วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 7, 2025
หน้าแรกHighlight“โรคงูสวัด”โรคที่น่ากลัวของ“คนสูงวัย” เตือน“ฉีดวัคซีน”ก่อนมีภาวะแทรกซ้อน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“โรคงูสวัด”โรคที่น่ากลัวของ“คนสูงวัย” เตือน“ฉีดวัคซีน”ก่อนมีภาวะแทรกซ้อน

พออายุมากขึ้น ร่างกายและภูมิคุ้มกันของเรา ก็เสื่อมลงตามวัย ทำให้ป่วยเป็นโรคต่างๆ ได้ง่ายกว่าเดิม และหนึ่งในโรคที่น่ากลัวของคนสูงวัยก็คือ “โรคงูสวัด” ซึ่งเกิดจากเชื้อที่ซ่อนตัวอยู่ในร่างกาย หลังจากที่เราเคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน พอภูมิคุ้มกันเราอ่อนแอลง ก็อาจไปกระตุ้นทำให้ติดเชื้อและเป็นโรคงูสวัดได้ ทำให้มีอาการปวดแสบปวดร้อน มีผื่นและตุ่มน้ำตามแนวเส้นประสาท ที่น่ากังวลก็คือความเชื่อที่ว่า ถ้ามีผื่นงูสวัดพันรอบตัว อาจทำให้เสียชีวิตได้

วันนี้ นพ.บารมี พงษ์ลิขิตมงคล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ศูนย์อายุรกรรม รพ.วิมุต จะมาไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคงูสวัด และเล่าถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน เพื่อให้คนสูงวัยที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงได้ห่างไกลจากโรคนี้

“โรคงูสวัด” ภัยร้ายที่มาเมื่อภูมิคุ้มกันต่ำ

โรคงูสวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella zoster virus – VZV) เป็นเชื้อตัวเดียวกันกับโรคอีสุกอีใส เมื่อติดอีสุกอีใสร่างกายอาจไม่ได้กำจัดเชื้อหมด ทำให้เชื้อบางส่วนอาจไปซ่อนอยู่ตามปมประสาท เมื่อภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ก็อาจกระตุ้นให้เป็นโรคงูสวัดได้

นอกจากนี้ งูสวัดสามารถแพร่กระจายจากการสัมผัสหรือหายใจนำละอองจากตุ่มน้ำของผู้ป่วยเข้าไป ซึ่งถ้าติดเชื้อแล้วไม่เคยเป็นอีสุกอีใส ก็จะเป็นอีสุกอีใสก่อน

นพ.บารมี พงษ์ลิขิตมงคล

ส่องปัจจัยเสี่ยง “โรคงูสวัด”

คนที่มีเชื้อของโรคอีสุกอีใสอยู่ในตัว สามารถเป็นโรคงูสวัดได้เมื่อร่างกายอ่อนแอ โดยปกติพบบ่อยในคนอายุ 50-60 ปีขึ้นไป หรือในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง, HIV, โรคเรื้อรัง, โรคเบาหวาน, โรคไตเรื้อรัง หรือคนไข้ที่มีโรคประจำตัวที่ต้องกินยากดภูมิ และโรคแพ้ภูมิตัวเอง จะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงเป็นงูสวัดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

“โรคงูสวัด” พันรอบตัวไม่ตาย แต่อาการรุนแรงกว่าปกติ

คนที่ป่วยเป็นโรคงูสวัดในช่วงแรกจะมี อาการปวดแสบ ปวดร้อน คันบริเวณผิวหนัง มีไข้ มีผื่น เป็นตุ่มนูนแดงเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นแนวยาวตามเส้นประสาท จากนั้นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสคล้ายกับตุ่มของอีสุกอีใส โดยตำแหน่งที่เจอบ่อยมักจะเจอตรงลำตัวและใบหน้า ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน ตุ่มก็จะแตกและแห้งไปเอง และจะหายดีประมาณ 2-4 สัปดาห์ 

นพ.บารมี อธิบายต่อว่า “หลังจากหายดีแล้ว ผู้ป่วยบางคนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเจอบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น ปวดตามแนวเส้นประสาทตรงช่วงที่มีผื่นหรือตุ่มน้ำ ติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง หรือมีภาวะงูสวัดขึ้นตาที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติกับดวงตาและการมองเห็น หลายคนเคยได้ยินว่า ถ้างูสวัดพันรอบตัวจะทำให้เสียชีวิต ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น และงูสวัดมักจะขึ้นแค่ด้านใดด้านหนึ่งของลำตัว แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นพร้อมกันสองฝั่งได้ในคนที่มีภูมิต่ำมาก ทำให้มีอาการรุนแรงมากกว่าคนที่อายุเยอะทั่วไป”

“โรคงูสวัด” พบแพทย์รักษาได้ อย่าซื้อยามาใช้เอง เสี่ยงติดเชื้อ

การวินิจฉัยโรคงูสวัด สามารถทำได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกายเบื้องต้น ซึ่งให้ความแม่นยำมากกว่า 50% ในกรณีที่ต้องการยืนยันผล แพทย์อาจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น การเจาะตุ่มน้ำหรือขูดเซลล์ เพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของเซลล์ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส 

นพ.บารมี เล่าถึงการรักษาว่า “การรักษาจะพิจารณาตามระยะเวลาการเกิดโรค โดยถ้ายังอยู่ในช่วง 72 ชั่วโมงแรกหลังเริ่มมีอาการ สามารถให้ยาต้านไวรัสเพื่อช่วยลดความรุนแรง ระยะเวลารักษา และการแพร่กระจายของเชื้อ หากพ้นช่วงนี้ไปแล้ว แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดหรือยาแก้คัน อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำควรหลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเองหรือใช้ยาสมุนไพรทาแผล เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำซ้อน นอกจากนี้อยากให้ฉีดวัคซีนป้องกันไว้ เพราะช่วยป้องกันโรคนี้ได้ดี”

แพทย์ชี้วัคซีนป้องกัน “โรคงูสวัด” ได้ถึง 90%

การป้องกันโรคงูสวัดทำได้ง่ายๆ ด้วยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เริ่มจากกินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดคนที่เป็นงูสวัด ที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (Shingrix) 2 เข็ม ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) แนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป คนที่มีภูมิต่ำ และคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง มารับวัคซีนเพื่อป้องกันการเกิด ภาวะแทรกซ้อน

“โดยวัคซีน Shingrix จำนวน 2 เข็ม สามารถป้องกันการเกิดโรคและภาวะปวดปลายประสาทหลังเป็นงูสวัดได้มากกว่า 90% ครอบคลุมอาการปวดร้อน ปวดแสบปมประสาท ลดความรุนแรงของโรคและโอกาสเกิดซ้ำได้ โดยฉีดเข็มที่สองห่างจากเข็มแรก 2-6 เดือน และอาจมีอาการข้างเคียงทำให้ปวดบวมแดงตรงแขนที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว แต่จะเป็นไม่เกิน 2 วัน” นพ.บารมี อธิบาย

“แม้ว่างูสวัดจะเป็นโรคที่หายเองได้ หากร่างกายของเรามีความแข็งแรงดีอยู่แล้ว แต่คนที่อายุเยอะหรือภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี อาจต้องคอยดูแลร่างกายให้มากหน่อย ที่สำคัญคืออย่าลืมฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ก็ควรสังเกตความผิดปกติของร่างกายอยู่เสมอ ถ้าปวดแสบปวดร้อนตามตัว หรือมีอาการเข้าข่ายเป็นโรคงูสวัด ก็รีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาทันที ก่อนอาการจะลุกลามจนเกิดภาวะแทรกซ้อน” นพ.บารมี กล่าว

- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img
- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img