ข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ พบว่า ทุกวันนี้มีคนไทยเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่เฉลี่ย 15 คนต่อวัน หรือปีละกว่า 5,476 คน และมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นถึงปีละ 15,000 คน
ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงความอันตรายของ “มะเร็งลำไส้ใหญ่” โรคร้ายที่มักเจอตอนที่มีอาการหนักแล้ว เพราะบ่อยครั้งที่กว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว ก้อนเนื้อในลำไส้ก็ใหญ่มาก จนทำให้ระบบขับถ่ายมีปัญหา ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นอุจจาระเป็นเลือด
วันนี้ พญ.สาวินี จิริยะสิน แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ รพ.วิมุต จะมาเล่าถึง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ พร้อมแนะนำการปรับไลฟ์สไตล์เพื่อป้องกันโรคง่ายๆ และย้ำเตือนถึงความสำคัญในการตรวจคัดกรองเพื่อหาสัญญาณของโรคก่อนพบเนื้อร้ายในวันที่สาย
ส่องปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon Cancer) เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ในลำไส้ ทำให้เกิดติ่งเนื้อเล็กๆ ที่โตขึ้นจนทำให้ลำไส้ตีบ ส่งผลให้ระบบขับถ่ายผิดปกติ โดยมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ไม่ว่าจะเป็น พันธุกรรม เพราะหากคนในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อหรือแม่ มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ เราจะเสี่ยงเป็นเช่นเดียวกัน ปัจจัยที่สองคืออายุ แน่นอนว่าเมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้น ปัจจัยที่สามคือ อาหารและไลฟ์สไตล์ เช่น ชอบกินอาหารแปรรูปบ่อยๆ ไม่กินอาหารที่มีกากใย ไม่ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ซึ่งเสี่ยงทำให้ท้องผูก รวมถึงพฤติกรรมอย่างการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ ปัจจัยสุดท้ายคือผู้ที่เป็นโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease – IBD) ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่เช่นกัน
ถ่ายเป็นเลือด สัญญาณของมะเร็งลำไส้ใหญ่
มะเร็งลำไส้ใหญ่ทำให้ขับถ่ายผิดปกติ ดังนั้นอาการที่สังเกตได้ชัด ได้แก่ ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระลำเล็กลงหรือเป็นเม็ดเล็กๆ คล้ายกระสุน ถ่ายเป็นเลือดเนื่องจากก้อนมะเร็งเกิดแผลและมีเลือดออก นอกจากนี้ยังมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด คล้ายกับอาการของมะเร็งอื่นๆ ร่วมด้วย
พญ.สาวินี เล่าต่อว่า “สิ่งที่น่ากังวลคือ มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะแรกจะไม่แสดงอาการเลย กว่าเราจะรู้ตัวก็มักจะมีอาการหนัก เพราะก้อนเนื้อในลำไส้โตมากแล้ว หัวใจสำคัญในการป้องกันคือ ควรมาตรวจคัดกรองตั้งแต่ยังไม่มีอาการ โดยเฉพาะในผู้ที่อายุ 45 ปีขึ้นไป”
“ส่องกล้องลำไส้ใหญ่” ตรวจคัดกรองมะเร็งได้แม่นยำที่สุด
ปัจจุบันมีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่หลายวิธี ได้แก่ การตรวจเม็ดเลือดแดงแฝงในอุจจาระ (Fecal Occult Blood Test – FOBT) การตรวจเลือดหาค่าบ่งชี้มะเร็งลำไส้ CEA (Carcinoembryonic Antigen) และการตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Colonography) แต่ทุกวิธีอาจมีความไวและความจำเพาะไม่มากพอที่จะตรวจหาติ่งเนื้อขนาดเล็กในลำไส้ใหญ่ หรือหากตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พบติ่งเนื้อก็จำเป็นต้องส่องกล้องเพื่อตัดออกอยู่ดี ดังนั้นการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพที่สุดในปัจจุบันคือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพราะตรวจเจอติ่งเนื้อขนาดเล็กได้ และถ้าเจอติ่งเนื้อก็สามารถตัดออกได้ทันที
พญ.สาวินี อธิบายเสริมอีกว่า “คนส่วนมากเวลาได้ยินถึงการส่องกล้องก็จะกังวลว่ามันจะเจ็บและอันตราย แต่จริง ๆ แล้วการส่องกล้องลำไส้ใหญ่นั้นปลอดภัยมาก ใช้เวลาไม่นาน ความเสี่ยงต่ำ และแม่นยำที่สุด การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องก็ไม่ยุ่งยาก แค่งดอาหารที่มีไฟเบอร์จำพวกผัก ผลไม้ ธัญพืช ทานยาระบาย และดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อล้างลำไส้ใหญ่ เวลาตรวจก็มีการให้ยาระงับความรู้สึกทำให้ไม่เจ็บ และไม่รู้สึกตัวขณะที่ส่องกล้อง หลังส่องกล้องอาจมีอาการแน่นท้องได้ เนื่องจากมีการเป่าลมเข้าไประหว่างส่องกล้อง ซึ่งอาการจะหายเองภายใน 24 ชั่วโมง การตรวจใช้เวลาประมาณ 30 นาที ระหว่างการตรวจหากพบติ่งเนื้อระหว่างการตรวจ แพทย์สามารถตัดออกและนำไปวินิจฉัยต่อได้ทันที เครื่องมือทางการแพทย์ปัจจุบันมีความทันสมัย อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าการส่องกล้องไม่น่ากลัว ไม่เจ็บ และช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง”
“มะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นโรคอันตรายที่สังเกตได้ยาก เพราะกว่าจะมีอาการก้อนเนื้อมะเร็งก็โตมากแล้ว ส่วนคนที่อยากลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็ทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับไลฟ์สไตล์ เริ่มจากทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น งดอาหารแปรรูปซึ่งอาจมีสารก่อมะเร็ง หันมาออกกำลังกายและทำกิจกรรมที่เพิ่มการเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ ที่สำคัญต้องมาตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำ ส่วนใครที่อายุ 45 ปีขึ้นไป ก็ควรมาตรวจคัดกรองด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่แม้จะยังไม่มีอาการ หากปกติแนะนำตรวจคัดกรองทุก 10 ปี สำหรับคนที่มีญาติสายตรงลำดับหนึ่ง เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เป็นโรคนี้ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยแนะนำมาส่องกล้องตั้งแต่อายุ 40 ปี หรือ 10 ปีก่อนหน้าที่ญาติอายุน้อยที่สุดได้รับการวินิจฉัย เช่น ถ้าพ่อเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อายุ 45 ปี ลูกควรส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ตอนอายุ 35 ปี อยากย้ำว่าส่องกล้องไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และการพบเจอโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะได้รักษาทันก่อนจะสายเกินแก้” พญ.สาวินี กล่าวทิ้งท้าย