“ลุง-ป้า” ร้อง “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ศาลฎีกา กับ ศาลปกครองสูงสุด ตัดสินคดีตึกแถว 6 ชั้น สวนทางกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นตึกจัดสรรชุดเดียวกันและอยู่ติดกัน เจ้าของตึกขัดแย้ง จึงต่างคนต่างร้องผลปรากฏว่า ศาลฎีกา สั่งห้ามรื้อ แต่ศาลปกครองสูงสุด สั่งให้เขตป้อมปรามฯ รื้อ
เมื่อวันที่ 30 พ.ย.63 นายพินิจ ตัญติวิญญูพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 3 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินพร้อมคณะเข้าตรวจสอบกรณีนายสมชาย และนางเพชรรัตน์ อุตมะวณิชย์ สามี-ภรรยา อาชีพค้าขาย อยู่ที่ตึกแถวอาคาร 6 ชั้นเลขที่ 32-38 ถนนยุคล 1 แขวงวัดเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. ยื่นร้องขอความเป็นธรรม กรณีเขตป้อมปรามฯ จะเข้ารื้ออาคาร 6 ชั้น 5 คูหา ในวันที่ 2 ธันวาคม 2563 เพื่อให้เหลือเพียง 4 ชั้น ตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด
อาคาร 6 ชั้น 5 คูหาดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของตึกแถวที่ก่อสร้างเมื่อปี 2507 รวมทั้งหมดจำนวน 33 ห้อง โดยออกแบบให้ด้านหน้าอาคารมี 4 ชั้น ส่วนด้านหลังจะมี 6 ชั้นทั้งหมด 33 คูหา ต่อมาเพื่อนบ้านเกิดความขัดแย้งกับเจ้าของเดิม จึงร้องเรียนว่า ตึก 5 คูหามีการต่อเติมจาก 4 ชั้นเป็น 6 ชั้น เมื่อมีการโต้แย้งว่า ตึกแถวของเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ติดกัน เป็นอาคารชุดเดียวกันมีลักษณะเหมือนกัน ก็ต้องถูกรื้อเช่นกัน ดังนั้นเขตป้อมปราบฯ จึงออกคำสั่งให้รื้ออาคารของคู่กรณีทั้ง 2 ราย
ปรากฏว่า เพื่อนบ้านได้ร้องต่อศาลยุติธรรมว่า คำสั่งของเขตป้อมปราบฯ ไม่ชอบ ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีปกครอง ซึ่งทำหน้าที่ระหว่างการจัดตั้งศาลปกครองได้พิพากษาว่า คำสั่งของเขตป้อมปราบฯ ไม่ชอบ ขณะเดียวกันเพื่อนบ้านได้ไปร้องต่อศาลปกครองกลางให้สั่งเขตป้อมปราบฯ ดำเนินการรื้อตึก 5 คูหาต่อไป ท้ายสุดศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้รื้อตึก 5 คูหา
ก่อนที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่ง นายสมชาย ได้เข้าซื้อตึก 5 คูหาโดยไม่ทราบว่า มีเรื่องพิพาทกันอยู่ก่อน จึงเป็นผู้ร้องสอด เพราะอาคารดังกล่าวสร้างมาตั้งแต่ปี 2507 ก่อนที่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคารจะประกาศใช้ในปี 2522 กฎหมายไม่ควรมีผลย้อนหลัง แต่ก็ไม่เป็นผล ทำให้นายสมชายสงสัยเป็นอย่างยิ่งกว่า ทำไมศาล 2 แห่งถึงตัดสินไม่เหมือนกัน ทั้ง ๆ อาคารทั้ง 33 คูหาก่อสร้างพร้อมกัน ใบอนุญาตจัดสรรเดียวกัน แบบสถาปัตยกรรมเดียวกัน จึงไปร้องขอความเป็นธรรมจากผู้ตรวจการแผ่นดิน
อย่างไรก็ตามหลังจากคณะเจ้าหน้าที่ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจดูอาคารแล้ว จึงเดินทางไปที่เขตป้อมปราบฯ เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม.