ธปท.ผนึกธนาคารพาณิชย์ช่วยลูกหนี้เอสเอ็มอีต่ออีก 6 เดือน หลังหมดมาตรการพักหนี้พร้อมออกแพคเก็จอื่นต่อโดยเป็นมาตราการเจาะจงไม่เหมาเข่ง
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.และธนาคารพาณิชย์ได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อเนื่อง หลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ที่มีเอสเอ็มอีเข้าร่วม 1.05 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้ 1.35 ล้านล้านบาท
ในจำนวนนี้มี 2.7 แสนบัญชี ยอดหนี้ 9.5 แสนล้านบาทที่เป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ โดยธนาคารติดต่อได้แล้ว 94% และเกินครึ่งหนึ่งที่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ส่วนที่เหลือได้รับความช่วยเหลือต่อ เช่น พักหนี้ต่อไม่เกิน 6 เดือน หรือจ่ายหนี้ได้บางส่วน เป็นต้น
ส่วนที่เหลือ 6% ของยอดหนี้ 9.5 แสนล้านบาท หรือมีอยู่ 16,000 บัญชี ยอดหนี้ 57,000 ล้านบาท ที่ธนาคารยังไม่สามารถติดต่อลูกหนี้เอสเอ็มอีกลุ่มนี้ได้ ให้คงสถานะลูกหนี้ไว้จนถึง 31 ธ.ค.63 และห้ามคิดเบี้ยปรับ หากเกินกว่า 31 ธ.ค.63 ธนาคารจะต้องตั้งสำรองหนี้ตามเกณฑ์ และเสี่ยงที่จะเป็นหนี้เสียเอ็นพีแอล ซึ่งกลุ่ม 6% นี้อาจปิดกิจการ ย้ายสถานประกอบการ เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ หรือไม่รับสาย
ขณะที่ ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่เหลือ 7.8 แสนบัญชี ยอดหนี้ 4 แสนล้านบาท เป็นของสถาบันการเงินของรัฐ หรือแบงก์รัฐ โดยแบงก์รัฐได้พักหนี้ให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีต่อแล้ว 3-6 เดือนแบบอัตโนมัติ
“เอสเอ็มอีที่มีสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาทของแบงก์รัฐได้รับการช่วยเหลือพักหนี้ต่อไปได้ทั้งหมด ส่วนลูกหนี้เอสเอ็มอีของธนาคารพาณิชย์มีส่วนหนึ่งกลับมาจ่ายหนี้ไม่ได้ โดยเปิดทางให้พักหนี้ไปได้ต่อไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งธปท.ให้เริ่มหลังจากสิ้นปี 63 ไปจนถึง 30 มิ.ย.64 โดยสาเหตุที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถพักหนี้ได้ทั้งหมด เพราะจะทำให้สภาพคล่องในระบบธนาคารจากการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยหายไป 2 แสนล้านบาทต่อปี อาจเสียโอกาสคนที่ต้องการสินเชื่อจริง ๆ จากสภาพคล่องส่วนนี้”
นอกจากนี้ ลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ที่ไม่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ ธนาคารอาจให้ความช่วยเหลืออื่น เช่น การปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อไม่ให้เป็นเอ็นพีแอล ลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การพักชำระค่างวด รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย เป็นต้น
นางรุ่ง กล่าวว่า หลังจากสิ้นเดือน มิ.ย.64 หมดมาตรการพักหนี้แล้ว หน่วยงานทุกภาคส่วนทั้ง ธปท. ธนาคารพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ภาคเอกชน จะร่วมประเมินและติดตามสถานการณ์ช่วงเวลานั้นอีกครั้ง และเร็ว ๆ นี้ ธปท.เตรียมออกแพ็กเกจให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากนี้ ซึ่งจะเปิดเผยรายละเอียดอีกครั้ง
“การฟื้นตัวของธุรกิจในแต่ละสาขาไม่เท่ากัน เช่น ธุรกิจเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และการค้า ฟื้นตัวกลับเข้าใกล้ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ขณะที่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังพื้นตัวช้า โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่การฟื้นตัวยังอยู่เพียง 26% ของช่วงก่อนโควิด-19 จึงต้องออกมาตรการแบบไม่เหมาเข่ง เป็นแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อตรงความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย และไม่ให้เกิดปัญหากับลูกหนี้เพราะการพักหนี้ ภาระดอกเบี้ยยังคงมีอยู่ และปัญหามอรัลฮาร์ซาร์ด คือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบไม่มาก อาจอาศัยเป็นช่องทางเพื่อประวิงเวลาการชำระหนี้”