ในช่วงเวลาที่ชีวิตเต็มไปด้วยความเครียดจากเรื่องต่างๆ ใครต่อใครก็มักจะมองหาของหวานก่อนเป็นอย่างแรก เพราะนอกจากจะอร่อยแล้วยังช่วยให้ความเครียดหายไปชั่วคราว ทว่านานวันเข้า การกินของหวานกลับไม่ลดความเครียดเหมือนแต่ก่อน ทั้งยังทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและคอแห้งกว่าปกติ ซึ่งนั่นอาจเป็นอาการของ “โรคเบาหวาน” และหากไม่ได้พบแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกายและควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ ก็อาจเกิดอาการแทรกซ้อนตามมามากมาย
โดยวันนี้ นพ.ชาญวัฒน์ ชวนตันติกมล อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคเบาหวานและต่อมไร้ท่อ ศูนย์เบาหวาน ต่อมไร้ท่อ และควบคุมน้ำหนัก รพ.วิมุต จะมาเล่าถึง อันตรายของโรคเบาหวาน สัญญาณบอกโรคที่หลายคนไม่รู้ พร้อมแนะนำวิธีป้องกันและแนวทางการรักษา เพื่อให้เรามีระดับน้ำตาลที่ปกติและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในระยะยาว
อ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย สัญญาณเตือน ‘โรคเบาหวาน’
“โรคเบาหวาน” มีสาเหตุมาจาก ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินปกติ เนื่องจากขาดฮอร์โมนอินซูลินในการเปลี่ยนน้ำตาลไปเป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย และเมื่อระดับน้ำตาลสูงมากขึ้นถึงระดับหนึ่ง อาจมีน้ำตาลปนออกมากับปัสสาวะ และอาจทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติ โดยโรคเบาหวานสามารถแบ่งได้ 6 ชนิด ได้แก่ เบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ซึ่งพบเป็นส่วนน้อยในคนไทย, เบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งพบได้บ่อยในคนไทยและมักเกิดจากพฤติกรรมและกรรมพันธุ์, เบาหวานผสมระหว่างชนิดที่ 1 และ 2, เบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรมหรือฮอร์โมน การเป็นโรคตับอ่อน หรือการได้รับยาบางชนิด, เบาหวานขณะตั้งครรภ์ และเบาหวานที่ตรวจแล้วไม่สามารถแยกชนิดได้
ด้าน นพ.ชาญวัฒน์ อธิบายเกี่ยวกับอาการที่อาจเข้าข่ายโรคเบาหวานว่า “อาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ได้แก่ น้ำหนักลดไม่มีสาเหตุ อ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย รู้สึกชาบริเวณปลายนิ้วมือนิ้วเท้า แผลหายช้ากว่าปกติ คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งถ้ามีอาการเหล่านี้ ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กร่างกาย”
ญาติเป็นเบาหวาน-น้ำหนักเกิน-ความดันสูง ระวังเสี่ยงเบาหวาน
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานมีหลายประการ ได้แก่ การที่อายุมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่ออายุ 35 ขึ้นไป การมีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 23 มีรอบเอวต่อความสูงมากกว่า 0.5 ความดันโลหิตสูง คนในครอบครัวเป็นเบาหวาน มีค่าน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 100 เป็นต้น โดยแพทย์เผยว่า โรคเบาหวานเกิดขึ้นได้จากทั้งกรรมพันธุ์และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน
“คนไทยส่วนใหญ่มีความเชื่อผิดๆ ว่าต้องเป็นคนน้ำหนักเยอะเท่านั้น ถึงจะเป็นโรคเบาหวาน แต่จริงๆ คนที่มีรูปร่างผอมก็เสี่ยงเป็นเบาหวานได้ เพราะโรคนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักเพียงอย่างเดียว แต่มีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ทั้งการกินอาหารที่เน้นแป้ง น้ำตาล ไขมัน ขาดการออกกำลังกาย พักผ่อนน้อย หรือ ยาที่ใช้ประจำ” นพ.ชาญวัฒน์ อธิบาย
สำหรับวิธีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานจะเริ่มจากการวินิฉัยจากประวัติ ทำการตรวจร่างกายและส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการเพื่อประเมินจากค่าน้ำตาลในกระแสเลือด หากพบว่าเป็นโรคเบาหวาน แพทย์จะทำการรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละคน โดยเน้นไปที่การควบคุมอาหารและน้ำหนัก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงการจ่ายยาร่วมด้วย
‘โรคเบาหวาน’ เป็นแล้วคุมให้ดีก่อนเสี่ยงแทรกซ้อน
การเป็นโรคเบาหวานนอกจากจะก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายแล้ว ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้แก่ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้เวียนหัว หน้ามืด ใจสั่น หรือเป็นลม ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงชนิดเฉียบพลัน จะมีอาการหอบเหนื่อย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง กินได้น้อยลง และ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงชนิดเรื้อรัง ทำให้ตาพร่ามัว อัมพาต ไตวาย หัวใจขาดเลือด หากรุนแรงมากอาจทำให้หัวใจวายได้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานจึงต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
วิธีการป้องกันและรักษา ‘โรคเบาหวาน’
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาให้หายขาดได้ยาก แต่เราควบคุมให้ไม่เกิดอาการที่รุนแรงหรือโรคแทรกซ้อนได้ โดย นพ.ชาญวัฒน์ แนะนำวิธีป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานว่า วิธีดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน คือเลี่ยงของหวานหรืออาหารมันๆ จำพวกของทอด ปิ้งย่าง หมั่นรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงและไขมันต่ำ อีกเรื่องที่สำคัญคือการออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่
“โรคเบาหวานจริงๆ แล้ว ล้วนเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นส่วนใหญ่ เราจึงสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการเลือกกินของมีประโยชน์ ส่วนคนที่เป็นโรคเบาหวาน การควบคุมโรคก็ไม่ใช่เรื่องยาก ที่สำคัญคือการมาตรวจร่างกายเป็นประจำเพื่อให้รู้เท่าทันโรค ติดตามอาการและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อให้ร่างกายเรากลับมาแข็งแรง พร้อมใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ในทุกวัน” นพ.ชาญวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย