ธุรกิจร้านอาหาร ต้องกลับมาเผชิญกับความท้าทายอีกรอบ เมื่อโรคโควิดได้กลับมาระบาดอีกครั้ง เป็นระลอกที่ 3 ส่งผลให้ในวันที่ 29 เม.ย.2564 ภาครัฐได้ประกาศยกระดับ 6 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม)
อันได้แก่ กรุงเทพ ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และ สมุทรปราการ ห้ามมีการรับประทานอาหารภายในร้าน รวมถึงจำกัดเวลาเปิดปิดในพื้นที่ควบคุม และพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 พ.ค.2564 ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจร้านอาหารอย่างเลี่ยงไม่ได้
และการระบาดระลอกนี้ ยังซ้ำเติมผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารบางราย ที่ต้องเผชิญกับปัญหาการรายได้ลดลง ขาดสภาพคล่อง และมีภาระสินเชื่อ ซึ่งสร้างความท้าทายในการอยู่รอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดเล็ก-กลาง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ต่อธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 ดังนี้…
คาดว่า มูลค่าธุรกิจร้านอาหารปี 2564 รวมหดตัวร้อยละ 5.6 ถึงร้อยละ 2.6 ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่สอง
เมื่อการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจร้านอาหาร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยหลีกเลี่ยงการนั่งบริโภคภายในร้านหรือสังสรรค์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ประกอบกับการระบาดของโควิดที่ยาวนานต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดเล็ก-กลางที่คาดว่าจะมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 80% ของธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมาจนทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนหมุนเวียนภายนอก สะท้อนให้เห็นจากยอดคงค้างสินเชื่อที่เร่งตัวขึ้นของธุรกิจบริการในช่วงปีก่อน
ภาพธุรกิจร้านอาหารในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ความเสี่ยงการกลับมาระบาดของโควิดยังคงมีอยู่ จากสถานการณ์ต่างๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับลดประมาณการธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 โดยมองว่า มูลค่าธุรกิจร้านอาหารน่าจะอยู่ที่ 3.82 – 3.94 แสนล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ 5.6 ถึงร้อยละ 2.6 จากปีก่อนหน้า (ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4.1 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นการหดตัวเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
- โดยผลกระทบจากการระบาดของโควิดครั้งนี้ ถึงแม้จะเป็นวงกว้าง แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายของร้านอาหารแต่ละประเภทในระดับที่แตกต่างกัน โดยแบ่งดังนี้…
- ร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบต่อเนี่องอย่างรุนแรง จากการหดตัวของรายได้ของช่องทางการขายหลัก และโครงสร้างต้นทุนที่สูง ได้แก่ ร้านอาหารเต็มรูปแบบ (Full Service Restaurant) โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งนอกจากจะมีรายได้ที่หดตัวลงแล้ว ร้านอาหารในกลุ่มดังกล่าวยังมีค่าใช้จ่ายประจำที่สูง ทำให้มีข้อจำกัดในการปรับรูปแบบต้นทุนและโครงสร้างธุรกิจมากกว่าร้านอาหารกลุ่มอื่น ทำให้ร้านอาหารในกลุ่มนี้บางส่วนเกิดภาวะขาดทุนต่อเนื่องจนกระทบสภาพคล่องทำให้จำเป็นต้องปิดตัวลง ส่งผลให้ยอดขายของธุรกิจร้านอาหารในกลุ่มนี้ในปี 2564 น่าจะมีมูลค่าอยู่ที่ 1.39-1.44 แสนล้านบาท หรือหดตัวลงร้อยละ 12.0 ถึงร้อยละ 8.9
- กลุ่มร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบปานกลาง เนื่องจากมีช่องทางการขายที่หลากหลาย โครงสร้างต้นทุนที่ยืดหยุ่น รวมถึงการปรับรูปแบบการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้แก่
- 1.ร้านอาหารที่มีการให้บริการอย่างจำกัด (Limited Service Restaurant) ซึ่งแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจนทำให้หดตัวลงในปีที่ผ่านมาจากฐานที่สูง แต่ความหลากหลายของช่องทางการขายไปยังภายนอก (อาทิ Take away, Drive through และจัดส่งไปยังที่พัก เป็นต้น) ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 65-70 ทำให้ร้านอาหารในกลุ่มดังกล่าวจะยังคงมีช่องทางสร้างรายได้เพื่อนำมาหมุนเวียนในภาวะดังกล่าว นอกจากนี้การปรับรูปแบบของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ใช้ร้านอาหารขนาดเล็กเป็น Hub สำหรับธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่หันซื้ออาหารแบบนำกลับ (Take away) ทำให้คาดว่า ร้านอาหารประเภทดังกล่าวจะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 6.1 – 6.3 หมื่นล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ 2.5 ถึงขยายตัวร้อยละ 0.7
- 2.ร้านอาหารข้างทางที่มีพื้นที่หน้าร้าน (Street Food) ที่คาดว่าได้รับประโยชน์จากนโยบายช่วยเหลือจากภาครัฐและการเข้าถึงผู้บริโภคที่ง่าย ทั้งในเรื่องของราคาและสถานที่ตั้ง ที่มักตั้งอยู่ใกล้แหล่งชุมชน อย่างไรก็ดี การแข่งขันที่รุนแรงน่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้บางส่วนออกจากธุรกิจไป ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการอยากทดลองตลาดกลับเข้ามาลงทุน ส่งผลให้เกิดภาพการหมุนเวียนของผู้เล่นที่เร็วขึ้นในปีนี้ และอาจมีการขยายตัวเล็กน้อยบนความเปราะบาง โดยคาดว่าร้านอาหารในกลุ่มดังกล่าวจะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.82 -1.87 แสนล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ 1.0 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.7
ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงจำเป็นต้องสำรวจความพร้อมและเร่งปรับตัวในช่วงที่เหลือของปี 2564 เพื่อเพิ่มโอกาสอยู่รอดในธุรกิจ
เมื่อธุรกิจร้านอาหารยังมีความท้าทาย สถานการณ์ต่างๆ ที่ยังอาจเกิดขึ้นได้และเป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดา ภาวะดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าผู้ประกอบการจำเป็นต้องสำรวจความพร้อมของตัวเอง โดยแบ่งกลุ่มผู้ประกอบการที่มีเสี่ยงได้เป็น กลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านรายได้และช่องทางการขายที่จำกัด อาทิ ร้านอาหาร Full Service และร้านอาหารที่มีช่องทางการขายหนึ่งหรือสองช่องทาง โดยหากสัดส่วนยอดขายภายในร้านคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 50 อาจต้องเร่งปรับตัวโดย “เพิ่มช่องทางการขายและเป็นฝ่ายเข้าหาผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น” รวมถึง “ปรับรูปแบบโปรโมชั่นและสินค้าให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายและโปรโมชั่นการตลาดของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ใช้งานเป็นหลัก”
นอกจากนี้อีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มที่มีความเสี่ยงทางด้านโครงสร้างต้นทุนและภาระหนี้สินสูง เช่น มีภาระค่าใช้จ่ายประจำสูงกว่าค่าเฉลี่ยในธุรกิจร้านอาหาร (ประมาณร้อยละ 35-40 ของรายได้) และมีภาระหนี้สินต่อเดือนสูง อาจพิจารณา “จำกัดประเภทสินค้าและบริการเพื่อควบคุมต้นทุนและความเสี่ยง” โดยเลือกขายเพียงสินค้าที่มีอัตราการหมุนเวียนสูง ต้นทุนวัตถุดิบมีความผันผวนต่ำและสามารถปรับเป็นเมนูอื่นได้ไม่ยาก
กล่าวโดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่เกิดขึ้นนี้ ได้ส่งผลอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหาร โดยเปลี่ยนจากความท้าทายในการสร้างรายได้มาเป็นการขาดสภาพคล่องและความสามารถในการอยู่รอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดเล็ก-กลาง
โดยในช่วงที่เหลือของปี 2564 คาดว่าธุรกิจร้านอาหารยังคงเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่แน่นอนในการเกิดการแพร่ระบาดซ้ำ และการชะลอตัวของภาวะเศรฐกิจซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 เหลือเพียง 3.82-3.94 แสนล้านบาท หรือหดตัวร้อยละ 5.6 ถึง 2.6 (YoY)