ในมื้ออาหารประจำวันของเรานั้นเต็มไปด้วยของกินหลากหลาย ทั้งอาหารคาว ของหวาน ผักผลไม้ หรือขนมแสนอร่อย โดยที่เราอาจไม่รู้เลยว่าทุกสิ่งที่เรากินเข้าไปนั้นต่างมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘จุลินทรีย์’ อยู่ด้วย ซึ่งสิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีทั้งชนิดที่ดีและไม่ดี และส่วนมากจะไปสะสมอยู่ที่ระบบทางเดินอาหารของเรา หากมีจุลินทรีย์ชนิดดีเยอะก็ทำให้ร่างกายแข็งแรง แต่ถ้ามีจุลินทรีย์ชนิดไม่ดีมาก ๆ ก็จะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ เราจึงต้องรักษาความสมดุลของจุลินทรีย์ให้ดีด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต วันนี้ นพ.กุลเทพ รัตนโกวิท แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ระบบประสาท ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ รพ.วิมุต จะมาอธิบายเรื่องจุลินทรีย์ในระบบอาหาร พร้อมแนะนำวิธีการรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย และการตรวจเช็กความสมดุลของจุลินทรีย์ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันที่ดีไม่ป่วยได้ง่าย ๆ
จุลินทรีย์คืออะไร ทำหน้าที่อะไรในระบบทางเดินอาหาร
จุลินทรีย์ (Microorganism) คือ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กระดับเซลล์ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ยีสต์ เป็นต้น ซึ่งพบได้ทั่วไปในธรรมชาติ และพบในร่างกายมนุษย์ด้วยเช่นกัน โดยจุลินทรีย์เหล่านี้พบมากในระบบทางเดินอาหารของเรา มีทั้งชนิดที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป
ด้าน นพ.กุลเทพ รัตนโกวิท อธิบายว่าหน้าที่ของสิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วที่อยู่ในร่างกายเราว่า “หน้าที่หลักๆ ของจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของเราคือ 1.ช่วยย่อยสารประกอบต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย 2.ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคให้เข้ามาในร่างกาย และ 3.ส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง และอาจช่วยเรื่องอื่นๆ ตามแต่ละชนิดของจุลินทรีย์นั้นๆ”
เนื่องจากจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของเรามีทั้งชนิดที่ดีและไม่ดี ตามหลักการเราจึงต้องรักษาระดับจุลินทรีย์ให้มีทั้ง ความสมดุล หมายถึง ต้องมีจุลินทรีย์ดีเป็นสัดส่วนที่มากกว่าไม่ดี และความหลากหลาย คือ ต้องมีจุลินทรีย์หลากหลายชนิดในร่างกาย เพราะแต่ละชนิดมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน เพื่อที่จุลินทรีย์ที่ดีจะได้ช่วยย่อยสารประกอบที่มีประโยชน์มาให้ร่างกายเรา ส่งผลให้ฟังก์ชันต่างๆ ของร่างกายสมบูรณ์ขึ้น มีภูมิคุ้มกันที่ดี และเจ็บป่วยน้อยลง
โดย นพ.กุลเทพ รัตนโกวิท อธิบายกรณีที่ร่างกายของเรามีจุลินทรีย์ชนิดไม่ดีมากกว่าชนิดที่ดีว่า “ในทางตรงกันข้าม หากร่างกายเราขาดสมดุลจุลินทรีย์ หรือการที่เรามีจุลินทรีย์ชนิดไม่ดีเยอะกว่าก็จะทำให้ร่างกายเราทำงานผิดปกติ เช่น อาจจะย่อยอาหารไม่ดีเท่าเดิม ภูมิคุ้มกันต่ำลง ส่งผลให้เราเป็นโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น”
ร่างกายผิดปกติ อาจเพราะจุลินทรีย์ไม่สมดุล
สำหรับการสังเกตว่าเรามีภาวะขาดสมดุลจุลินทรีย์หรือไม่ อาจดูได้จากอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น อาหารไม่ย่อย อารมณ์แปรปรวน หรือมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุของภาวะอื่นๆ ได้เช่นกัน ซึ่งแพทย์ รพ.วิมุต แนะนำว่าหากต้องการความแน่ใจก็สามารถมาตรวจเช็กได้ที่โรงพยาบาล ซึ่งตรวจได้ตั้งแต่อายุน้อย จะได้วางแผนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรักษาสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกายได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
เทคโนโลยีการตรวจเช็กสมดุลจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร
ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจสอบได้ว่าจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของเรามีปริมาณเท่าไหร่ ทั้งชนิดที่ดีและไม่ดี โดยใช้การตรวจเฉพาะทางที่เรียกว่า Gut Health Test ซึ่งเป็นการเก็บตัวอย่างอุจจาระ จากนั้นส่งเข้าแล็บเพื่อทำการวิเคราะห์ ใช้เวลาประมาณ 14-21 วันก็จะได้ข้อมูลของจุลินทรีย์ภายในทางเดินอาหาร Gut Microbiome profile ของบุคคลคนนั้นๆ ที่จะแสดงสัดส่วนของจุลินทรีย์แต่ละชนิดในร่างกาย ซึ่งสามารถตรวจได้ในบุคคลทั่วไป หรือผู้ที่ป่วยเป็นโรค ไม่ว่าโรคระบบทางเดินอาหารเช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง ความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร ลำไส้แปรปรวน โรคเบาหวาน ภายหลังการตัดต่อลำไส้ รวมถึงมีข้อมูลสนับสนุนในกลุ่มอื่นไม่ว่าภาวะภูมิแพ้ ภาวะน้ำหนักเกิน และอีกหลายภาวะ
ด้าน นพ.กุลเทพ รัตนโกวิท อธิบายขั้นตอนต่อไปว่า “แพทย์จะนำข้อมูลส่วนนี้ไปวางแผนการดูแลคนไข้แต่ละคน ซึ่งมี 3 วิธีหลักๆ คือ 1.ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การกิน การนอน การออกกำลังกาย 2.ใช้โพรไบโอติกส์ช่วยปรับสมดุลจุลินทรีย์ในร่างกาย และ 3.ท้ายที่สุดในเฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นต่อการรักษาโรคบางกลุ่มด้วยการปลูกถ่ายจุลินทรีย์ชนิดดีเข้าไปในร่างกาย”
“จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่แม้จะมองไม่เห็น แต่ก็มีความสำคัญกับร่างกายของเรา ดังนั้นเราจึงต้องกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ให้สมดุล หรือสามารถมาตรวจเช็กเพื่อดูความสมดุลของจุลินทรีย์ก็จะช่วยวิเคราะห์และวางแผนการใช้ชีวิต เพื่อจะได้มีภูมิคุ้มกันที่ดีและสุขภาพที่แข็งแรง” นพ.กุลเทพ รัตนโกวิท กล่าว