ท่ามกลางความสงสัยว่า สุดท้ายแล้ว ขุนคลังคนที่ 54 จะไปออกที่ใครกันแน่ ? เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขออุบไว้ก่อน
แถมปฎิเสธชัดเจนว่า สารพัดรายชื่อที่หยิบโยนกันออกมานั้น ไม่มีรายชื่อใดถูกต้องสักคน !! โดยในสัปดาห์นี้ คาดหมายว่า จะมีความชัดเจนและเห็นโฉมหน้ากันได้สักที
แต่เอาเข้าจริง ผ่านมา 1 เดือนแล้ว หลังจาก ”ปรีดี ดาวฉาย” ขุนคลัง 27 วัน ลาออก ดูเหมือนหลายฝ่ายอาจลืมเลือนไปแล้วด้วยซ้ำว่า ณ เวลานี้ไม่มี ”ขุนคลัง”
เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะ…การขยันเดินสายชี้แจง แถลงนโยบายด้านเศรษฐกิจ ของ ”สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชา”รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ที่สามารถเรียกร้องความสนใจจากกระแสสังคมได้ไม่น้อย
เช่นเดียวกับการเปิดเวที การเปิดห้องทำงานของ ”ไพรินทร์ ชูโชติถาวร” ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ภายใต้ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) หรือ ศบศ.
หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ ว่าจริง ๆ แล้ว ”ดร.ไพรินทร์” ดูจะเป็นรองนายกฯเศรษฐกิจ ตัวจริง ด้วยซ้ำไป ดูได้จากการมอบหมายงานของนายกรัฐมนตรี ที่แต่ละงาน ถือเป็นเรื่องสำคัญ
การที่ ”ดร.ไพรินทร์” ยอมเปิดห้อง เพื่ออธิบายความถึงการทำงานของศบศ. ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็สามารถเทียบเคียงได้กับการทำงานของครม.เศรษฐกิจ แต่อาจมีเพิ่มเติมในส่วนของมือทำงาน อย่างปลัดกระทรวง นักคิด อย่างนักวิชาการ รวมไปถึงตัวจริงเสียงจริง อย่างตัวแทนภาคเอกชน
ความพยายามในการสื่อความของทั้ง ”สุพัฒนพงษ์ และไพรินทร์” เป้าหมายก็เพื่อต้องการเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนชาวไทย ของนักลงทุนทั้งไทยและเทศ ให้กลับมาเชื่อถือในศักยภาพของประเทศไทย
เช่นเดียวกับความพยายามในการนำเสนอล่าสุดความพยายามในการนำเสนอชุดมาตรการ ภายใต้โครงการ ”สะพานไทย” เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และขับเคลื่อนอนาคตของชาติให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง
ดร.ไพรินทร์ บอกว่า แนวคิดของโครงการ ”สะพานไทย” ก็เพื่อต้องการเชื่อมต่อโครงการอีอีซี ในภาคตะวันออก ไปยังภาคใต้ ในรูปแบบของการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างจังหวัดชลบุรี ไปยังจังหวัดเพชรบุรี หรือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ความยาวประมาณ 80 กม.
”สะพานไทย”จะมีลักษณะเช่นเดียวกับอ่าวโตเกียวของญี่ปุ่น หรือสะพานเชื่อมฮ่องกง-มาเก๊า-จูไห่ ของจีน ซึ่งเป็นการย่นระยะทางระหว่างการเดินทาง 2 ฝั่ง โดยนำความเจริญจากภาคตะวันออกไปสู่ภาคใต้ โดยเบื้องต้นประเมินว่าใช้เงินลงทุนราว ๆ 9 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 10 ปี
ดร.ไพรินทร์ ยังย้ำอย่างชัดเจนเพื่อการันตีโครงการนี้ เพราะจากการศึกษาทางธรณีวิทยาแล้ว โครงการสะพานไทยมีความเป็นไปได้มาก เพราะความลึกของอ่าวไทยมีเพียง 20 เมตร หากใช้ความเชี่ยวชาญที่ไทยมีการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมายาวนาน โดยเฉพาะ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ทะเลไทยสร้างได้แน่
ทั้งหลายทั้งมวล…ถือเป็นโครงการเพื่ออนาคต ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการศึกษาที่รอบคอบและรอบด้าน ที่มอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรหรือสนข. สํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี รวมทั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ไปร่วมกันทำการศึกษาให้ชัดเจน ก่อนลงมือนับหนึ่ง
เรื่องการลงทุนภาครัฐ ถือเป็นเรื่องในระยะยาว แต่ต้องยอมรับว่า หากรัฐ ไม่สามารถสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการลงทุนให้เกิดขึ้นได้โดยเร็ว แต่ปล่อยเวลาให้ทอดยาวออกไป แบบไม่มีจุดหมาย ยิ่งมีแต่ผลเสีย
ณ เวลานี้ เครื่องยนต์เศรษฐกิจ ที่พอทำงานได้ มีเพียง ”การลงทุนภาครัฐ” เท่านั้น หากเครื่องยนต์นี้ ”ดับ” นั่นหมายความว่า… อนาคตเศรษฐกิจชาติจะดับวูบตามไปด้วยเช่นกัน !!
……….
Virgo