“หมอธีระวัฒน์” ตอกย้ำ “ทานมังสวิรัติลดความดันได้” หลังมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ทานผักไม่นาน ได้ผลชัดเจน ใช้ได้ผลในทุกเชื้อชาติ ขึ้นอยู่กับผักผลไม้ในท้องถิ่นนั้นๆ ตามฤดูกาล แนะควรทานในผู้มีความดันสูง แต่ควรใช้ยา ร่วมกับการปรับอาหาร ปรับพฤติกรรมควบคู่ไปด้วย
เมื่อวันที่ 2 ส.ค.64 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย โพสต์ความรู้เรื่อง “”จริงๆ ด้วย…มังสวิรัติลดความดันได้” มีเนื้อหาว่า…เป็นที่ติดปากมาช้านาน สำหรับคนที่เริ่มจะมีความดันสูง โดยเฉพาะคนที่ยังไม่สูงวัยเกิน 60 ปี ซึ่งความดันควรจะอยู่ที่ไม่เกิน 130 ตัวบนและ 80 ตัวล่าง ทั้งนี้ถ้าเริ่มที่จะสูงบ้าง เช่นเกินไปนิดๆ 140 หรือกว่านิดหน่อย และตัวล่าง 85-90 หลักปฏิบัติประการสำคัญคือให้ปรับเปลี่ยนสไตล์ของการดำเนินชีวิต กินผัก ผลไม้ กากไย จนเข้มข้นถึงมังสวิรัติเต็มร้อยหรือเกือบร้อย คือให้มีปลาด้วย จนถึงลดน้ำหนัก ลดเค็ม หยุดบุหรี่ ลดสุราหรือเลิก ก่อนที่จะให้เริ่มกินยาจริงๆ
อย่างไรก็ตาม หลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ในเรื่องของมังสวิรัติกับความเก่งในการทำให้ความดันลดค่อนข้างกำกวม ทำให้หมอหลายคนผะอืดผะอม พูดได้ไม่เต็มปากจวบจนกระทั่งมีรายงานในวารสารสมาคมแพทย์สหรัฐ (JAMA Internal Medicine) ปี 2557 ชัดเจนว่าเข้าใกล้มังสวิรัติเพียงใดจะส่งผลในการลดความดันได้ ทั้งนี้โดยที่ผลนั้นชัดเจนรวดเร็วตั้งแต่เริ่มทานผักไม่นานนัก โดยร่วมกับการลดเค็มลงด้วย
พลังที่สำคัญของการกินผัก ผลไม้ กากใย ธัญพืช โปรตีนจากพืช หยุดละหรือลดเนื้อลงมากที่สุด ปลาได้ ไข่ได้บ้าง มาจากคุณสมบัติจากการที่อาหารเหล่านี้มีโปแตสเซียมในปริมาณสมดุล และไม่มีไขมันอิ่มตัว และส่งผลทำให้เลือดข้นน้อยลง ตัวเพรียว น้ำหนักลดหรือแม้ไม่ลด ฮวบฮาบ แต่ไขมันในเครื่องใน เช่น ในช่องท้อง (visceral fat) จะลดลงซึ่งเป็นตัวดัชนีชี้บอกความเสี่ยงของเส้นเลือดตัน นอกจากนั้นด้วยกลไกของกากไยจะปรับเปลี่ยนจุลินทรีย์ในลำไส้ให้เป็นมิตรและไม่สร้างพิษย้อนกลับเข้าไปในร่างกายตามทฤษฎีของ “ลำไส้รั่วพิษแทรกเข้าร่างกาย” (Leaky Gut) และการกินผักผลไม้จะช่วยทำให้ท้องไม่ผูก
หลักฐานเชิงประจักษ์ในรายงานนี้วิเคราะห์จากรายงานการศึกษา 258 ชิ้นและเป็นรายงานโดยเป็นการศึกษาทางคลินิก 7 รายการ และการศึกษาแบบสังเกตวิเคราะห์อีก 32 รายการ ใน 7 รายการที่มีการควบคุมเคร่งครัด นั้นมี 311 ราย อายุเฉลี่ย 44.5 ปี เทียบกับคนที่หนักในการกินเนื้อสัตว์ และใน 32 รายการหลังมีจำนวน 21,604 ราย อายุเฉลี่ย 46.6 ปี ทั้งนี้ความดันตัวบนลดลงตั้งแต่ 4.8-6.9 และตัวล่างลดลง 2.2-4.7 ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มคนที่ศึกษามีทั้ง จีน ไต้หวัน เกาหลี บราซิล สเปน อินเดีย ญี่ปุ่น อเมริกัน อังกฤษ ไนจีเรีย นิวซีแลนด์ เม็กซิโก แสดงว่าได้ผลในทุกเชื้อชาติ และผักผลไม้ก็น่าจะเป็นไปตามท้องถิ่นนั้นๆ ตามฤดูกาล
กระนั้นต้องย้ำว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวนี้ ถึงแม้ควรต้องทำในคนที่มีความดันสูงทุกราย แต่คนที่มีความดันที่ตั้งตัวได้แล้ว คือสูงแบบจริงจัง แถมยังมีโรคอื่นๆ รุมเร้า เบาหวาน ไต หัวใจ ควรต้องใช้ยาตั้งแต่ต้นเลย ร่วมกับการปรับอาหาร-พฤติกรรม เพราะกว่าจะปรับตัวทำใจได้กับผักผลไม้ยืนพื้นอาจหัวใจวายไปก่อนได้