เพจ “ชมรมแพทย์ชนบท” แฉเบื้องหลังนายกฯแถลงตั้งเป้าเปิดประเทศใน 120 วัน เป็นการชงเรื่องมาจาก “ศบศ.” กุนซือสายเศรษฐกิจ โดยผู้ใหญ่ในสธ. รู้เรื่องพร้อมกับปชช. แต่เแผนปฏิบัติการยังไม่เห็นและไม่มีใครเห็น สะกิดเตือนหากมีระบาดรอบใหม่ด้วยสายพันธุ์ใหม่ วัคซีนที่ฉีดไปจะเอาไม่อยู่ จะพีกระบาดอีกรอบ
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.64 เพจ “ชมรมแพทย์ชนบท” เสนอเนื้อหาเรื่อง “ลับลวงพราง วัคซีนโควิด ตอน 14 : 20-06-64” ระบุว่า…เปิดประเทศใน 120 วัน มุมมองในทัศนะแพทย์ชนบท ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมทีมงานกุนซือของนายกฯประยุทธ์ที่สามารถแก้เกมส์ทางการเมืองได้ดี เบี่ยงประเด็นจากที่คนนับวัคซีนว่า วันนี้วัคซีนจะมาไหมมากี่โดส มาเป็นการนับวันถอยหลังเตรียมเปิดประเทศแทน
16 มิถุนายน 2564 นายกแถลงเป้าหมายของประเทศได้อย่างแหลมคมว่า “ตั้งเป้าเปิดประเทศใน 120 วัน เราก็ไม่สามารถรอจนทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดสกันถ้วนหน้าก่อน” จากเดิมที่ทุกคนเข้าใจเองโดยรัฐบาลไม่ได้ประกาศว่า น่าจะเปิดประเทศได้ในช่วงหลังปีใหม่ 2565 เพราะเราฉีดวัคซีนกันครบ 2 เข็มแล้ว ครั้งนี้ทีมงานนายกฯขยับเวลาแห่งความหวังให้เร็วขึ้นมาอีก 2 เดือน ด้วยชุดคิดพยุงเศรษฐกิจและเห็นว่าช่วงตุลาคมนั้นตามแผนเดิมของรัฐบาล คนส่วนใหญ่ราว 60% จะได้วัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว แล้วบางส่วนก็ได้ 2 เข็มไปบ้างแล้ว
ข่าววงในสุดๆบอกว่า การแถลงข่าวของนายกฯประยุทธ์ต่อเรื่องการเปิดประเทศ 120 วันในครั้งนี้ กุนซือที่ชงเรื่องมาจากสายเศรษฐกิจในนามของ “ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ” (ศบศ.) ที่มีสภาพัฒน์เป็นเลขาใหญ่ และที่น่าสนใจคือ การตัดสินใจครั้งนี้ของนายกฯประยุทธ์ แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในสายสาธารณสุขเอง ก็รู้เรื่องพร้อมประชาชน!! นายกฯอาจจะคิดว่า ถ้าปรึกษาพวกหมอๆ แล้ว คงไม่ได้เปิดประเทศเดือนตุลาคมเป็นแน่แท้
คำถามใหญ่ที่สำคัญคือ “120 วันเปิดประเทศนี่คือเป้า แต่แผนปฏิบัติการไปสู่เป้าหมายนี้คืออะไร มีไหม อย่างไร” เรายังไม่เห็นและไม่มีใครเห็น คงต้องให้เวลารัฐบาลอีกสักนิด อย่างไรก็ตาม ตามหลักวิชาการการเปิดประเทศจะล้มหรือรุ่ง ปัจจัยสำคัญคือ เราสามารถควบคุมโรค จนไม่มีการระบาดใหญ่ในรอบเดือนตุลาคมเป็นต้นไปได้หรือไม่
การระบาดใหญ่จะมาจาก 2 เหตุคือ วัคซีนมีไม่มากพอ และ มีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ สองปัจจัยสำคัญด้านระบาดวิทยา
หัวใจของการเปิดประเทศจึงอยู่ที่จำนวนวัคซีนที่จะได้ฉีดกันอย่างถ้วนหน้าไหมอยู่ดี ทีมงานรัฐบาลก็รู้ว่า จำนวนวัคซีนคือปัจจัยชี้ขาด แอสตร้าไทยแลนด์ในเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปจะส่งได้ 10 ล้านโดสตามที่รัฐบาลระบุไว้จริงไหม ซึ่งคงต้องลุ้นอย่างหนัก ดังนั้นช่วงนี้จึงเห็นความพยายามที่จะนำเข้าวัคซีนเพิ่มขึ้น มีการเจรจาขอซื้อซิโนแวคเพิ่มอีก 28 ล้านโดส เร่งรัดนำเข้าไฟเซอร์เพื่อเด็กนักเรียน เป็นต้น
และหากมีการระบาดระลอกใหม่ที่มาจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่เข้ามา วัคซีนที่เราฉีดไปอาจไม่สามารถสร้างภูมิป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้เต็มที่ ก็จะเกิดพีคการระบาดขึ้นมา ดังนั้นการป้องกันการเข้ามาของเชื้อกลายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาตามแนวชายแดนจึงสำคัญมากๆ นายกฯกำลังสื่อสารเพื่อสร้างความหวัง แต่นั่นอาจไม่ใช่ความจริง ถ้าวัคซีนไม่พอ และมีการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์