วันเสาร์, กันยายน 28, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightผนึกกำลังสร้างพลังความรู้คนรุ่นใหม่ รณรงค์ ”หยุดตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ผนึกกำลังสร้างพลังความรู้คนรุ่นใหม่ รณรงค์ ”หยุดตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์”

สถิติการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นไทยแม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงเป็นปัญหาที่ท้าทาย สะท้อนจากสถานการณ์อนามัยการเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นและเยาวชนล่าสุด ปี 2565 ของกรมอนามัย พบว่า วัยรุ่นหญิงอายุ 10-19 ปี คลอดบุตรรวมทั้งสิ้น 42,457 คน แบ่งเป็นช่วงอายุ 10-14 ปี จำนวน 1,569 คน คิดเป็นอัตรา 0.8 ต่อวัยรุ่นหญิงอายุ 10-14 ปี พันคน และช่วงอายุ 15-19 ปี จำนวน 40,888 คน คิดเป็นอัตรา 21.0 ต่อวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี พันคน มีการคลอดซ้ำในหญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 3,181 คน คิดเป็นร้อยละ 7.5 ของแม่วัยรุ่นอายุ 10-19 ปีที่ตั้งครรภ์

กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าลดอัตราการคลอดของวัยรุ่นหญิงอายุ 10-14 ปี ไม่เกิน 0.5 ต่อวัยรุ่นหญิงอายุ 10-14 ปี พันคน และวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี ไม่เกิน 15.0 ต่อวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี พันคน ภายในปี 2570 สิ่งสำคัญคือการทำให้วัยรุ่นเข้าถึงข้อมูลการคุมกำเนิดที่ถูกต้อง รวมถึงผลกระทบสุขภาพอนามัยที่เกิดกับวัยรุ่นเองและเด็กเกิดใหม่ นอกจากนั้นการส่งเสริมการเกิดที่มีคุณภาพสำหรับผู้ที่มีความพร้อม และสนับสนุนให้เกิดการคุมกำเนิดสำหรับผู้ที่ยังไม่พร้อมจะมีบุตร เป็นเรื่องที่กระทรวงฯ ให้ความสำคัญ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น

ดร.นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์

ดร.นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข  ได้ให้ข้อมูลไว้ในงานรณรงค์เนื่องในวันคุมกำเนิดโลก 2567 หรือ World Contraception Day 2024 ซึ่งตรงกับวันที่ 26 กันยายนของทุกปี ภายใต้แนวคิด Empowering Choices, One Decision at a time สร้างพลังความรู้ สู่อนาคตคนรุ่นใหม่ ซึ่งสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ ร่วมกับ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท) และ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด ที่ได้ร่วมรณรงค์เนื่องในวันคุมกำเนิดโลก 2567 ต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนสร้างองค์ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดที่ถูกต้อง เพื่อให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจและสามารถกำหนดอนาคตของตัวเองได้อย่างมีคุณภาพ ลดภาวะการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

ดร.นพ.บุญฤทธิ์ บอกถึงแนวทางการรณรงค์ของภาครัฐว่า มีแนวทางส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการคุมกำเนิด โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้บริการวางแผนครอบครัวรวมถึงการคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราว ได้แก่ ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงอนามัย และการคุมกำเนิดแบบถาวร ได้แก่ การทำหมันหญิงและชาย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับคนไทยทุกสิทธิ์การรักษา นอกจากนั้น ยังสามารถรับถุงยางอนามัย และยาเม็ดคุมกำเนิด ฟรี ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังได้

ในปี 2566 สปสช.ได้ขยายสิทธิประโยชน์คุมกำเนิดครอบคลุมทุกกลุ่มอายุสำหรับคนไทย จากเดิมให้สิทธิเฉพาะยาฝังคุมกำเนิด กับยาคุมกำเนิด ซึ่งตอนนี้มียาฉีดคุมกำเนิดด้วย โดยทุกกลุ่มอายุรวมถึงเด็กสามารถไปรับบริการได้ที่สถานพยาบาลรัฐทุกแห่ง รวมถึงสถานพยาบาลของเอกชน และเครือข่ายร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้ยังมีคลินิกวัยรุ่นในสถานพยาบาลที่ให้คำปรึกษาได้ ไม่เฉพาะเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ ตรวจการตั้งครรภ์ หรือคุมกำเนิดเท่านั้น ยังให้คำปรึกษาในเรื่องอื่นๆด้วย เช่น สุขภาพจิต เป็นต้น โดยทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ รวมถึงสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และโรงเรียน โดยมีกลุ่มผู้นำเข้ามาฝึกอบรมกับกรมอนามัย สามารถไปแนะนำเบื้องต้นกับกลุ่มเพื่อนได้ และหากเจอปัญหาซับซ้อน ก็จะรู้ว่าควรส่งมาปรึกษาพยาบาลหรือแพทย์ที่คลินิก

ผศ.ดร.สุกัญญา ศรีโพธิ์

ด้าน ผศ.ดร.สุกัญญา ศรีโพธิ์ เลขาธิการสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท) กล่าวว่า สวท รณรงค์สนับสนุนให้มีการวางแผนครอบครัว และลดปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้ทุกชีวิตของการเกิดเป็นไปอย่างมีคุณภาพ โดยการเรียนรู้วิธีการคุมกำเนิดและป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนอนาคตให้กับคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ไม่สามารถปิดกั้นการเชื่อมต่อความสัมพันธ์รอบตัว

ดังนั้นจึงควรสนับสนุนและส่งเสริมให้วัยรุ่น นิสิต นักศึกษาเข้าถึงองค์ความรู้ได้อย่างครบถ้วนและถูกต้อง เพราะการคุมกำเนิดมีรายละเอียดต้องทำความเข้าใจ ทั้งเรื่องวิธีการคุมกำเนิดสำหรับผู้ชายและผู้หญิง การเลือกใช้และประสิทธิภาพวิธีการคุมกำเนิดเป็นทางเลือกในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และช่วยป้องกันโรคติดต่อที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย

รศ.ร.อ.นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ

ในช่วงเสวนาวันคุมกำเนิดโลกที่จัดเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 ภายใต้หัวข้อ “Empowering Choices, One Decision at a time” รศ.ร.อ.นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ ปรึกษาคณะกรรมการ สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ ระบุว่า ในโลกยุคปัจจุบันมีโอกาสให้ชายและหญิงมาพบเจอกันมากขึ้น ดังนั้นเราต้องช่วยกันใช้โซเชียมีเดียให้เกิดประโยชน์ในการเสริมความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะโรคที่มากับการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันเราพบว่าโรคซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์เพิ่มขึ้น หรือในส่วนของเชื้อเอชไอวีเอง แม้จะมียารักษา แต่ก็ต้องใช้เวลารักษายาวนาน ถ้ารักษาไม่ต่อเนื่องการลุกลามของโรคจะเพิ่มขึ้น

สำหรับวิธีการคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยนั้นก็อาจเกิดปัญหาได้  เช่นใช้ถุงยางไม่ถูกต้อง หรือถุงยางรั่วแตก ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ โดยหาวิธีการคุมกำเนิดที่ถูกต้อง เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย อย่างไรก็ตามถุงยางอนามัยไม่ใช่คำตอบ เป็นเพียงอุปกรณ์ป้องกันเบื้องต้น ต้องประเมินปัจจัยเสี่ยงเอง และปรึกษาแพทย์ถ้าพบสิ่งผิดปกติต้องรีบรักษา

ในส่วนของการทำงานของภาครัฐในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมนั้น ถือว่ากระทรวงสาธารณสุขทำงานเชิงรุกมากขึ้น มีการให้ข้อมูล และวิธีการป้องกันตั้งครรภ์ไม่พึ่งประสงค์มาอย่างต่อเนื่อง ส่วนอุปกรณ์ป้องกันและการเข้าถึงการรักษาต้องปรับปรุงขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละรัฐบาล และงบประมาณที่จะทำให้ครอบคลุมมากขึ้น อย่างไรก็ตามนอกจากนโยบายรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขที่มาช่วยแล้ว ประชาชนเองต้องตื่นตัวและตื่นรู้ หาความรู้ที่ถูกต้อง ป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากการตั้งครรภ์มีถึงประสงค์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

“ตอนนี้อย่างที่ทราบว่าเรามีปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้นแม้การเกิดน้อย แต่เกิดมาแล้วไม่พร้อม มีปัญหาความยากจน ครอบครัวเลี้ยงลูกหลานไม่ได้ นำมาสู่การยุติการตั้งครรภ์ที่สูงตามไปด้วย”

นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์

ด้านนพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินารีเวช (เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์) ระบุว่า การคุมกำเนิดเป็นการวางแผนจังหวะชีวิต ทำให้ชีวิตราบรื่นมากขึ้น มีลูกเมื่อพร้อม และวางแผนว่าจะมีกี่คน เมื่อใดก็ตามที่เราวางแผนจะทำให้ทุกจังหวะชีวิตสะดวกสบายลื่นไหล เทียบกับมีลูกตอนเรียนหนังสือต้องลามาเลี้ยงลูก ทำให้จังหวะชีวิตสะดุดไป หรือขณะทำงานกำลังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หรือกำลังได้รับการโปรโมท การตั้งครรภ์ก็ทำให้จังหวะช้าลง เป็นต้น

“เพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การวางแผนครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญกว่าที่วัยรุ่นควรรู้ เพราะเป็นประโยชน์กับตัวเอง จะได้วางแผนและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข พร้อมหน่อยค่อยท้อง ทั้งร่างกาย สังคม การศึกษา”

ฮาน่า ฮาอึน ชอง

ทางด้านคุณฮาน่า ฮาอึน ชอง Influencer จากเพจ “hanazyndrome” ตัวแทนเยาวชน ได้มาแชร์ประสบการณ์ ว่า การคุมกำเนิดไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งปัจจุบันท้องในวัยเรียนมีจำนวนไม่น้อย อยากให้วันนี้ 26 กันยายน ซึ่งเป็นวันคุมกำเนิดโลก เป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกคนตระหนักถึงการปกป้องตัวเอง รักตัวเองให้มากขึ้น อย่าไปอาย เพราะหากมีเด็ก เราอาจรับผิดชอบเขาไม่ได้ทั้งชีวิต ซึ่งการคุมกำเนิดมีหลายวิธี มีแบบฝังด้วย อยากให้ทุกคนเปิดใจ รวมถึงสังคมด้วย อย่ามีอคติในการมีเพศสัมพันธ์ เพราะเป็นเรื่องปกติ

“อยากให้ทุกคนเปิดใจ แนะนำ และปกป้องซึ่งกันและกัน หากเพื่อนๆอยากรู้ข้อมูลต่างๆในเรื่องการคุมกำเนิด และคิดว่าคุยกับผู้ใหญ่ยาก มีโซเชียลมีเดียของฮาน่าที่เปิดตลอดเวลา พร้อมแนะนำเพื่อนๆทุกคน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการศึกษาของไทยจะสนับสนุนเรื่องนี้ด้วย เพราะการเรียนการสอนในโรงเรียนยังอาจไม่ทั่วถึง หวังว่าอนาคตจะมีการเรียนการสอนที่เปิดเผยและเชิงรุกมากขึ้น”  

แบรดลี่ย์ วิลเลี่ยมส์

สำหรับไบเออร์ซึ่งร่วมรณรงค์กับกรมอนามัยมาต่อเนื่อง 17 ปี นายแบรดลี่ย์ วิลเลี่ยมส์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด และผู้จัดการทั่วไปกลุ่มธุรกิจฟาร์มาซูติคอล กล่าวว่า หลายประเทศมีอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นสูง ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางมีเยาวชน ในวัย 15-19 ปี ตั้งครรภ์จำนวน 21 ล้านคนทุกปี บางกรณีจบลงด้วยการยุติการตั้งครรภ์ และเยาวชนอายุ 15-19 ปี ประมาณ 12.8 ล้านคน และเยาวชนอายุ 10-14 ปี กว่า 500,000 คน คลอดบุตรทุกปี

สำหรับไบเออร์ในฐานะบริษัทชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและการดูแลสุขภาพผู้หญิง เชื่อว่าการวางแผนครอบครัวที่ดีและเข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ การขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาความยากจนและลดปัญหาสังคม ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)

พญ.ปานียา สูตะบุตร

พญ.ปานียา สูตะบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวเสริมว่า ไบเออร์ร่วมกับ สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย และสวท สนับสนุนกิจกรรมรณรงค์ “วันคุมกำเนิดโลก” มาอย่างต่อเนื่อง ปีนี้นับเป็นปีที่ 17 มีเป้าหมายในการให้ข้อมูลเรื่องการคุมกำเนิดเพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจที่ถูกต้อง ลดจำนวนการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้ทุกการตั้งครรภ์เป็นการตั้งครรภ์ที่พึงประสงค์ นำไปสู่คุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดี

สิ่งสำคัญ คือ เยาวชนควรศึกษาข้อมูลเรื่องการคุมกำเนิดจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ หรือปรึกษาเภสัชกรและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ไบเออร์ได้รณรงค์ผ่านแคมเปญ Bayer For Her ให้ผู้หญิงสามารถพูดคุยเรื่องสุขภาพได้อย่างเปิดเผยมากขึ้น กล้าที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะไม่พลาดทุกโอกาสสำคัญในชีวิต

สำหรับกิจกรรมวันคุมกำเนิดโลกปีนี้  26 กันยายน 2567 ภายใต้แคมเปญ #Empowering Choices, One Decision at a time ได้มีการจัดทำข้อมูล infographic เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการคุมกำเนิดที่ถูกต้องผ่าน Facebook Page คลับนี้เลดี้คุม: https://www.facebook.com/clubneeladykhum และ TikTok คลับนี้เลดี้คุม: https://www.tiktok.com/@younglovethailand และโซเชียลมีเดียของสมาคมวางแผนครอบครัวฯ ทั้ง Facebook Page สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยฯ และ TikTok /@ppat.official ตลอดเดือนกันยายนรวมถึงจัดทำ คู่มือรอบรู้เรื่องยาเม็ดฮอร์โมนรวมภายใน 3 นาที สำหรับเภสัชกร มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เภสัชกรมีข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อเป็นคู่มือสำหรับการให้คำปรึกษา และแนะนำการใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดเพื่อให้มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้มารับบริการ ณ ร้านขายยา

ทั้งนี้สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ และไบเออร์ไทย ยังจัดกิจกรรมให้ความรู้และคำปรึกษาโครงการ Young Love รักเป็นปลอดภัย ในระดับมหาวิทยาลัยและโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้นทุกปี สำหรับปีนี้มีแผนจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 5 ครั้ง คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน วัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดที่เหมาะสมในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ลดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และยังจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องเทคโนโลยีการวางแผนครอบครัว การดูแลสุขภาพอนามัยสตรีให้กับบุคลากรสาธารณสุข รวม 6 ครั้งในปีนี้ มีบุคลากรเข้าร่วมกว่า 700 คน ขณะเดียวกัน ยังเปิดช่องทางการสื่อสารออนไลน์ใหม่ ได้แก่ Line@Young Love เพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์ข้อมูลเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น

#WCD2024 #WorldContraceptionDay #Empowering Choices, One Decision at a time#คลับนี้เลดี้คุม #วันคุมกำเนิดโลก # hanazyndrome

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img