โฆษกรัฐบาลเผยรัฐบาลเร่งปฏิรูปการศึกษา ยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา-ลดความเหลื่อมล้ำ เดินหน้าแก้หนี้ครู 4 หมื่นคน มูลหนี้ 5.8 หมื่นล้าน ลดภาระหนี้แล้ว 2.2 พันล้าน เร่งไกล่เกลี่ยทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 65 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการปฏิรูปการศึกษาว่า รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ได้เร่งเดินหน้าขับเคลื่อนงานปฏิรูปการศึกษาของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีความคืบหน้าของงานตามลำดับ ตั้งแต่การวางโครงร่างปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ในช่วงปี 60-62 การดำเนินงานร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ การกำหนดแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา 7 ด้าน 131 โครงการ รวมทั้งได้ปรับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาฉบับที่ 2 เน้น 5 ประเด็นหลัก หรือ 5 Big Rocks และประกาศใช้เมื่อต้นปี 64 โดยมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และมุ่งสู่ความเป็นเลิศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นายอนุชา กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …. ว่าเป็นกฎหมายแม่บทในการบริหารและการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารและการจัดการศึกษาในอนาคต เป็นกฎหมายปฏิรูปการศึกษาที่มีความสอดคล้องกับหลักการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 61-80) รวมทั้งแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาด้วย โดยประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับคือ การมีหลักเกณฑ์และวิธีการได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ และได้รับการส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษา และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นประเด็นปัญหาที่รัฐบาลเร่งแก้ไข สาเหตุส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากกับดักทางรายได้ของประเทศไทย ดังนั้นเพื่อพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักดังกล่าว คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา จึงเร่งรัดแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เพื่อสร้างความเสมอภาคตลอดช่วงวัย ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันว่าการปฏิรูปการศึกษาของประเทศช่วงที่ผ่านมา มีการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และปฏิรูประบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษา และตอบโจทย์การพัฒนาของโลกอนาคต
ทางด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าปี 65 รัฐบาลตั้งเป้าให้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลแก้ไขปัญหาหนี้ครูอย่างต่อเนื่อง สามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันพบว่ามีครูกว่า 9 แสนคนทั่วประเทศ หรือประมาณ 80% มีหนี้รวมกัน 1.4 ล้านล้านบาท เจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุด คือ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู 8.9 แสนล้านบาท รองลงมาคือ ธนาคารออมสิน 3.49 แสนล้านบาท รวมทั้งธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสถาบันการเงินอื่นๆ
สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูนั้น 1.ลดดอกเบี้ยเงินกู้ มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ลงเฉลี่ยร้อยละ 0.3 ลูกหนี้ได้รับประโยชน์กว่า 4 แสนราย รวมภาระหนี้สินที่ลดลงกว่า 2.2 พันล้านบาท 2.ปรับโครงสร้างหนี้ โดยการรวมหนี้มาไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯ หรือสถาบันการเงิน ที่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำกว่า เพื่อให้ครูมียอดชําระต่อเดือนน้อยลง และเหลือ เงินเดือนหลังหักชําระไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 3.กําหนดให้สามารถหักเงินสวัสดิการ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค) ในกลุ่มแรก (ร้อยละ 70 ของเงินเดือน) เพื่อให้สามารถใช้เงิน ช.พ.ค เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ซึ่งปัจจุบันมีครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 3.6 แสนราย ที่ใช้ ช.พ.ค. เป็นหลักประกันเงินกู้ส่งผลให้ผลให้ครูไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อทำประกัน ช่วยลดค่าใช้จ่ายลงกว่า 2.3 พันล้านบาท
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้ครูผ่านสถานีแก้หนี้ 588 แห่งทั่วประเทศ ขณะนี้มีครูลงทะเบียนแก้หนี้แล้ว 4 หมื่นกว่าคน มูลค่าหนี้รวมกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท สามารถแก้ปัญหาหนี้ไปแล้ว 11,090 คน หรือประมาณ1 ใน 4 ของผู้ลงทะเบียน ส่วนที่เหลือ กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับธนาคารออมสินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครู จะจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ “ปิดเทอม เรื่องหนี้ มีทางออก” เป็นเวทีกลางเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนำร่องที่ จ.กำแพงเพชร เริ่มวันที่ 4 ต.ค. ก่อนขยายผลจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครูในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป