“ซีไนน์” เปิดตัวเลข “ท่องเที่ยวภูเก็ต” ยังวิกฤตหนัก ไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แม้จะเป็นช่วงไฮซีซั่น หลังนโยบายการท่องเที่ยว “ภูเก็ตโมเด็ล” ถูกยกเลิก เหตุจำนวนห้องพักของโรงแรมที่มีอยู่ ไม่สามารถอยู่รอดได้เพียงแค่ “นักท่องเที่ยวในประเทศ”
“ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์” (C9 Hotelworks) บริษัทผู้นำด้านการวิจัยธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ เปิดเผยข้อมูลคาดการณ์เศรษฐกิจการท่องเที่ยวของ “ภูเก็ต” ช่วงไฮซีซั่นปี 2563 นี้ ที่ยังคงไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ อันเนื่องมากจากการรื้อถอน ‘ภูเก็ตโมเดล’ (Phuket Model) ของภาครัฐ และการให้ความสำคัญของรัฐบาลในการใช้กรุงเทพฯ เป็นประตูสู่นานาชาติเพียงแห่งเดียว ส่งผลกระทบมหาศาลต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึงเศรษฐกิจท้องถิ่นในวงกว้าง
“ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส์” ระบุข้อมูลเปรียบเทียบปัจจุบันกับปี 2562 ที่ผ่านมาว่า จากข้อมูลของท่าอากาศยานไทย (ทอท.) พบว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีผู้โดยสาร 121,530 คนเดินทางมายังภูเก็ตโดยเครื่องบิน หรือมากกว่า 4,000 คนต่อวัน โดยส่วนหนึ่งของจำนวนนี้รวมผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่นและนักธุรกิจ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลกับปี 2562 ที่รวมนักเดินทางต่างชาติ เข้ามายังเกาะภูเก็ตสูงกว่าปี 2563 ถึง 5 เท่า ในขณะที่ช่วงฤดูท่องเที่ยว หรือ ไฮซีซั่น (High Season) ที่ปกติตัวเลขจะพุ่งสูงขึ้นในช่วง 6 เดือน (เดือนพฤศจิกายน-เดือนเมษายน) ซึ่งช่วงไฮซีซั่นของปีที่แล้วมีมากกว่า 1 ใน 3 ของอุปสงค์ต่อปี จำนวนผู้โดยสารขาเข้าทั้งในและต่างประเทศที่สนามบินมีจำนวนมากกว่า 9 ล้านคนในปี 2562 สะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่า นักท่องเที่ยวกว่าครึ่งหนึ่งของภูเก็ตหลั่งไหลเข้ามาในช่วงหกเดือนนี้ และช่วงฤดูท่องเที่ยวเป็นผลกระทบที่สำคัญทางเศรษฐกิจของภูเก็ต
ด้านข้อมูลอัตราการเข้าพักของนักท่องเที่ยว ในปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในส่วนประสมทางการตลาด โดยที่ระยะเวลาการเข้าพักโดยเฉลี่ยของโรงแรมที่นำโดยลูกค้ากลุ่มคนในประเทศ (domestic market) ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.8 วัน ในขณะที่ผ่านมานักเดินทางชาวต่างชาติจะมีจำนวนมากกว่าสองเท่า สิ่งนี้หมายความว่า อุปสงค์ของโรงแรมจะลดลงอย่างมากในภาคที่พักทั้งหมดของเกาะ ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราการเข้าพักเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ 10% และพุ่งสูงขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ในโรงแรมระดับบน เนื่องจากนักเดินทางในประเทศให้ความสนใจกับข้อเสนอที่ถูกลงของโรงแรมระดับบนหรือลักชัวรี่ ส่งผลให้ที่พักในระดับกลางและชั้นประหยัด (budget hotel) ที่เป็นตลาดที่ใหญ่กว่า ประสบปัญหาจำนวนผู้เข้าพักลดลง รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กและธุรกิจการท่องเที่ยวในท้องถิ่นยังทรุดหนักอีกด้วย
“บิล บาร์เน็ต” กรรมการผู้จัดการ ซีไนน์โฮเทลเวิร์คส์ (C9 Hotelworks) กล่าวว่า “ตอนนี้เกือบสองเดือนแล้วในกรอบเวลาดังกล่าว สิ่งที่เห็นได้ชัดคือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรักษาช่วงไฮซีซั่น เจ้าของโรงแรมในปี 2564 จะถูกบังคับให้ต่อสู้กับเดือนที่มีการซื้อขายต่ำที่สุดในอดีตของปีภายในเดือนพฤษภาคม ด้วยแนวโน้มที่น่ากลัวเหล่านี้ เรากำลังคาดการณ์การสูญเสียงานจำนวนมาก และการปิดกิจการเนื่องจากไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ที่เกิดการระบาด ซึ่งความต้องการภายในประเทศที่ถูกจำกัดก็ไม่สอดคล้องการจำนวนอุปทานในภูเก็ต ซึ่งมีจำนวนที่พักที่จดทะเบียนในปัจจุบันและยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีขนาด 90,267 ห้องในโรงแรมและสถานประกอบการท่องเที่ยว 1,773 แห่ง ตั้งแต่โครงการระดับกลาง ระดับบน และลักซัวรี่ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 25% ของจำนวนห้องทั้งหมด”
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการโรงแรมหลายแห่งในภูเก็ตได้ตั้งความหวังในช่วงไฮซีซั่นไว้ที่ “ภูเก็ตโมเดล” ที่ขณะนี้ถูกยกเลิกไปแล้วนั้น เพื่อเปิดทางให้กับวีซ่านักท่องเที่ยวพิเศษ (STV) ซึ่งมุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวที่พำนักระยะยาว หรือกลุ่มนักเที่ยวเที่ยวจากตลาด “Snowbird” ในฤดูหนาวจากยุโรปเหนือและรัสเซีย หลายโรงแรมในภูเก็ตจึงเบนเข็มเข้าสู่โปรแกรม Alternative State Quarantine (ASQ) โดยโรงแรมในภูเก็ต 17 แห่งได้รับการอนุมัติ ขณะที่ 21 แห่งอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณา โดยผู้ประกอบการเหล่านี้ต่างดำเนินการทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการทำให้ที่พักมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับ ASQ ก่อนที่โครงการดังกล่าวถูกปิดตัวลงในภูเก็ตอีกครั้งเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลไทยได้กำหนดให้กรุงเทพมหานครเป็นจุดเข้าออกเพียงแห่งเดียวสำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศในจำนวนจำกัด
“บิล บาร์เน็ต” แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ไม่ชัดเจนคือตรรกะของรัฐบาลต่อนโยบายการรื้อถอนโครงการฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่สำคัญของเกาะภูเก็ต อย่าง “ภูเก็ตโมเดล” ซึ่งในที่สุดก็ล้มเหลวในการเปิดตัว ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องได้รับความเชื่อมั่นจากมาตรฐานสากล เช่น มัลดีฟส์ เกาะที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับภูเก็ต ซึ่งในเดือนตุลาคมจุดหมายปลายทางดังกล่าวมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึง 21,514 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน (ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวมัลดีฟส์) เกาะใกล้เคียงอีกแห่งหนึ่ง ได้แก่ สิงคโปร์ มีกำหนดจะเปิด Overseas Travel Bubble ภายในเดือนนี้ไปยังฮ่องกง Hong Kong (SAR)
“การสูญเสียช่วงไฮซีซั่นนี้จะยิ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเจ้าของธุรกิจของเกาะและการดำรงชีวิตของผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่ ด้วยขนาดที่แท้จริงของจำนวนห้องพักของโรงแรมจึงไม่สามารถอยู่ได้เฉพาะกับนักท่องเที่ยวในประเทศ (domestic market) ราคาตั๋วเครื่องบินที่ถูกลง หรือโดยการเพิ่มวันหยุดราชการ!”