ศบศ.เห็นชอบมาตรการช้อปดีมีคืน จับจ่ายซื้อสินค้าและบริการไม่เกิน 3 หมื่นบาทมาลดหย่อนภาษีได้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.– 31 ธ.ค.63 พร้อมขยายเวลาเราเที่ยวด้วยกันถึงม.ค.64 คาดจะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 2 แสนล้านบาท
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2563 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้ภายหลังการประชา นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบศ. เห็นชอบมาตรการช้อปดีมีคืน
โดยให้คนไทยจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการกับผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้านหนังสือ สินค้าโอทอป ไม่รวมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ยาสูบ สลากกินแบ่งรัฐบาล น้ำมัน ที่พัก และตั๋วเครื่องบิน สามารถนำค่าใช้จ่ายไม่เกินคนละ 3 หมื่นบาทมาลดหย่อนภาษีได้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.– 31 ธ.ค.63
ทั้งนี้ประเมินว่ารัฐจะสูญรายได้จากภาษีประมาณหมื่นล้านบาท ซึ่งผู้เข้าร่วมมาตรการต้องไม่ได้ใช้สิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือโครงการคนละครึ่งด้วยและจะเสนอ ครม.เห็นชอบสัปดาห์หน้า
ที่ประชุมยังมีมติให้ขยายเวลาโครงการกำลังใจ และเราเที่ยวด้วยกัน ไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค.64 พร้อมทั้งปลดล็อกให้คนที่ร่วมโครงการสามารถใช้สิทธิทั้งที่พัก และร้านอาหารในจังหวัดของตัวเองได้ ซึ่งเชื่อว่าช่วยให้คนสามารถใช้สิทธิได้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี ยังได้ขอให้ทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมไปหาวิธีช่วยปรับโครงสร้างหนี้กับประชาชนที่ได้พักหนี้ไปในช่วงโควิด ซึ่งมีวงเงินรวมกว่า 7 ล้านล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้กว่า 12.5 ล้านคน
“ด้วยมาตรการของรัฐบาลที่ออกมาทั้งหมดจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไปได้ เพราะประเมินว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 63 จะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 2 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากมาตรการต่างๆที่รัฐทำ ทั้งการเติมเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2.1 หมื่นล้านบาท คนละครึ่ง 6 หมื่นล้านบาท และช้อปดีมีคืน อีก 1.2 แสนล้านบาท ที่คำนวณจากฐานผู้เสียภาษี 4 ล้านคน”
นอกจากนี้ที่ประชุม ศบศ. ยังหารือถึงมาตรการเปิดประเทศในอนาคต ดึงดูดนักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ นักวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมถึงผู้บริหารระดับสูง เพื่อหารายได้ให้แก่ประเทศ โดยภาพรวมแล้วในช่วง 4 – 5 เดือนที่ผ่านมา อัตราความมั่นของผู้บริโภค อัตราการผลิต อัตราการเข้าพักในโรงแรม ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งสำคัญคือการปรับโครงสร้างหนี้ของจำนวนหนี้ที่พักชำระในช่วงล็อคดาวน์ ยอดเงินกว่า 6-7 ล้านล้านบาท มีผู้เกี่ยวข้องจำนวน 12.5 ล้านราย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้วางกรอบแนวทางแก้ไขปัญหา
โดยนายกรัฐมนตรีกำชับให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสมาคมโรงแรมไทย ร่วมบูรณาการเพื่อจัดหามาตรการแก้ไขเรื่องนี้โดยเร็ว