมุนไพรสักถ้วยอาจจะช่วยคลายเครียดได้ดีกว่า ถ้าคุณรู้สึกอยากรับประทานอาหารจริง ๆ ให้เลือกอาหารที่แข็งและกรุบกรอบ เช่น อัลมอนด์ เมล็ดถั่วเหลือง หรือเบบี้แครอท เพราะการใช้ฟันขบเคี้ยวและการบริหารขากรรไกรจะช่วยลดความเครียดได้
3. รับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ อย่าอดอาหาร บอกตัวเองให้รับประทานอาหารทุกมื้อตามปกติ บางครั้งเวลาที่เราเครียด เราอาจเลื่อนเวลารับประทานอาหารออกไปหรือไม่รับประทานเลย แล้วเราจะสูญเสียระดับพลังงานที่ร่างกายต้องการ และพอถึงเวลาที่เรารับประทานจริง ๆ เราอาจจะลงเอยด้วยการรับประทานมากเกินความต้องการ ถ้าความเครียดทำให้เราไม่รู้สึกอยากอาหาร ลองรับประทานในปริมาณที่น้อยลงแต่รับประทานให้บ่อยขึ้นในระหว่างวันแทน
4. ลดคาเฟอีน เวลาที่เราเครียด ร่างกายเรามักรู้สึกขาดพลังงานและหันไปหาเครื่องดื่มคาเฟอีนเพื่อให้รู้สึกสดชื่น กระปรี้ประเปร่า แต่ก็ทำให้เรานอนไม่หลับตอนกลางคืน แนะนำให้ดื่มกาแฟและชาที่ไม่มีส่วนผสมของคาเฟอีนแทน
5. ฝึกรับประทานอาหารอย่างมีสติ (mindful eating) เวลาที่เรารับประทานอาหารอย่างมีสติ เราจะสังเกตเห็นสัญญาณร่างกายตัวเองได้ดีขึ้นเวลาที่รู้สึกหิวหรืออิ่ม และมองเห็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เรารู้สึกอยากรับประทานตั้งแต่แรกได้ง่ายขึ้นด้วย การรับประทานอย่างมีสติช่วยให้เราเลี่ยงการรับประทานมากจนเกินไปและทำให้เราเพลิดเพลินกับอาหารที่รับประทานได้มากขึ้นแม้ในตอนที่เรารับประทานน้อยลงก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น เราจะใส่ใจเลือกสรรอาหารที่ดีให้แก่ร่างกายมากขึ้น