การประชุมวิสามัญวันแรกฝ่ายค้านเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาด เลิกเตะถ่วงแก้ไขรธน.
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่รัฐสภา การประชุมร่วมกันของรัฐสภาสมัยวิสามัญซึ่งมีระเบียบวาระ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน “ขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” (ปัญหาสำคัญที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภา)

โดยเมื่อเริ่มการประชุมนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ชี้แจงที่มาของการประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมัยวิสามัญ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติก็เพื่อการมีส่วนร่วมบรรเทาปัญหาของบ้านเมืองและลดความกังวลของพี่น้องประชาชน ด้วยการให้คำปรึกษากับรัฐบาล

ต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกรัฐสภา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หวังใช้เวทีการประชุมรัฐสภาร่วมหาทางออกร่วมกัน เชื่อทุกฝ่ายมีความรักบ้านเมืองและแก้ปัญหาให้ผ่านไปด้วยกัน
โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าแล้ว รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งด้วยเหตุที่ว่า ญัตตินี้ เป็นญัตติที่ไม่สร้างสรรค์ เนื้อหาสาระของญัตติ มีแนวโน้มที่จะสร้างความแตกแยกร้าวฉานในสังคมไทย ให้ขยายเป็นวงกว้าง ทั่วประเทศ การตั้งญัตติเช่นนี้ รังแต่จะซ้ำเติมสถานการณ์ให้บานปลาย ไม่สามารถเป็นทางออกของสังคมไทยได้ แต่อย่างใด

”ขอเรียกร้องเพื่อคลี่คลายวิกฤตครั้งนี้โดยให้รัฐบาลพิจารณาข้อเสนอของนักเรียน นักศึกษา ประชาชนอย่างจริงจัง แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว เลิกเตะถ่วงหรือดึงให้ล่าช้า เร่งปล่อยตัวนักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ถูกจับกุมเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และนายกรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่งเพราะท่านคือ อุปสรรคสำคัญ ที่เป็นภาระของประเทศ หากท่านลาออก จะถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาด และความล้มเหลวทั้งปวง ที่ได้กระทำลงไป’’
ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.เพื่อไทย ได้อภิปรายเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก ซึ่งเป็นหนทางให้ปัญหายุติลงและทางรัฐสภาต้องลงมติรับหลักการญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมตั้งกรรมาธิการเต็มสภา และเริ่มกระบวนตั้ง ส.ส.ร. ทั้งนี้นายกฯ ต้องยืนขึ้นประกาศลาออก และเมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มีการยุบสภา นำไปสู่การเลือกตั้ง