“อพท.” ร่วมกับ “จังหวัดสุโขทัย” ประกาศศักยภาพเมือง ส่งข้อมูลเข้าชิงเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ องค์การยูเนสโก หรือ GNLC ตอกย้ำความสำเร็จของการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สู่เมืองท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง
น.อ.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ภายใต้นโยบายและการกำกับดูแลของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ได้มอบให้สำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 (อพท.4) จังหวัดสุโขทัย ให้ความร่วมมือกับทางจังหวัดสุโขทัยผลักดัน “สุโขทัย” เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ องค์การยูเนสโก (UNESCO Global Network of Learning Cities : GNLC) ประจำปี 2564 ซึ่งล่าสุดได้รับรายงานว่า อพท. 4 ได้รับมอบหมายจากทางจังหวัด ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดทำใบสมัครโดยร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร และนำส่งต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการและ UNESCO เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือกในเดือนมิถุนายน 2564
“ขณะนี้เอกสารการสมัครที่นำส่งไปแล้วนั้น ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนของประเทศไทยไม่เกิน 3 เมือง เพื่อส่งให้ยูเนสโกเป็นผู้ตัดสิน หากเมืองสุโขทัยได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ GNLC จะนับเป็นเมืองที่ 2 ของประเทศไทย โดยเมืองแรกที่ยูเนสโกคัดเลือกและประกาศผลไปแล้วเมื่อปี 2562 คือ เทศบาลนครเชียงราย หากสุโขทัยได้รับเลือกเป็น GNLC เท่ากับตอกย้ำความสำเร็จของ อพท. ที่สามารถยกระดับเมืองและพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืนได้เป็นผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม”น.อ.อธิคุณ กล่าวและว่า อพท. ได้มองเห็นศักยภาพของเมืองสุโขทัย ที่จะสามารถเข้าชิง GNLC ได้ เนื่องจากเป็นเมืองที่มีความเข้มแข็งทางด้านศิลปะและหัตถกรรม ที่มีการสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น ประชาชนและชุมชนในเมืองแห่งนี้ก็ได้ใช้วิชาความรู้ที่สืบทอดต่อกันมาในการประกอบอาชีพ
ซึ่งการได้เข้าสู่การเป็นสมาชิก GNLC นอกจากช่วยให้เกิดการรับรู้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มสมาชิก GNLC ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 224 เมือง ใน 52 ประเทศ กระจายอยู่ทั่วโลก เกิดการเดินทางศึกษาเรียนรู้ระหว่างกันในกลุ่มสมาชิก และยังช่วยสร้างความสนใจให้เกิดขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ที่ต้องการเดินทางเพื่อศึกษาเรียนรู้ อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดและตอกย้ำการรับรู้ในภาพลักษณ์และชื่อเสียงของเมืองสุโขทัยที่เคยได้รับเลือกเป็น เมืองมรดกโลก (พ.ศ. 2534) มรดกความทรงจำแห่งโลก (พ.ศ. 2546) และเมืองสร้างสรรค์ (พ.ศ. 2562) อันจะนำมาซึ่งการยกระดับและเพิ่มมูลค่าเชิงพื้นที่ทั่วจังหวัดสุโขทัย เกิดรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดและเข้าสู่ประเทศไทย
“เมืองแห่งการเรียนรู้จะได้รับการจัดระบบการเรียนรู้ให้กับคนในเมืองทุกเพศ วัย สถานะ อาชีพ เพื่อให้คนในเมืองมีการเรียนรู้ตลอดชีพและทั่วถึง นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต และนำไปสู่เมืองที่น่าอยู่และยั่งยืน และคุณสมบัติของเมืองที่จะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้คือ มีการส่งเสริมให้เกิดเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ประชาชนจะมีอำนาจในการตัดสินใจและการรวมกลุ่มทางสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจและความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม การพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานถึงระดับอุดมศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ในครอบครัวและชุมชน มีการอำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ”น.อ.อธิคุณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากสุโขทัยได้รับเลือกเป็นเครือข่าย GNLC สิ่งที่จะได้รับจากยูเนสโกในการเป็นสมาชิกครั้งนี้คือ 1.ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ เช่น ได้เข้าถึงเครื่องมือและกลยุทธ์ในการพัฒนาเมือง ได้รับข้อมูลเชิงลึกในการดำเนินงานจากรายงานการวิจัยต่างๆ ได้รับข้อมูลข่าวสารจากเมืองแห่งการเรียรู้ทั่วโลก 2.ได้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายที่เข้มแข็ง ได้สร้างหุ้นส่วนเครือข่ายความร่วมมือ เช่น ได้ติดต่อกับประเทศสมาชิก ได้สื่อสารกับเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญ ได้รับการสนับสนุนการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมนานาชาติระดับภูมิภาค ได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากสมาชิก GNLC และ 3.ได้รับการยอมรับในความพยายามและการดำเนินงานของเมือง เช่น ได้ร่วมแบ่งปันเป้าหมาย ความคืบหน้า ผ่านช่องทางการสื่อสารของ UNESCO GNLC ได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้เมืองกรณีศึกษา และยังได้รับสิทธิ์สมัครเข้ารับรางวัลเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก้อีกด้วย #อพท. #ยั่งยืน #จังหวัดสุโขทัย #unesco #gnlc