ทุกวันนี้เราหันไปทางไหนก็เจอแต่คนใส่หูฟัง บางคนใส่นานติดต่อกันหลายชั่วโมงต่อวัน บางคนใส่แล้วเปิดเสียงดังจนคนข้างๆ ได้ยิน รู้ตัวอีกทีก็รู้สึกว่าการได้ยินผิดปกติไม่ชัดเหมือนเดิม ซึ่งอาจเป็นอาการของ ‘โรคประสาทหูเสื่อม’ หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘ภาวะหูตึง’ ที่ปกติมักจะพบได้ในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันกลับพบเจอได้มากขึ้นในกลุ่มคนที่ยังอายุไม่เยอะ วันนี้ ผศ.พญ.กวินญรัตน์ จิตรอรุณฑ์ โสต ศอ นาสิก (Otolaryngology) นาสิกวิทยาและโรคภูมิแพ้ ศูนย์หู คอ จมูก โรงพยาบาลวิมุต จะมาเล่าถึงอาการของโรคประสาทหูเสื่อม พร้อมแนะนำแนวทางการป้องกันและวิธีการรักษา เพื่อดูแลให้หูของเราสุขภาพดีตามวัย
อายุเยอะ-เสียงดัง กระตุ้น ‘โรคประสาทหูเสื่อม’
โรคประสาทหูเสื่อม คือภาวะการสูญเสียการได้ยินเนื่องจากเซลล์ประสาทหูเสื่อมสภาพ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น อายุที่มากขึ้น การได้ยินเสียงดังบ่อยๆ การอักเสบหรือติดเชื้อ เป็นต้น โดยเฉพาะช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป ร่างกายจะสร้างเซลล์ประสาทการได้ยินขึ้นมาทดแทนเซลล์ที่ตายได้ไม่เท่าตอนอายุน้อย ทำให้การได้ยินเสื่อมลง เรียกว่าอาการประสาทหูเสื่อมตามธรรมชาติ อีกทั้งถ้ามีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ กรรมพันธุ์ โรคเบาหวาน หรือโรคทางระบบประสาทอื่นๆ ก็ยิ่งกระตุ้นให้การได้ยินเสื่อมเร็วขึ้นได้เช่นกัน
ด้าน ผศ.พญ.กวินญรัตน์ อธิบายเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมว่า “เรื่องการใส่หูฟัง จริงๆ ก็มีผลทำให้การได้ยินลดลงพอสมควร โดยเฉพาะหูฟังประเภทที่ใส่เข้าไปในรูหู พอเปิดเสียงดังมากๆ จะมีความดันเข้าไปในหู ทำให้เซลล์ประสาทหูทำงานหนัก ส่งผลให้สูญเสียการได้ยินก่อนวัยอันควร”
“วิธีการสังเกตว่าเราเริ่มมีอาการประสาทหูเสื่อมหรือยังนั้นทำได้ง่ายๆ โดยอาการที่เห็นได้ชัดคือ เปิดทีวีหรือลำโพงเสียงดังจนรบกวนคนอื่น ไม่ได้ยินเสียงคนข้างๆ พูด ในบางคนอาจมีปัญหาเสียงรบกวนในหู อาทิ เสียง วี๊ๆ เหมือนเสียงลม หรือเสียงซ่าๆ คล้ายเสียงทีวีเสีย ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์” ผศ.พญ.กวินญรัตน์ อธิบาย
โรคหูตึงเฉียบพลันภัยร้ายที่ไม่ทันตั้งตัว
โรคประสาทหูเสื่อมโดยทั่วไปจะค่อยๆ สูญเสียการได้ยิน ซึ่งมักเป็นไปตามวัย แต่มีอีกโรคหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการได้ยินแบบฉับพลัน คือ ‘โรคหูตึงเฉียบพลัน’ ที่เกิดได้ในทุกช่วงวัย บางคนมีอาการตื่นมาตอนเช้าหูอื้อไปหนึ่งข้าง หรืออยู่ดีๆ ก็เวียนหัวและหูไม่ได้ยินขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ประสาทหูบาดเจ็บจากการได้ยินเสียงดัง (Acoustic Trauma) อุบัติเหตุ เนื้องอกบริเวณฐานสมอง หรือโรคอื่นๆที่มีผลต่อระบบประสาท
โดย ผศ.พญ.กวินญรัตน์ อธิบายวิธีรักษาโรคนี้ว่า “โรคประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันยิ่งมารักษาเร็วก็ยิ่งมีโอกาสหายสูง ซึ่งสามารถรักษาได้หลายวิธี ได้แก่ การให้สเตียรอยด์แบบรับประทาน (high dose steroids) เป็นเวลา 5-7 วัน การฉีดสเตียรอยด์เข้าไปในหูชั้นกลางผ่านเยื่อแก้วหู (intratympnanic steroid injection) เพื่อช่วยลดการอักเสบของประสาทหู นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีวิธีที่เรียกว่า Hyperbaric Oxygen Therapy ที่จะใช้ออกซิเจนความดันสูงช่วยในการรักษา จะช่วยเพิ่มโอกาสที่การได้ยินจะกลับมาดีขึ้น”
ประสาทหูเสื่อมฟื้นฟูยาก ป้องกันให้ดีก่อนเสียการได้ยินระยะยาว
ปกติแล้วโรคประสาทหูเสื่อมถือว่าเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ เพราะการฟื้นฟูประสาทการได้ยินนั้นทำได้ยาก จึงทำได้เพียงประคับประคองไม่ให้เสื่อมเร็ว เช่น หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่เสียงดัง หากเป็นโรคเบาหวานหรือโรคทางระบบประสาทอื่นๆ ก็ยิ่งต้องควบคุมอาการให้ดีเพื่อไม่ให้ไปกระตุ้นอาการประสาทหูเสื่อม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคนี้จะไม่สามารถรักษาได้ แต่คนที่สูญเสียการได้ยินมาก ๆ ก็สามารถใส่เครื่องช่วยฟังได้เช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาจนมีขนาดกะทัดรัด และสามารถปรับระดับการได้ยินให้เหมาะสมกับแต่ละคน
“โรคประสาทหูเสื่อมถือเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้น แต่เมื่อในปัจจุบันเราเจอกับเสียงดังบ่อยขึ้นกว่าเดิมทั้งในและนอกบ้าน การเสื่อมของหูก่อนวัยอันควรอาจเกิดขึ้นกับหลายๆ คนได้ เราจึงควรป้องกันหูของเรา ด้วยการหลีกเลี่ยงเสียงดังที่ไม่จำเป็น เพื่อให้หูของเราได้ยินชัดตามวัยและไม่สูญเสียการได้ยินก่อนวัยอันควร” ผศ.พญ.กวินญรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย