วันพุธ, กุมภาพันธ์ 5, 2025
หน้าแรกHighlightมะเร็งต่อมลูกหมากในไทยพุ่งสูงอันดับ4 แนะ“ผู้ชาย50ปีขึ้นไป”เร่งตรวจคัดกรอง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

มะเร็งต่อมลูกหมากในไทยพุ่งสูงอันดับ4 แนะ“ผู้ชาย50ปีขึ้นไป”เร่งตรวจคัดกรอง

แพทย์ห่วงภาวะมะเร็งต่อมลูกหมากพุ่งสูงเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งในผู้ชายไทย และเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในผู้ชายจากทั่วโลก แนะผู้ชายอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองเป็นประจำ เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสม

สถานการณ์ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2565 ชี้ให้เห็นว่ามะเร็งต่อมลูกหมากในไทยพบมากเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในเพศชาย (รองจาก มะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก) โดยแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 3,829 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 7,830 ราย (1) ในขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกพบผู้เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมาก 397,430 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่ 1,467,854 ราย พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในเพศชาย (รองจากมะเร็งปอด) 

(2) บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและสร้างการตระหนักรู้เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี จึงได้จัดงานเสวนาหัวข้อ รอบรู้เรื่องมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้ ได้แก่ ผศ.นพ.ปองวุฒิ ด่านชัยวิจิตร อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศิริราช และ ศ.นพ.กิตติณัฐ กิจวิกัย ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งบทบาทของต่อมลูกหมาก สัญญาณเตือน การตรวจคัดกรอง การรักษา และนวัตกรรมยาต้านฮอร์โมนที่ช่วยยืดอายุผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ต่อมลูกหมากสำคัญอย่างไร

ผศ.นพ.ปองวุฒิ ด่านชัยวิจิตร อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “ต่อมลูกหมาก” เป็นอวัยวะของเพศชายมีรูปร่างคล้ายเกาลัด ขนาดเล็ก อยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะและด้านหน้าทวารหนัก ทำหน้าที่สร้างของเหลวที่เป็นส่วนประกอบของน้ำอสุจิ ฮอร์โมนเพศชายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญของต่อมลูกหมาก แต่หากเซลล์ในต่อมลูกหมากความผิดปกติและแบ่งตัวไม่หยุดยั้ง จะกลายเป็นก้อนมะเร็งในที่สุด

รู้จักโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก คือ อายุที่มากขึ้น  พันธุกรรม หากมีญาติสายตรง (พ่อ ปู่ พี่ชาย หรือน้องชายที่มีพ่อแม่เดียวกัน) เป็นโรคนี้ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น ส่วนสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ เชื้อชาติ ชาวยุโรปและสหรัฐฯ มีอุบัติการณ์มากกว่าคนเอเชีย อีกทั้งภาวะโรคอ้วน พฤติกรรมการใช้ชีวิต และฮอร์โมนเพศชายสูงผิดปกติ เช่น การใช้ฮอร์โมนเสริมโดยไม่จำเป็น

มะเร็งต่อมลูกหมาก แบ่งเป็น 4 ระยะ ระยะแรกมะเร็งจะอยู่ภายในต่อมลูกหมาก ขนาดเล็กมาก มักไม่แสดงอาการ ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งมีการเติบโตมากขึ้น แต่ยังจำกัดในต่อมลูกหมาก ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งกระจายออกไปถึงชั้นนอกของต่อมลูกหมาก และระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งกระจายเข้าสู่ระบบเลือด ระบบน้ำเหลือง ไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น กระดูก โดยผู้ป่วยบางรายอาจตรวจพบในระยะที่มะเร็งแพร่กระจายแล้ว จึงทำให้การรักษายากขึ้น

ผศ.นพ.ปองวุฒิ ด่านชัยวิจิตร 

ปรากฏสัญญาณอันตรายรีบไปพบแพทย์

ด้าน ศ.นพ.กิตติณัฐ กิจวิกัย ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ กรรมการบริหารสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แนะนำให้ผู้ชายสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก

ประกอบด้วย 1.การปัสสาวะที่ผิดปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะลำบาก 2.อาการปวดรุนแรง บริเวณบั้นเอว อุ้งเชิงกราน ต้นขาอยู่ตลอดเวลา 3.อาการอื่นที่เกิดขึ้นได้ในระยะแพร่กระจาย ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดตามร่างกาย ชา หรืออ่อนแรง กระดูกเสื่อม น้ำหนักลด เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการ

ผู้ป่วยอาจคิดไม่ถึงว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก เพราะอาการใกล้เคียงกับภาวะต่อมลูกหมากโตในผู้สูงวัย หรือกระเพาะปัสสาวะมีปัญหาหรือภาวะเป็นนิ่ว ดังนั้น เพื่อให้ชัดเจนควรตรวจคัดกรองเบื้องต้น 2 วิธีควบคู่กัน ได้แก่ 1.การซักประวัติ ตรวจร่างกายโดยการให้แพทย์คลำต่อมลูกหมากผ่านทางทวารหนัก และ 2.การตรวจเลือดหา ค่า PSA (Prostatic Specific Antigen) หรือสารคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด ซึ่งโดยทั่วไป ค่า PSA ควรน้อยกว่า 4 ng/mL และหากค่า PSA มากกว่า 10 ng/mL จะยิ่งเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ดังนั้นแพทย์จะแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม เช่น การทำ MRI หรือการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อทำการวินิจฉัย

ศ.นพ.กิตติณัฐ กล่าว “ผู้ป่วยระยะแรกจะมีก้อนขนาดเล็กในต่อมลูกหมาก และมักไม่แสดงอาการที่ชัดเจน เมื่อเข้าสู่ระยะที่รุนแรงขึ้นก้อนมะเร็งจะมีขนาดใหญ่ขึ้น แพร่กระจายตามระบบเลือดและน้ำเหลือง ส่วนใหญ่มะเร็งต่อมลูกหมากจะแพร่กระจายไปยังกระดูก หากตรวจพบเร็วมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ แต่หากเจอในระยะที่มะเร็งกระจายนอกต่อมลูกหมากแล้วการรักษาจะมีความซับซ้อนมากขึ้น และอาจต้องให้การรักษาเป็นสหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary team) เพื่อประคับประคองให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้นานที่สุดอย่างมีคุณภาพ”

ศ.นพ.กิตติณัฐ กิจวิกัย

วิธีการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

สำหรับแนวทางการรักษาขึ้นกับระยะของโรคและความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย โดยระยะแรกที่มะเร็งยังไม่ลุกลามจะเน้นรักษาเฉพาะที่ และการเฝ้าระวังเชิงรุก ติดตามการเจริญเติบโตของมะเร็งอย่างใกล้ชิด โดยการรักษาเฉพาะที่ทำได้ทั้งการฉายรังสีและการผ่าตัดต่อมลูกหมากซึ่งปัจจุบันสามารถผ่าตัดผ่านกล้องและการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย แต่ถ้าโรคเริ่มลุกลามและแพร่กระจายการใช้ยาจะมีบทบาทมากขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง และอาจทำการรักษาหลายวิธีร่วมกัน

“สำหรับผู้ป่วยระยะแรกที่ได้รับการผ่าตัดแพทย์จะติดตามตรวจค่า PSA หากอยู่ในมาตรฐานแสดงว่าการผ่าตัดมีประสิทธิภาพหายจากโรคมะเร็ง แต่ถ้าค่า PSA ยังสูงต้องใช้วิธีการฉายรังสี เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น กระดูก และให้ยาเข้ามาเสริมผสมผสานกับการผ่าตัดด้วย” ศ.นพ.กิตติณัฐ กล่าว

ยาต้านฮอร์โมนรุ่นใหม่ช่วยรักษาระยะลุกลาม

ทางด้านแนวทางการรักษา ผศ.นพ.ปองวุฒิ ด่านชัยวิจิตร ระบุว่า “ฮอร์โมนเพศชาย” เป็นตัวกระตุ้นหลักให้มะเร็งต่อมลูกหมากเติบโต ดังนั้นมะเร็งระยะลุกลามหรือแพร่กระจาย จำเป็นต้องใช้ “การกดฮอร์โมนเพศชาย” หรือ “ADT (Androgen Deprivation Therapy)” เพื่อยับยั้งไม่ให้เซลล์มะเร็งลุกลามไปอวัยวะอื่นๆ ปัจจุบันมี “ยาต้านฮอร์โมนรุ่นใหม่” (Novel Hormonal Therapy : NHT) แบบรับประทานที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม โดยใช้ร่วมกับการกดฮอร์โมนเพศชาย สามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนเพศชายได้หลายกลไก จึงช่วยชะลอการลุกลามของโรคได้อย่างมีนัยสำคัญ มีประสิทธิภาพสูง และผลข้างเคียงต่ำ เมื่อเทียบกับวิธีการรักษาอื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสมีชีวิตยืนยาวขึ้นพร้อมกับคุณภาพชีวิตที่ดี

การเลือกผู้ป่วยสำหรับการให้การรักษาแบบเข้มข้น (Treatment Intensification)

การรักษาแบบเข้มข้นหมายถึงการให้ยาและวิธีการหลายชนิดร่วมกัน เช่น

· การกดฮอร์โมนเพศชาย เพียงอย่างเดียว

· การกดฮอร์โมนเพศชายร่วมกับเคมีบำบัด

· การกดฮอร์โมนเพศชายร่วมกับยาต้านฮอร์โมนรุ่นใหม่

· การกดฮอร์โมนเพศชายร่วมกับยาต้านฮอร์โมนรุ่นใหม่และเคมีบำบัด

ปัจจัยสำคัญในการพิจารณา

1.ระยะของโรค ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะลุกลามหรือมีความเสี่ยงสูง แพทย์อาจเสนอการใช้ยาแบบผสมผสานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

2.ภาวะสุขภาพอื่นๆ ของผู้ป่วย เช่น โรคประจำตัว (เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ) ที่อาจจำกัดหรือส่งผลต่อการใช้ยา

3.อายุและสมรรถภาพร่างกาย ผู้ป่วยสูงอายุมักมีการประเมินด้านสมรรถภาพ (Performance Status) และปัจจัยความพร้อมอื่นๆ

4.ความเห็นจากทีมสหสาขาวิชาชีพ เช่น ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา นักรังสีรักษา เป็นต้น

โดยแพทย์จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบกันเพื่อวางแผนการรักษาและเลือกแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งเป้าหมายหลัก คือ ควบคุมโรค ลดการแพร่กระจาย ยืดอายุ และรักษาคุณภาพชีวิต

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษา

1.การกดฮอร์โมนเพศชาย (ADT/NHT)

o อาการคล้ายวัยทอง เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน

o อ่อนเพลีย ความต้องการทางเพศลดลง

o ความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อลดลง (เสี่ยงกระดูกบางหรือกระดูกพรุน)

2.เคมีบำบัด

o คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง เม็ดเลือดขาวลดลง ติดเชื้อง่าย

3.การฉายรังสี

o ระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะหรือทวารหนัก ทำให้ปัสสาวะบ่อย อุจจาระผิดปกติ หรือผิวหนังในบริเวณฉายรังสีระคายเคือง

4.การผ่าตัดต่อมลูกหมากหรือการผ่าตัดอัณฑะ

o เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออก ติดเชื้อ หรือปัญหาการกลั้นปัสสาวะ

แม้จะมีผลข้างเคียง แต่ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบยาและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้ปัจจุบันผู้ป่วยสามารถทนการรักษาได้ดีขึ้นและยังมีคุณภาพชีวิตที่น่าพึงพอใจ

หมั่นเช็คสุขภาพ เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที

ศ.นพ.กิตติณัฐ ย้ำว่า มีผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากที่ไม่พบปัจจัยเสี่ยงหรือยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ดังนั้นผู้ชายควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี โดยเริ่มคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปโดยไม่ต้องรอให้มีอาการ แต่หากมีประวัติครอบครัวสายตรงป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ก็ควรคัดกรองแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่อายุ 40-45 ปี

ด้าน ผศ.พญ. ปานียา สูตะบุตร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ แผนกฟาร์มาซูติคอล บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวว่า สำหรับไบเออร์ ในฐานะหนึ่งในผู้นำธุรกิจด้านเภสัชกรรมระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก สนับสนุนการรณรงค์สร้างการตระหนักรู้เพื่อให้ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นประจำ เพื่อรับการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ทันท่วงที เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุขมากที่สุด

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นภัยเงียบที่ผู้ชายควรใส่ใจ รู้เร็ว รักษาไว ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้อย่างชัดเจน แม้จะมีผลข้างเคียงจากการรักษา แต่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมยาต้านฮอร์โมนรุ่นใหม่ (NHT) ทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกในการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละราย

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img