แพทย์ชี้รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เนื้อแดง ภาวะน้ำหนักเกิน อาจเสี่ยงมะเร็งเต้านม แนะหญิงไทยเช็คความเสี่ยง หมั่นตรวจเต้านมทุกปีหากรักษาอย่างทันท่วงที โอกาสที่จะรอดชีวิตสูง
สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย ร่วมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมอัพเดทสถานการณ์โรคมะเร็งเต้านมในปัจจุบัน ในงานเสวนาออนไลน์ “มะเร็งเต้านม รู้ไว หายทัน : Pink Alert – Check & Share Project 2021” เนื่องจากมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์ในผู้หญิงไทยสูงเป็นอันดับหนึ่งต่อเนื่องมาหลายปี โดยปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม ซึ่งหลายคนอาจนึกไม่ถึงคือ ภาวะโรคอ้วนน้ำหนักเกิน (ค่าดัชนีมวลกายเกิน 23)
พล.ท.รศ. นพ. วิชัย วาสนสิริ นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย หัวหน้าศูนย์มะเร็งเต้านม รพ.จุฬาภรณ์และที่ปรึกษาหน่วยศัลยศาสตร์มะเร็ง โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อธิบายว่า ผู้หญิงไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งในตำแหน่งอื่นๆ ทั้งยังมีแนวโน้มว่าอุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมในผู้หญิงไทยอาจเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี แม้สาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านมจะยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด
นายกสมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญด้วยกันหลายประการ เช่นอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป หรือมีระยะเวลาที่ร่างกายสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจนนาน เช่น เริ่มมีรอบเดือนก่อนอายุ 12 ปีและหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี, ไม่มีบุตร, มีบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี, ไม่ได้ให้นมบุตรด้วยตนเอง เป็นต้น ส่วนผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นญาติสายตรง เช่น แม่ หรือพี่น้อง ความเสี่ยงที่จะพบมะเร็งเต้านมก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ ความเสี่ยงยังอาจมาจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่มีไขมันสูงและเนื้อแดง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะน้ำหนักเกิน สถิติเผยว่าในผู้หญิงที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) สูงกว่า 23 มีแนวโน้มที่ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมจะเพิ่มขึ้น 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับผู้หญิงน้ำหนักปกติ (ค่าดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 18.50 – 22.90) เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนก่อนวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิงน้ำหนักเกิน อาจเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์ในเต้านม
ดังนั้น หากมีปัจจัยเสี่ยงตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งหมั่นคลำเต้านมหรือตรวจแมมโมแกรม 1-2 ปีครั้ง เพราะมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่หากวินิจฉัยเจอตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะรอดชีวิตสูง
ด้านนพ.กรุณย์พงษ์ เอี่ยมเพ็ญแข พยาธิแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวเสริมถึงการตรวจหาก้อนเนื้อที่อาจกลายเป็นมะเร็งเต้านมว่า การตรวจเต้านมแม้จะสามารถทำได้โดยการคลำด้วยตนเองหรือโดยบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งการตรวจแมมโมแกรม ซึ่งมีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงกว่ามาก เพราะสามารถพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ก้อนในเต้านมยังมีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะคลำพบด้วยมือ แต่การยืนยันว่าก้อนนั้นเป็นมะเร็งหรือไม่ จำเป็นต้องเจาะเนื้อเยื่อบางส่วนไปตรวจทางพยาธิวิทยาและแปลผลสิ่งผิดปกติอย่างละเอียด
ดังนั้นการคลำหรือพบก้อนจากการทำแมมโมแกรม ไม่ได้แปลว่าเป็นก้อนมะเร็งเสมอไป รวมทั้งแม้จะพบก้อนเพียงเล็กน้อยจากผลแมมโมแกรม แต่หากผลตรวจทางพยาธิวิทยายืนยันว่าเป็นก้อนมะเร็ง ก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เช่นกัน จึงขอย้ำว่าการตรวจเต้านมเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เจอก้อนเร็ว และหากพบความผิดปกติ ก็อย่ากลัวหรือชะล่าใจว่าคงไม่ร้ายแรงอะไร แต่ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาให้ถูกต้องตามชนิดของโรค ก็จะได้ผลการรักษาดีที่สุด
สำหรับความก้าวหน้าด้านการรักษามะเร็งเต้านม ผศ.นพ.ไนยรัฐ ประสงค์สุข อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้ นวัตกรรมทางการแพทย์พัฒนาไปอย่างมาก รวมทั้งมียามุ่งเป้า (targeted therapy) ชนิดใหม่ที่ผูกติดกับยาเคมีบำบัดด้วย ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยมีผลการรักษาและคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมชนิดที่มียีน HER2 เป็นบวก การได้รับยามุ่งเป้าชนิดเดิมร่วมกับยาเคมีบำบัดมอบประสิทธิภาพการรักษาดีอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีเซลล์มะเร็งหลงเหลือหลังผ่าตัด หรือเกิดการกลับมาของโรค แพทย์จึงจำเป็นต้องปรับยา โดยยามุ่งเป้าชนิดใหม่ๆ นับเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกการรักษาที่มีส่วนทำให้อัตราการตอบสนองต่อการรักษาดีขึ้น มีอัตราการรอดชีวิตยาวนานขึ้น โดยยามุ่งเป้าชนิดใหม่นี้สามารถใช้ได้ทั้งกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นและระยะแพร่กระจาย โดยพบว่าผลการรักษามีแนวโน้มเป็นที่น่าพึงพอใจ กล่าวคือ ลดความเสี่ยงที่เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ลดขนาดของก้อนมะเร็ง ลดโอกาสที่มะเร็งจะกลับมาเป็นซ้ำหลังการผ่าตัด ลดแนวโน้มการเกิดอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์ อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสการหายขาดของโรคมะเร็งเต้านมได้ในผู้ป่วยบางราย และอาจไม่ต้องสูญเสียเต้านมไป