วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightแอป“เพรกินสัน”ฟื้นฟู“คนไข้พาร์กินสัน” ให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

แอป“เพรกินสัน”ฟื้นฟู“คนไข้พาร์กินสัน” ให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

บุคลากรทางการแพทย์สาขาประสาทวิทยา โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ร่วมกับ เดนท์สุ ประเทศไทย คิดค้นและพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘เพรกินสัน’ (PRAYKINSON) ที่ผสานเรื่องการสวดมนต์สร้างสมาธิยึดเหนี่ยวจิตใจ และสามารถช่วยบำบัดอาการทางการพูดได้ในคราวเดียวกัน ยึดโยงแนวคิดการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยและสภาพจิตใจ

นายแพทย์ธนทัศน์ บุญมงคล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญโรคพาร์กินสันและกลุ่มอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ ประจำสาขาประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวถึงอาการด้านการพูดของผู้ป่วยพาร์กินสันว่า “ผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีเสียงพูดที่เบาลงและไม่สามารถควบคุมระดับการใช้เสียงได้ ไม่รู้ว่าตนเองพูดดังไปหรือเบาไป อีกทั้งยังมีปัญหาการควบคุมจังหวะในการพูด พูดติดขัด และพูดช้า ทำให้การสื่อสารอาจไม่ประติดประต่อ รวมถึงปัญหาการออกเสียงคำแต่ละคำที่ไม่ชัดเจน ทำให้คู่สนทนาไม่เข้าใจ ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจการสื่อสาร การเข้าสังคม และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดสภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลทางจิตใจได้ แม้ว่าอาการเหล่านี้อาจรักษาได้ด้วยการกินยา แต่ผู้ป่วยก็ยังต้องทำการบริหารการออกเสียงและฝึกพูดอยู่เสมอ เพื่อชะลออาการที่จะแย่ลงไปเรื่อยๆ ซึ่งหากปล่อยไว้โดยที่ไม่ได้บริหารอย่างสม่ำเสมอ อาการจะค่อยๆ ทรุดลงจนอาจถึงขั้นสูญเสียความสามารถในการสื่อสารอย่างถาวรไปได้ในที่สุด”

นายแพทย์ ธนทัศน์ บุญมงคล

ในสถานการณ์จริง การฝึกบริหารการพูดในผู้ป่วยพาร์กินสันมักค่อนข้างใช้ระยะเวลาและมีความซับซ้อนในขั้นตอน ผู้ป่วยหลายคนไม่สามารถเดินทางมาฝึกบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลได้ทุกวัน หรือหากต้องการฝึกเองที่บ้านก็จำเป็นต้องมีผู้ช่วยที่มีความรู้เรื่องการฝึกบำบัดและมีขั้นตอนที่ซับซ้อน

อาจารย์นายแพทย์ ธนทัศน์ ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวว่า “ด้วยปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่สะดวกที่จะทำการบริหารได้ทุกวัน ทางสาขาประสาทวิทยา โรงพยาบาลวชิรพยาบาล จึงมองเห็นโอกาสที่อยากจะช่วยเหลือและทำให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถเข้าถึงและฝึกบริหารการออกเสียงได้ด้วยตนเองแบบง่ายๆ ได้ทุกที่ ทุกวัน และทุกเวลา ผ่านสิ่งที่ผู้ป่วยคุ้นเคย และทำอยู่เป็นเนืองนิจ”

จากเหตุผลข้างต้น สาขาประสาทวิทยา โรงพยาบาลวชิรพยาบาลจึงเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถเข้าถึงและฝึกบริหารการออกเสียงด้วยตนเองแบบง่ายๆ ผ่านการใช้แอปพลิเคชัน โดยร่วมกับ เดนท์สุ ประเทศไทย คิดค้นพัฒนา แอปพลิเคชัน ‘เพรกินสัน’ (PRAYKINSON) ใช้การสวดมนต์ที่ต้องเปล่งเสียงพูดต่อเนื่อง มีผลต่อจิตวิญญาณ ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นกิจวัตรที่ทำกันโดยทั่วไป มาเป็นแก่นในการสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าว

แอปพลิเคชัน เพรกินสัน (PRAYKINSON) เป็นแอปพลิเคชันที่นำแนวคิดการฟื้นฟูร่างกายและสภาพจิตใจของผู้ป่วยมาเป็นแนวทางในการสร้างวิธีการบริหารการออกเสียง ที่จะสามารถบริหารทั้งด้านกายภาพและจิตใจไปพร้อมๆ กัน โดยผสมผสานบทสวดมนต์ประจำวันในแต่ละศาสนาที่ผู้คนคุ้นเคย มีขั้นตอนการใช้งานที่เข้าใจง่าย สามารถท่องตามได้ง่าย ทั้งยังมีฟีเจอร์ช่วยวัดระดับมาตรฐานความดังที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฝึกออกเสียงให้ดังคงที่ในระหว่างสวดมนต์ รวมถึงมีเสียงไกด์อ่านนำ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยฝึกในการจับจังหวะท่วงทำนองการสวดมนต์ที่สม่ำเสมอ และมีการประเมินผลการบำบัดในตอนท้ายโดยการให้คะแนน เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ในการฝึกพัฒนาตัวเองในครั้งต่อๆ ไป

แพทย์หญิง ดวงกมล สิงห์วิชา

สำหรับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยพาร์กินสันฝึกบริหารการพูดด้วยแอปพลิเคชันดังกล่าวอย่างต่อเนื่องนั้น แพทย์หญิง ดวงกมล สิงห์วิชา อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองเสื่อม ประจำสาขาประสาทวิทยา คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวสนับสนุนว่า “ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีความเสี่ยงในการเกิดโรคความจำเสื่อมได้ ซึ่งนอกจากการสวดมนต์ผ่านแอปพลิเคชันนี้จะมีประโยชน์ในเรื่องของการบริหารการออกเสียงแล้ว ยังมีงานวิจัยอื่นๆรองรับอีกว่าการท่องบทสวดมนต์เป็นประจำ เป็นการฝึกความจำและฝึกสมาธิ ที่มีผลต่อการชะลอภาวะความจำเสื่อมได้อีกด้วย”

ขณะนี้ แอปพลิเคชัน เพรกินสัน อยู่ระหว่างการพัฒนาและทดลองระบบ โดยได้นำร่องใช้กับผู้ป่วยพาร์กินสันของโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ก่อนจะขยายไปสู่โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ คาดว่าจะบรรจุใน App Store และ Play Store เพื่อให้ดาวน์โหลดใช้งานในวงกว้างได้ภายในสิ้นปี 2567 นี้

“แอปพลิเคชันดังกล่าว เป็นเสมือนการรวมกันของศาสตร์ด้านการแพทย์และศาสตร์ด้านการบำบัดจิตใจเข้าไว้ด้วยกัน เกิดเป็นการบำบัดแบบองค์รวม (Holistic Therapy) ซึ่งช่วยให้คนไข้ได้บำบัดทั้งร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และจิตวิญญาณไปพร้อมๆ กัน ผู้ป่วยที่ฝึกสวดมนต์ทุกวันมีส่วนสำคัญในการชะลออาการผิดปกติด้านการพูดได้เป็นอย่างดี และยังสามารถช่วยให้จิตใจสงบขึ้น ปัจจุบันแอปพลิเคชันนี้ได้ถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยพาร์กินสันของโรงพยาบาลวชิรพยาบาล และกำลังดำเนินการเพื่อนำไปใช้กับสถานพยาบาลทั่วประเทศ รวมถึงเตรียมบรรจุใน App Store และ Play Store เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการบริหารการพูดอย่างแพร่หลายภายในสิ้นปีนี้ครับ” อาจารย์นายแพทย์ ธนทัศน์ บุญมงคล ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img