ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษานวัตกรรมตรวจเลือดหาสารบ่งชี้อาการสมองเสื่อมแฝง รู้ล่วงหน้า 10 ปี เตรียมตัวเพื่อชะลออาการอัลไซเมอร์เมื่อสูงวัย
นพ.ภูษณุ ธนาพรสังสุทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และหัวหน้าโครงการนวัตกรรมการตรวจเลือดวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางการป้องกันอัลไซเมอร์ว่า “โรคอัลไซเมอร์มีระยะฟักตัว 10-15 ปี ก่อนที่จะเริ่มแสดงอาการ เรียกได้ว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์แฝง ผู้ป่วยจะไม่มีอาการใด ๆ สามารถทำงานได้ตามปกติ จนเมื่อการดำเนินโรคไปถึงจุดที่อาการเริ่มปรากฎ ผู้ป่วยก็สูญเสียเนื้อสมองไปมากแล้ว ตอนนั้นก็ยากจะฟื้นฟูหรือกู้สุขภาวะของสมอง แต่ตอนนี้ เรามีวิทยาการทางการแพทย์ที่ช่วยให้เราสามารถตรวจพยาธิสภาพของโรคอัลไซเมอร์ได้ล่วงหน้าก่อนเข้าสู่วัยเกษียณ เพื่อที่เราจะได้ดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการสมองเสื่อมก่อนที่จะเกิดอาการ”

ภาวะสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุและหลายโรค โรคที่เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของภาวะสมองเสื่อมคืออัลไซเมอร์ รองลงมาคือโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์นั้นเกิดมาจากหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม มลภาวะ และความเครียด ฯลฯ
อาการสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์มักเกิดกับผู้สูงอายุในช่วง 60 ปีขึ้นไป โดย 1 ใน 16 ของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ ในขณะที่ผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไป อัตราส่วนของการพบผู้ป่วยโรคนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 6 คน
ภาวะสมองเสื่อมเริ่มต้นจากอาการหลง ๆ ลืม ๆ เรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านมา เมื่อมีอาการมากขึ้น ผู้ป่วยจะช่วยตัวเองได้น้อยลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตัวเองอย่างที่เคยเป็นมา ทำให้ต้องมีผู้คอยดูแลตลอดเวลา และเมื่อการดำเนินโรคมาถึงระยะท้าย ผู้ป่วยก็มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้
“โรคนี้เป็นฝันร้ายของคนที่ป่วยเพราะทำให้ตัวตนที่สั่งสมมาหายไป การใช้ชีวิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างในครอบครัว” อ.นพ.ภูษณุ กล่าว

พยากรณ์สมองเสื่อมแฝงก่อนเกิดอาการ โดยทั่วไป การตรวจโรคอัลไซเมอร์ก่อนแสดงอาการมี 2 วิธี ได้แก่
PET Scan (Positron Emission Tomography Scan) เป็นเทคโนโลยีการตรวจโรคทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยใช้ภาพวินิจฉัยการทำงานของอวัยวะและเนื้อเยื่อภายในร่างกาย ค่าใช้จ่ายในการตรวจค่อนข้างแพง และใช้เวลาในการตรวจให้ครบ 2-3 วัน
การเจาะน้ำไขสันหลัง เป็นการตรวจวัดระดับโปรตีนที่ก่อโรคอัลไซเมอร์โดยการเจาะน้ำไขสันหลัง ซึ่งในประเทศไทยต้องทำโดยแพทย์เท่านั้น วิธีการนี้มีผู้เข้าถึงและเข้ารับการตรวจน้อยเนื่องจากหลายคนกลัวเจ็บจากกระบวนการเจาะน้ำไขสันหลัง
แต่ปัจจุบัน อ.นพ.ภูษณุ เผยว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาฯ ใช้เทคนิคทางอิมมูนวิทยาหรือวิทยาภูมิคุ้มกันในการตรวจเลือดแทนการเจาะน้ำไขสันหลัง โดยใช้เครื่องตรวจที่มีชื่อว่า Simoa (Single molecule array) และเครื่อง LC-MS (Mass spectrometer) เพื่อตรวจสาร Phosphorylated Tau ในเลือด ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัลไซเมอร์แฝง และสาร Neurofilament light chan ซึ่งเป็นการตรวจการสูญเสียเนื้อสมอง

วิธีนี้ช่วยตอบโจทย์ทั้งในแง่ค่าใช้จ่ายที่ย่อมเยากว่า ลดความซับซ้อนและความเจ็บในการตรวจหาภาวะสมองเสื่อมแฝง และยังได้ผลการตรวจที่แม่นยำอีกด้วย
“วิธีเจาะเลือดตรวจสารโปรตีนที่ก่อโรคอัลไซเมอร์เป็นวิธีใหม่ที่มีความคุ้มค่า ผลการตรวจมีความแม่นยำถึง 88% ใกล้เคียงกับการตรวจด้วยเทคนิคที่ใช้ในต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการตรวจก็ไม่แพงเมื่อเทียบกับวิธีการตรวจแบบเดิมที่ใช้อยู่ ที่สำคัญยังเป็นการเพิ่มอัตราการเข้าถึงการบริการที่ง่ายกว่าวิธีเดิมด้วย”
อ.นพ.ภูษณุ เผยข้อดีของการเจาะเลือดตรวจอัลไซเมอร์แฝง พร้อมอธิบายเพิ่มเติมถึงขั้นตอนการตรวจว่า “การตรวจก็ง่ายและปลอดภัย ผู้รับการตรวจไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนเข้ารับการเจาะเลือด ซึ่งพยาบาลหรือนักเทคนิคการแพทย์จะเจาะเลือดเพียง 10 ซีซีเท่านั้นและเป็นการตรวจเพียงครั้งเดียว ส่วนการวิเคราะห์ผลใช้เวลา 2 เดือนเท่านั้น”

นอกจากนี้ ผู้รับการตรวจเลือดยังต้องทำแบบทดสอบความสามารถของสมองควบคู่ไปด้วย เพื่อดูต้นทุนทางสมองว่าอยู่ในระดับไหน
“ผู้ที่มีต้นทุนทางสมองที่ดี แม้จะมีโรคอัลไซเมอร์หรือโรคอื่น ๆ แฝงก็จะไม่แสดงอาการออกมา” อ.นพ.ภูษณุ กล่าว
ผลจากการตรวจเลือดจะนำไปประมวลกับผลการทำแบบทดสอบก่อนจะแปรผลรวมอีกครั้ง ซึ่งกระบวนการทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแปรผล มีความซับซ้อน และต้องดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น!
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเป็นภาวะสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม มลภาวะ และอายุที่มากขึ้น หากดูแลตัวเองได้ดี ลดปัจจัยเสี่ยงเสริมต่าง ๆ ก็อาจจะลดโอกาสการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ถึง 40% ทั้งนี้
อ.นพ.ภูษณุ แนะนำวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ ดูแลสุขภาพไม่ให้เป็นโรค NCDs เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ หรือหากเป็นแล้วก็รักษาและควบคุมโรคประจำตัวดังกล่าวให้ดี ผู้ที่มีอาการหูหนวก หูตึง จะทำให้สมองไม่ได้รับการกระตุ้น ส่งผลให้สมองเสื่อมได้ง่าย จึงควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา
ทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่มีส่วนช่วยป้องกันอาการสมองเสื่อม เช่น ผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ควรเป็นอาหารทะเล งดของหวาน ของเค็ม ของทอด ทานไขมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอกหรือ ถั่วชนิดต่าง ๆ ฯลฯ งดสูบบุหรี่ ลดหรืองดการดื่มสุรา
“สิ่งสำคัญที่สุดคือควรออกกำลังกายทุกวัน ๆ ละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง การออกกำลังกายสามารถลดภาวะสมองเสื่อมได้ เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายสร้างสารฟื้นฟูสมอง” อ.นพ.ภูษณุ กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัจจัยเสี่ยงที่แต่ละคนจะดูแลเพื่อรักษาสุขภาพกายและสมองของตัวเองได้แล้ว ยังมีมีปัจจัยเสี่ยงทางสังคมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ มลภาวะทางอากาศ โรคซึมเศร้า รวมถึงความเปล่าเปลี่ยวทางสังคมที่มาจากการใช้ชีวิตลำพังของผู้สูงวัย เหล่านี้ก็ส่งผลต่อโอกาสการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ต้องการความร่วมมือร่วมใจของคนในสังคมที่จะช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อมและความสัมพันธ์ เพื่อให้เราห่างไกลโรคอัลไซเมอร์ไปด้วยกัน