“ศักดิ์สยาม”เผยประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นไปตามพ.ร.บ.ร่วมทุน ปัดตอบปมคุณสมบัติ ITD ชี้รัฐกำหนดกติกาคัดเลือกตามระเบียบ ยึดงานสำเร็จคุณภาพ- ราคาไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุ การประมูลคัดเลือกการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) กรณี คุณสมบัติของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD อาจมีประเด็นปัญหาที่อาจขัดต่อข้อกำหนดในการประมูลโครงการรัฐว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ดำเนินการตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งมีการกำหนดขั้นตอนอำนาจหน้าที่
ซึ่งขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ซึ่งกรณีมีการตั้งประเด็นข้อสงสัย คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะต้องชี้แจงต่อไป
“กระทรวงคมนาคม และผมในฐานะผู้กำกับดูแล มีหน้าที่หลังจากที่มีการเสนอผลการคัดเลือกฯ โดยจะต้องดูว่า เป็นไปตามหลักกฎหมาย หลักการศึกษาหรือไม่ อยากให้ดำเนินการถึงประโยชน์ส่วนรวม อย่าอคติ ต้องเข้าใจว่า เรามีระเบียบกฎหมาย ซึ่งต้องดำเนินการตามนั้น”
สำหรับการกำกับดูแล หน่วยงานและโครงการต่างๆ ตนได้มอบหมายให้ผู้บริหารแต่ละหน่วยงานทำ Action Plan ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำกับ ในการแปรนโยบายไปสู่การปฎิบัติ ซึ่งขณะนี้สายสีส้ม ยังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการมาตรา 36 ซึ่งล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงาน งบประมาณ อัยการสูงสุดและยังมีผู้แทนจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ด้วย
ส่วนกรณีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ได้เปิดเผยถึงการเสนอราคา ประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ว่า ต่ำกว่าผู้ยื่นประมูลทุกรายว่า เรื่องนี้ต้องไปดูว่า เงื่อนไขข้อกำหนดการคัดเลือกเอกชน (RFP) ว่ากำหนดอะไรไว้บ้าง ซึ่งมี 4 ซองข้อเสนอ ด้านคุณสมบัติ ด้านเทคนิค ด้านราคา และการบริหารจัดการ ต้องดูผลรวมของข้อเสนอทั้ง 4 ซองมีความเหมาะสมเป็นไปได้แค่ไหน เพราะหากยึดเรื่องราคาอย่างเดียว และเกิดผลกระทบไม่สามารก่อสร้างได้ หรือสร้างแล้วไม่เป็นไปตามแบบที่ต้องการหรือเกิดปัญหาในอนาคต จะทำอย่างไร
ดังนั้น ราคาไม่ใช่เรื่องเดียวที่ตัดสิน เพราะหากจะดูเรื่องประมูลก่อสร้างถนน หลายโครงการที่ผู้รับเหมาเสนอราคาต่ำแล้วทิ้งงาน ก่อสร้างไม่ไหว ก็มี ก่อสร้างไม่มีคุณภาพก็มาก ดังนั้นทุกอย่างต้องอยู่ในมาตรฐานที่เป็นไปได้ ส่วนราคากลาง นั้น มีคณะกรรมการคำนวนตามขั้นตอน ส่วนเอกชนจะเสนอราคาเท่าไร ก็ต้องคำนวน ว่า จะทำได้แค่ไหน เท่าไร และเมื่อเสนอ คณะกรรมการ จะพิจารณามีแผนการทำงานและมีเทคนิค ที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จ
ซึ่งขอให้รอ กก.มาตรา36 ทำหน้าที่ก่อน ส่วนการตั้งคำถาม ก็เป็นไปตามสิทธิ์ เรื่องนี้ตนเอง ไม่มีความเห็น ไม่มีผลประโยชน์ หรือขัดผลประโยชน์กับใครทั้งสิ้น ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เน้นย้ำให้ รฟม.ดำเนินงานเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โครงการนี้มีความสำคัญกับประชาชน เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศ ดังนั้นไม่ควรล่าช้า