จักษุแพทย์แนะผู้ปกครองสังเกตการณ์มองเห็นของลูก หลาน หากพบเร่งแก้ไข ก่อนกระทบการมองเห็นถาวร
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคตาเหล่ ตาเข คือ ภาวะที่การมองของตาทั้งสองข้างไม่ได้อยู่ในทิศทางเดียวกันและทำงานไม่ประสานกัน ผู้ป่วยจะใช้เพียงตาข้างที่ปกติจ้องมองวัตถุ ส่วนตาข้างที่เหล่อาจจะเบนเข้าด้านในหรือด้านนอก ขึ้นบนหรือลงล่างก็ได้ แนะนำว่าในเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 1 – 3 ปีครึ่ง ควรได้รับการตรวจตา หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นตาเข ตาเหล่ เพราะหากมีปัญหาจะได้รีบรักษาให้เร็ว หากไม่ได้รับการรักษาอาจจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการมองเห็นอย่างถาวร เกิดภาวะตาขี้เกียจได้
นพ.เกรียงไกร นามไธสง ผอ.รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า ภาวะตาเข ตาเหล่ อาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น เกิดจากพันธุกรรม ความผิดปกติของสายตา กล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต ประสบอุบัติเหตุ เนื้องอก ต้อกระจกหรือภาวะอื่นๆ ที่ทำให้การมองเห็นเสียไป
วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและสาเหตุของโรค ตาเหล่บางชนิดสามารถรักษาได้โดยไม่ต้องผ่าตัด บางชนิดรักษาโดยการผ่าตัดเท่านั้น หรืออาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น 1.การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด แต่ใช้แว่นสายตา ในผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากสายตาผิดปกติ เช่น สายตายาวที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดตาเหล่เข้า การฝึกกล้ามเนื้อตาการรักษาด้วยยาฉีดที่กล้ามเนื้อตา อย่างไรก็ตาม หากเด็กอายุเกิน 10 ปี ประสิทธิภาพการรักษาอาจลดลง ส่งผลให้ตามัวอย่างถาวรได้
2.การรักษาโดยการผ่าตัด เป็นการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาทำให้ตาตรง เป็นผลดีต่อการทำงานของตาช่วยทำให้การมองเห็นมีประสิทธิภาพดีขึ้น และส่งผลดีต่อพัฒนาการและบุคลิกภาพของเด็กด้วย อย่างไรก็ตามการดูแลหลังผ่าตัดมีความสำคัญ ในช่วงสัปดาห์แรกควรหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำเข้าตา เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ และควรหมั่นพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจดูอาการอย่างต่อเนื่อง