วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“เหงื่อออกมือ”สัญญาณผิดปกติ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เหงื่อออกมือ”สัญญาณผิดปกติ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

”โรคเหงื่อออกที่มือ”เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อยมากถึง 3% ของประชากรของประเทศ สามารถพบได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงเท่า ๆ กันและมักพบในคนที่อายุน้อย

นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้อง โรงพยาบาลวชิรพยาบาล  อธิบายว่า  โรคนี้จะมีผลต่อกิจวัตรประจำวันและแต่ละคนจะมีอาการไม่เหมือนกัน  ส่วนใหญ่เริ่มตั้งแต่การหยิบจับอะไรก็ตาม ก็จะมีเหงื่อซึมออกมาตลอดเวลา จนทำให้เกิดความรำคาญจนไปถึงบางรายอาจส่งผลถึงคุณภาพชีวิต ไม่มั่นใจและไม่กล้าเข้าสังคม  เช่น ในกลุ่มที่ต้องใช้มือค่อนข้างมาก

โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องใช้มือในการประกอบอาชีพ เช่น พ่อค้าแม่ค้า พนักงานที่ทำงานในโรงงาน หรือ วิศวกรที่ทำงานกับเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ หรือ กลุ่มนักธุรกิจที่ต้องใช้มือในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า

อาการของโรคเหงื่อออกที่มือ มีทั้งหมด 2 สาเหตุ คือ ความผิดปกติของเส้นประสาทระบบอัตโนมัติ กับ มีโรคหรือปัจจัยภายนอกที่ทำให้เกิดอาการ ในกลุ่มของผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเส้นประสาทระบบอัตโนมัติ มักจะพบคนในคนอายุน้อย

โดยอาการที่เป็นส่วนมากจะเกิดที่มือทั้ง 2 ข้าง บางรายจะมีเหงื่อออกที่บริเวณฝ่าเท้าทั้งสองข้างด้วย โดยไม่สัมพันธ์กับอุณหภูมิอากาศ  การออกกำลังกายหรือท่าทาง ส่วนอีกสาเหตุหรือปัจจัยภายนอกที่ทำให้มีอาการเหงื่อออกที่มือคล้ายคลึงกัน

ซึ่งได้แก่ โรคจากระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ, โรคเบาหวาน, หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน, โรคจากระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน หรืออาการจากการใช้ยา หรือสาเหตุอื่น ๆ เช่น ป่วยเป็นโรคมะเร็งหรือโรคทางระบบประสาท เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคเหงื่อออกที่มือหลาย ๆ ราย พยายามหาวิธีการรักษาเพื่อให้หายขาด โดยหลักการรักษาโรคของโรคนี้คือ การทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การรักษามีตั้งแต่การใช้ยาทา โดยยาที่นิยมใช้คือ ยาทาระงับเหงื่อหรือที่เรียกว่าอลูมิเนียมคลอไรด์(Aluminum Chloride) มักใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ส่วนยาชนิดรับประทาน คือ กลุ่ม Anticholinergic Drug 

อย่างไรก็ตามยาชนิดรับประทานอาจมีผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง ท้องผูก คลื่นไส้และอาเจียนได้ นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยการฉีดยาที่มือโดยใช้กลุ่มยา Botulinum Toxin โดยส่วนมากมักสามารถคุมอาการได้ประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นอาจต้องมารักษาฉีดยาซ้ำอีก 

สุดท้ายนี้รักษาด้วยวิธีการผ่าตัด (Thoracoscopic sympathectomy) เป็นการรักษาโรคชนิดนี้ได้ผลดีที่สุด โดยทำการผ่าตัดเส้นประสาทบริเวณซี่โครงที่ 3-5 โดยผ่าตัดทางส่องกล้อง โดยมีแผลเล็กๆ ขนาด 1 ซม. ทั้งสอง 2 ข้างใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมงและสามารถกลับบ้านได้วันถัดไป อย่างไรก็ตามการเลือกวิธีการผ่าตัดอาจมีผลข้างเคียงเกิดภาวะเหงื่อเกิน (Compensatory Hyperhidrosis) โดยพบได้ 10 – 40% ของผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด โดยจะมีอาการเหงื่อออกมากผิดปกติบริเวณช่วงลำตัว

โรคเหงื่อออกตามมือ เป็นสัญญาณผิดปกติ แต่จะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง  ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ตรงจุด โดยแพทย์จะดูจากลักษณะการออกของเหงื่อ ร่วมกับการตรวจร่างกายด้านอื่น ๆ ด้วย เพื่อวางแผนการรักษาที่ต้นเหตุ ของสาเหตุที่แท้จริง เพื่อสร้างวิถีชีวิตใหม่ของผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img